สังคมอุดมดราม่า! “เพื่อนร่วมงาน” 5 ประเภทที่เป็นไปได้ “ควรหลีกให้ห่าง”

เพื่อนร่วมงาน
(Photo: Yan Krukau / Pexels)
ที่ทำงานส่วนใหญ่มักจะมีคนที่คอยสร้างสังคม ‘toxic’ เต็มไปด้วยปัญหาดราม่า โดยจำแนกบุคคลได้ 5 ประเภทที่เป็น “เพื่อนร่วมงาน” แบบที่ควรหลีกห่างให้เร็วที่สุด

“แม็ตต์ ฮิกกินส์” ซีอีโอบริษัท RSE Ventures บริษัทด้านการลงทุนในนิวยอร์ก สหรัฐฯ โดยก่อตั้งบริษัทนี้มานานกว่า 10 ปี เขียนบทความลงใน CNBC แนะนำถึง “บุคคล 5 ประเภทที่มักจะก่อดราม่าในที่ทำงาน” ข้อมูลทั้งหมดมาจากประสบการณ์ส่วนตัวในการทำธุรกิจ ซึ่งทำให้ได้เห็นรูปแบบเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าของคนกลุ่มนี้

แน่นอนว่า การพบกันครั้งแรกเรามักจะจับไม่ได้ว่าใครที่เป็นบุคคล ‘toxic’ แต่หากทำงานร่วมกันไปสักระยะและเริ่มจับสังเกตได้ว่า บุคคลคนนั้นมีพฤติกรรมเข้าข่ายคน 5 ประเภท ฮิกกินส์แนะนำให้หลีกให้ห่างโดยเร็ว แต่ถ้าห่างไม่ได้ก็ต้องหาทางรับมือ

5 ประเภทเพื่อนร่วมงานที่ควรหลีกให้ห่างเพื่อเลี่ยงดราม่า มีดังนี้

 

1.นางอิจฉา

นางอิจฉา ไม่ใช่แค่ผู้หญิงแต่เพศไหนๆ ก็เป็นได้ เพราะพฤติกรรมของนางอิจฉาในที่ทำงานคือ คนที่ไม่สามารถรู้สึกชื่นชมยินดีกับความสำเร็จของคนในทีมได้

พวกเขาจะเต็มไปด้วยความไม่มั่นใจในตนเอง แต่กลับต้องการจะเป็นคนที่มีอิทธิพลต่อทีม พวกเขาจะไม่ชอบใครก็ตามที่มีทักษะที่เขาเองทำไม่ได้ ถ้าหากคุณอยู่ทีมนี้และทำได้ดีโดดเด่นในการทำงาน พวกเขาจะเห็นว่าคุณคือเป้าหมายภารกิจของตน ภารกิจนั้นคือดึงคุณลงมาให้ได้

รับมืออย่างไร? : นางอิจฉาจะได้เปรียบหากเป้าหมายเป็นคนไม่พูดไม่จา การรับมือกับคนจำพวกนี้คือต้องคอยพูดเสมอว่าเราต่างก็มีจุดแข็งที่ดีต่อทีม ให้เขามองเห็นว่า การมีทั้งคุณและเขาร่วมมือกันจึงทำให้ทีมประสบความสำเร็จ

 

2.คนชอบเอาหน้า

คนชอบเอาหน้า คือนางอิจฉาที่มีความก้าวร้าวและรุกไล่มากยิ่งขึ้น พวกเขาจะหาจุดอ่อนของคุณ ขณะเดียวกันก็หาทางเอาหน้าจากสิ่งที่คุณทำได้ดี และขโมยความดีความชอบไปเป็นของตน

ฮิกกินส์กล่าวว่า จากการทำงานในสายบริหารมานาน ทำให้เห็นว่าคนชอบเอาหน้ามีจำนวนมาก คนกลุ่มนี้จะไม่รู้จักความเห็นอกเห็นใจ และจะเอารัดเอาเปรียบเมื่อมีโอกาส

รับมืออย่างไร? : คุณต้องปกป้องความสำเร็จของตัวเอง เรียกร้องขอเครดิตความดีความชอบบ้างเมื่อถึงจังหวะเวลา กลุ่มคนชอบเอาหน้าจะไม่ค่อยเลือกเอาเปรียบคนที่มีความหนักแน่นในการปกป้องตัวเอง และเห็นได้ชัดว่ามั่นใจในตัวเองสูง

 

3.เหยื่อ

บางคนในที่ทำงานจะชอบรับบท “เหยื่อ” คนกลุ่มนี้จะรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความยุติธรรมตลอดเวลา พวกเขาเห็นว่าทุกอุปสรรคที่พบเจอคือเครื่องยืนยันว่าตัวเองกำลังถูกเล่นงานอยู่

รับมืออย่างไร? : คนที่เล่นบทเหยื่อมักจะบอกว่าตัวเองได้รับภาระงานมากเกินไป ดังนั้น คุณสามารถชูมืออาสาเข้าช่วยเหลือได้เลย เพราะส่วนใหญ่คนที่เล่นบทเหยื่อจะปฏิเสธความช่วยเหลือ ในอนาคตก็คอยบอกเขาและได้เลยว่ายินดีช่วยเสมอ พร้อมกับทำให้คนในทีมเห็นว่าคุณพยายามออกปากช่วยแล้ว เพื่อปกป้องตัวคุณเองว่าไม่ได้ผลักภาระงานให้คนที่รับบทเหยื่ออยู่

 

4.ผู้พลีชีพ

ผู้พลีชีพ คือขั้นกว่าของการเล่นบทเหยื่อ เพราะพวกเขาทำงานจริงนะแต่ว่าไม่ได้ทำงานได้ดีจนต้องเล่นแง่ทางจิตวิทยากับทั้งองค์กร

พวกเขามักจะชอบรับงานไปทำเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ไม่ใช่เพื่อช่วยทีม พวกเขาทำไปเพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่าตนเองถูกบีบบังคับให้ต้องทำงานแทนคนอื่น

รับมืออย่างไร? : หาทางคุยกับพวกผู้พลีชีพว่า จะเป็นการดีที่สุดถ้าพวกเขาแบ่งงานให้คนที่เหมาะกับงานนั้นๆ ทำบ้าง กระตุ้นให้พวกเขาปล่อยมือจากงานบางงานไปให้คนอื่นทำ ไม่ใช่รวบงานทุกอย่างมาทำเองหมด

 

5.ยอดนักปั่น

ยอดนักปั่นมักจะใช้พลังงานทุกหยาดหยดในการเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงของสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อจะสร้างความเสียหายให้ทุกคนรอบตัว ส่วนใหญ่คนประเภทนี้มักจะมีบุคลิกภาพแบบหลงตนเอง

นี่คือคนที่ทำทุกอย่างที่คน 4 ประเภทด้านบนทำ ไม่ว่าจะเป็นนางอิจฉา ชอบเอาหน้า เล่นบทเหยื่อและผู้พลีชีพไปพร้อมๆ กัน และมักจะ ‘ปั่น’ สร้างเรื่องราวให้คนในทีมเชื่อว่ามันมีดราม่าเกิดขึ้น

รับมืออย่างไร? : ใช้งานคนประเภทนี้เฉพาะทักษะการงานที่พวกเขามีก็พอ ส่วนอื่นไม่ต้องไปสนใจ ถ้าคุณไม่ไปเสียเวลาและพลังงานรับฟังว่าพวกเขาคิดอย่างไร การปั่นที่เขาพยายามเหลือเกินเพื่อให้เกิดดราม่า ก็จะไม่เกิดขึ้นจริง

Source

 

อ่านเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติม