CRG จะบุกตลาด “ปิ้งย่าง-อิซากายะ-เกาหลี” เปิดน่านน้ำใหม่ในกลุ่มร้านอาหาร “มื้อสังสรรค์”

CRG
ภาพจาก Shutterstock
กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นของ CRG ไม่ได้ขยับเปิดแบรนด์ใหม่มานาน 8 ปี ปีนี้ได้ฤกษ์ขยายตัวผ่านแบรนด์ “ราเมน คาเก็ตสึ อาราชิ” ราเมนตลาดแมสนำเข้าจากญี่ปุ่น ส่วนปีหน้าจะหาน่านน้ำใหม่ในกลุ่มร้านอาหารประเภท “มื้อสังสรรค์” หลังคนกลับมาใช้ชีวิตปกตินอกบ้าน ซุ่มทำดีลซื้อแฟรนไชส์ 3 เจ้า ปิ้งย่างญี่ปุ่น อิซากายะแบบญี่ปุ่น และร้านอาหารเกาหลี

กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นของ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG หรือเรียกว่ากลุ่ม ‘เจแปนนีส’ นั้นถือเป็นพอร์ตสำคัญของบริษัท ปัจจุบันมีสัดส่วน 20% ใน CRG เป็นรองแค่ร้าน KFC และอนาคตกลุ่มเจแปนนีสน่าจะขยายสัดส่วนได้มากกว่านี้ เพราะกำลังวางแผนบุกหนักด้วยแบรนด์ใหม่ๆ

“ธีรวัฒน์ เลิศถิรพันธุ์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส CRG กล่าวถึงสถานการณ์ธุรกิจร้านอาหารปี 2565 ก่อนว่า ตลาดกลับมาเกือบจะเทียบเท่าช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว ในกลุ่มเจแปนนีสเองปีนี้คาดว่าจะทำรายได้ 2,000 ล้านบาท พุ่งขึ้นจากปีก่อนที่ปิดรายได้ไปที่ 1,400 ล้านบาทเท่านั้น

CRG
“ธีรวัฒน์ เลิศถิรพันธุ์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส CRG

อย่างไรก็ตาม มองภาพธุรกิจร้านอาหารแข่งขันกันสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีร้านใหม่เข้าตลาดมากขึ้น ไม่ว่าจะรายเล็ก กลาง ใหญ่ต่างเดินหน้าเข้าตลาดหมด หลังจากผ่านช่วงโควิด-19 มาได้

“ดูจากธุรกิจรีเทลก็ได้ เห็นเลยว่าห้างฯ มีการปรับพื้นที่ร้านค้าจากหมวดแฟชั่น ไอที มาเป็นร้านอาหาร นั่นแปลว่าปีหน้าเราจะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นอีกมากในห้างฯ” ธีรวัฒน์กล่าว

ทำให้ CRG โดยเฉพาะกลุ่มเจแปนนีส เริ่มมองหาแบรนด์ใหม่มาสู้ในตลาด หาความแตกต่างในการดึงคนเข้าร้าน และเป็นร้านแบบใหม่หรือเซ็กเมนต์ใหม่ที่เครือยังไม่มี

 

ประเดิมปีนี้ “ราเมน” ตลาดแมส

แบรนด์ใหม่แบรนด์แรกในรอบ 8 ปีของกลุ่มเจแปนนีสที่ CRG นำเข้ามาคือ “ราเมน คาเก็ตสึ อาราชิ” ซึ่งเป็นร้านราเมนระดับ Top 3 ของญี่ปุ่น มีสาขาในญี่ปุ่นมากกว่า 200 สาขา ถ้ารวมทั่วโลกมีมากกว่า 290 สาขา จะเปิดตัวสาขาแรกที่ สยามสแควร์ วัน กลางเดือนธันวาคมนี้

CRG
ราเมน คาเก็ตสึ อาราชิ

เริ่มเฟสแรก ธีรวัฒน์คาดว่าจะเปิดคาเก็ตสึ 4-5 สาขาเพื่อลองตลาดก่อน ถ้าไปได้ดีมีเป้าเพิ่มให้ครบ 20 สาขา

มองไปในตลาดร้านราเมนญี่ปุ่นมีอยู่มากมาย คาเก็ตสึจึงวางทีเด็ดของร้านอยู่ที่เมนู “ราเมนซุปทงคตสึ” (ซุปกระดูกหมู) ในราคาเริ่ม 150 บาท เพราะปกติเมนูนี้จะทำยาก ราคาจะแพงกว่านี้ในร้านราเมนอื่นๆ

