บทสนทนาเวลา “ชวนคุย” กับคนไม่รู้จักหรือไม่สนิทในแวดวงการทำงานนั้นอาจจะชวนอึดอัด ไปต่อไม่ถูก ถ้าหากคนในวงสนทนาเกิดพูดหรือทำอะไร “ผิดจุด” ขึ้นมา คนคนนั้นจะไม่เป็นคุณอีกต่อไปถ้าหากทำตามคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญดังนี้
หลายครั้งในการทำงาน (หรือกระทั่งในชีวิตส่วนตัวด้านอื่น) เราจำต้อง “ชวนคุย” (Small talk) กับคนอื่นที่เราไม่สนิท หรือเป็นคนแปลกหน้าที่เพิ่งเจอกัน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานที่เจอในห้องชงกาแฟ หัวหน้าแผนกที่เผอิญลงลิฟต์พร้อมกัน หรือเพื่อนร่วมวงการที่เจอในงานสัมมนา/เน็ตเวิร์กกิ้ง
คนที่ชวนคุยเป็นมักจะได้ภาพลักษณ์ที่ดีในแวดวงการทำงาน เป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ และอาจเปิดประตูไปสู่คอนเน็คชันใหม่ๆ ได้ ทำให้ทักษะการชวนคุยที่ดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม
John Bowe เทรนเนอร์ด้านการพูดในที่สาธารณะ ให้ข้อมูลกับสำนักข่าว CNBC สหรัฐอเมริกา กล่าวถึงการชวนคุยว่าไม่ได้เกี่ยวอะไรกับบุคลิกนิสัยส่วนตัวเลย แม้ว่าจะเป็น ‘introvert’ คนเก็บเนื้อเก็บตัวก็สามารถทำได้ แค่เพียงเรียนรู้ผู้ฟังของตนเองให้เป็น
ในการชวนคุยสัพเพเหระ มีหลายวิธีและหลายหัวข้อที่สามารถนำมาพูดคุยได้ แต่บางอย่างที่ไม่ควรทำอย่างเด็ดขาด Bowe แนะนำ 7 ข้อผิดพลาดที่ควรหลีกเลี่ยงเวลาชวนคุย ไว้ดังนี้
1.คิดไปเองว่าไม่มีใครอยากคุยกับคุณหรอก
ถ้าคุณเป็นคนขี้อาย ก็เข้าใจได้อยู่ แต่ไม่ใช่คุณคนเดียวที่ขี้อาย ให้คิดกลับกันว่า เป็นไปได้ว่าคนอื่นก็รอให้คุณเปิดบทสนทนาอยู่เหมือนกัน
2.ไปขัดจังหวะการสนทนาของคนอื่น
จังหวะคือทุกอย่าง ถ้าคุณเห็นคนกำลังคุยกันอย่างออกรส พวกเขาคงไม่พร้อมจะให้คุณพรวดเข้าไปคุยด้วย
คุณควรจะรอจังหวะอยู่ก่อน โดยทิ้งระยะไม่ไกลหรือใกล้เกินไป เพื่อรอให้มีใครสักคนในวงสนทนานั้นสังเกตเห็นคุณ และส่งซิกด้วยภาษากายว่าคุณสามารถเข้าไปร่วมวงได้ ถ้าหากเข้าไปผิดจังหวะ อาจจะทำให้คนมองว่าคุณเป็นคนน่าขนลุกได้ในภายหลัง
3.เริ่มบทสนทนาโดยที่ไม่มีอะไรจะพูดต่อ
ถ้าจะเริ่มเปิดบทสนทนากับคนที่นั่งเงียบๆ อยู่ อย่าเปิดด้วยคำว่า “สวัสดี” แล้วก็จบแค่นั้น ควรจะคิดคำถามต่อเนื่องไว้สำหรับชวนคุยต่อด้วย เช่น สมมติว่าไปงานเลี้ยงบริษัท อาจจะถามต่อว่า “งานคืนนี้สนุกหรือเปล่า” หรือ “เพลงนี้ดีนะ รู้จักไหมว่าเพลงอะไร”