คาเก็ตสึจึงถูกวางเป็นอาวุธชิงตลาดแมส ต่างจาก “ชาบูตง” ที่ธีรวัฒน์มองว่าเป็นราเมนตลาดที่พรีเมียมแมสขึ้นมา ด้วยราคาเมนูหลักจะอยู่ที่ 200-300 บาท เชื่อว่าจะไม่กินตลาดกันเองระหว่างสองแบรนด์

 

บุกเข้าตลาดร้านประเภท “มื้อสังสรรค์”

ส่วนปีหน้า กลุ่มเจแปนนีส CRG มีแผนจะบุกหนักรวดเดียว 3 แบรนด์ ประกอบด้วย “ปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่น” “อิซากายะ” และ “ร้านอาหารเกาหลี”

ทั้งหมดเป็นประเภทร้านอาหารที่บริษัทไม่เคยมีมาก่อน และทั้งหมดเป็นการซื้อแฟรนไชส์ โดยร้านแบบญี่ปุ่น 2 แบรนด์จะนำเข้าจากญี่ปุ่น ขณะที่ร้านอาหารเกาหลีเป็นร้านที่ก่อตั้งในไทยแต่เจ้าของเป็นชาวเกาหลีใต้

CRG
แบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือ CRG (ณ เดือนพฤศจิกายน 2565)

ในพอร์ตกลุ่มเจแปนนีสของ CRG นั้น ปัจจุบันมี 6 แบรนด์คือ โอโตยะ, โยชิโนยะ, คัตสึยะ, ชาบูตง, เปปเปอร์ ลันช์ และ เทนยะ จะเห็นได้ว่าเกือบทั้งหมดเป็นอาหารประเภทอาหารจานเดียวที่เน้นทานได้ทุกวัน (รวมถึง คาเก็ตสึ อาราชิ ที่กำลังจะเปิดด้วย)

การดีลร้าน 3 แบรนด์ใหม่ที่จะเปิดปีหน้าจึงเป็นการขยายประเภทร้านอาหารแบบ “มื้อสังสรรค์” เน้นทานในโอกาสพิเศษหรือนัดพบปะเพื่อนฝูง-ครอบครัว และจะเป็นเซ็กเมนต์ระดับ “พรีเมียมแมส” ทั้งหมดด้วย

ร้านอิซากายะเป็นร้านแนวกินดื่มสังสรรค์หลังเลิกงานจากญี่ปุ่น (ภาพจาก Shutterstock)

ที่เลือกตลาดนี้ ธีรวัฒน์มองว่าเกิดจากเห็นเทรนด์ในธุรกิจร้านอาหาร ‘ร้านขึ้นห้างฯ’ ยุคนี้มีร้านสังสรรค์มากขึ้นเรื่อยๆ และลูกค้าตอบรับดี ทำให้บริษัทต้องการจะขยายคอนเซ็ปต์การทำธุรกิจ หันมาจับตลาดกลุ่มนี้เพิ่มทั้งอาหารญี่ปุ่นและเกาหลี

โดยการเข้าตลาดใหม่นั้นบริษัทมองเป็นวิสัยทัศน์ระยะยาว เพราะยังมีร้านอาหารอีกหลายประเภทที่ CRG ไม่เคยจับตลาดมาก่อน เช่น สุกี้-ชาบู ก็อาจจะได้เห็นในอนาคตเช่นกัน!

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • ปี 2566 กลุ่มเจแปนนีส CRG ตั้งเป้ารายได้ที่ 2,300 ล้านบาท
  • ปัจจุบันกลุ่มเจแปนนีสมี 6 แบรนด์ 211 สาขา แบ่งเป็น คัตสึยะ 52 สาขา, เปปเปอร์ ลันช์ 50 สาขา, โอโตยะ 46 สาขา, โยชิโนยะ 32 สาขา, ชาบูตง 16 สาขา และเทนยะ 12 สาขา
  • ปีหน้ากลุ่มเจแปนนีสตั้งเป้าจะเปิดเพิ่มอีก 20 สาขา (ไม่รวมแบรนด์ใหม่) โดยจะเน้นที่ร้านโอโตยะ เปปเปอร์ ลันช์ และคัตสึยะ
  • โอโตยะ คือแบรนด์ที่ทำรายได้มากที่สุดของกลุ่มเจแปนนีส