ทั้งหมดคือการสร้างโอกาสให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ตอบบทสนทนา มากกว่าจะแค่ทักทายแล้วก็ไม่มีอะไรพูดต่อ
4.เลือกหัวข้อที่เสี่ยงมีความเห็นต่างรุนแรง
ถ้าคุณเพิ่งจะรู้จักกับคนแปลกหน้า ดีที่สุดที่จะไม่เลือกหัวข้อหนักมาคุย เช่น การเมือง กฎหมายทำแท้ง ฯลฯ เพราะหัวข้อเหล่านี้มักจะมีความเห็นที่แตกเป็นสองขั้วอย่างแรง
หากบทสนทนาลื่นไหลจนในที่สุดเข้าไปแตะหัวข้อเหล่านี้นั้นไม่เป็นไร แต่สำหรับการเริ่มต้นคุยกัน ควรจะเลือกหัวข้อที่ง่ายๆ สบายกว่านี้
5.พูดอะไรฟังไม่รู้เรื่อง
พอเริ่มชวนคุยได้แล้ว ควรจะพูดให้ฟังง่ายที่สุด ถ้าเป็นการพูดคุยคนละภาษา ก็ควรจะพูดให้ช้าและออกเสียงให้ชัด การคุยกันควรเลี่ยงคำแสลงที่อีกฝ่ายน่าจะไม่เข้าใจ หรือถ้าคุยเรื่องการทำงานก็ควรเลี่ยงศัพท์เฉพาะ (jargon) ที่คุณเข้าใจแต่อีกฝ่ายคงไม่เข้าใจ
6.ถามเรื่องของอีกคนมากเกินไป
หลายคนเคยกล่าวว่า คนเรามักจะชอบคุยเรื่องตัวเอง ทำให้การถามคำถามเป็นเคล็ดลับไปสู่การต่อบทสนทนาที่ดี แต่นั่นไม่ใช่เรื่องจริงสำหรับทุกคน
บางคนไม่ชอบเปิดเผยเรื่องส่วนตัวหรือรู้สึกเหมือนถูกสอบสวน ดังนั้น ถ้าคุณถามบางอย่างไปแล้วคู่สนทนาดูไม่ค่อยพอใจ รีบเลี่ยงไปสนทนาเรื่องอื่นด่วน
เรื่องอื่นที่ทำให้ไม่ต้องถามเรื่องส่วนตัวของอีกคนมากเกินไปนัก แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ได้รู้ความสนใจหรือลักษณะบุคลิกอีกฝ่ายมากขึ้นด้วย เช่น ถามว่ามีร้านอาหารเด็ดๆ ในย่านแนะนำบ้างไหม ขอความเห็นว่าเสื้อผ้าของเราที่ใส่มาดูโอเคหรือเปล่า
7.ทำให้คนอื่นเสียเวลา
ถ้าคุณจะคุยกับใครก็ต้องตั้งใจคุย อย่ากดมือถือไปด้วยระหว่างคุย อย่าก้มมองแต่พื้นห้อง หรือมองข้ามไหล่พวกเขาเพื่อมองหาคนอื่น ควรจะให้ความสนใจกับคนที่คุยด้วยอย่างเต็มที่
‘Small talk’ หรือการชวนคุย อาจจะถูกมองว่าเป็นกิจกรรมที่ไร้ความจริงใจ ไม่มีใครอยากจะทำเท่าไหร่ แต่ลองมองย้อนกลับไปถึงความสัมพันธ์ที่คุณมีปัจจุบัน หลายครั้งก็เริ่มจากการชวนคุยสัพเพเหระที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่แท้จริงได้ในภายหลังนั่นเอง
อ่านเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- ‘Digital Literacy’ ไม่ใช่แค่ “ข้อได้เปรียบ” แต่เป็นสิ่งที่ “ต้องมี” สำหรับพนักงานทุกตำแหน่ง
- ความท้าทายของการสร้าง Digital Transformation ในองค์กรคือ “ขีดความสามารถผู้นำ”