“AI จะมาทดแทนตำแหน่งงานของเราหรือไม่” กลายเป็นความกังวลที่เกิดขึ้นควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยี หรือถ้ามองให้ลึกลงไปกว่านั้น คำถามที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังก็คือ “Gen Z ที่รู้วิธีใช้งาน AI จะมีโอกาสได้งานมากกว่าคนเจนเนอเรชันก่อนหน้าหรือไม่” นักเศรษฐศาตร์จาก Oxford มีคำตอบที่อาจทำให้คนเจนเก่าใจชื้น เพราะ “ทักษะทางสังคม” (soft skills) ของคนเป็นสิ่งที่ AI ยังแทนไม่ได้
Carl Benedikt Frey นักเศรษฐศาสตร์จาก Oxford เคยคาดการณ์อนาคตไว้ในงานวิจัยของเขาเมื่อปี 2013 ว่า 47% ของตำแหน่งงานที่มีในสหรัฐอเมริกา จะถูกแทนที่ด้วยระบบออโตเมชันภายในทศวรรษ 2020s
อย่างไรก็ตาม 10 ปีผ่านไปหลังเขาตีพิมพ์งานวิจัย เขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Business Insider ว่า เขามองบวกมากขึ้นว่า ‘Generative AI’ จะไม่มาทดแทนตำแหน่งงานได้มากขนาดนั้นและทำได้เร็วขนาดนั้นแล้ว
“คนที่สามารถเป็นจุดสนใจได้เมื่อเข้าไปในห้อง สามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน สามารถกระตุ้นเร้าและสร้างความเชื่อมั่นกับผู้อื่นได้ นั่นคือคนที่จะเติบโตในยุคแห่ง AI” Frey กล่าว
เขามองว่า ความสามารถของ AI ถูกผูกติดอยู่กับการทำงานที่ใช้ระบบออนไลน์ ทำให้งานที่เสี่ยงต่อการถูกแทนที่ก่อนคืองานที่ทำได้จากระยะไกล (remote work)
ส่วนงานที่คนเจนเนอเรชันก่อนมักจะมีประสบการณ์ที่มีค่าสูง และไม่สามารถทำระบบออโตเมชันขึ้นมาทดแทนได้คือ “ทักษะทางสังคม” (soft skills) ของมนุษย์เมื่อต้องทำงานแบบพบปะกัน
หลังจากอยู่ในสิ่งแวดล้อมในออฟฟิศมาหลายปี คนเจนเก่ามักจะมีทักษะด้านการเป็นผู้นำและการเข้าสังคมมากกว่า ทำให้ Frey มองว่า AI จะเป็นเหมือนทักษะ ‘พรีเมียม’ ที่เพิ่มเติมให้กับคนมี soft skills
“เป็นไปได้ว่า พนักงานรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์สูงในตำแหน่งระดับบริหารจะมีแนวโน้มได้งานที่ดีกว่าในอนาคต” Frey กล่าว
- ทำไมการแสดง “บุคลิก/อุปนิสัย” ของตัวเองในการ “หางาน” จึงสำคัญ และต้องทำอย่างไร?
- วิจัยพบ “ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์” ส่งรายได้บริษัทเพิ่ม 8% ลดภาวะ ‘burn out’ ในหมู่พนักงาน
Frey และผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ต่างก็มองว่า Gen Z จะรอดได้สบายๆ ในยุคแห่ง AI เพราะเจนเนอเรชันใหม่มักจะปรับตัวกับเทคโนโลยีใหม่ได้ดีกว่าอยู่แล้ว ทำให้คนเจนใหม่จะเรียนรู้การใช้เครื่องมือ AI มาเป็นกุญแจสำคัญในการทำงานของพวกเขา
แต่ก็เช่นเดียวกับคนรุ่นเก่า Gen Z เองก็ต้องมี soft skills ไว้เป็นแต้มต่อให้ตนเองโดดเด่นกว่าคนอื่น หากใครๆ ก็สามารถใช้เครื่องมือ AI เช่น ChatGPT ในการทำงานทั่วไปในอุตสาหกรรม เช่น งานเขียน โค้ดดิ้ง ออกแบบกราฟิก ได้เหมือนๆ กันหมด
ทักษะทางสังคมแบบ ‘พบปะกันต่อหน้า’ จึงเป็นแต้มต่อที่แตกต่างจริงๆ เพราะ AI ขณะนี้ยังเลียนแบบมนุษย์ไม่ได้อย่างสมบูรณ์ จะทำได้ใกล้เคียงก็แต่เฉพาะการสื่อสารผ่านออนไลน์
คุณสมบัติที่สำคัญของคนทำงานยุคนี้จึงเป็นเรื่องการทำงานเป็นทีม ความคิดสร้างสรรค์ การปรับตัว ฯลฯ และคนที่ทำงานแบบที่ยังต้องไปเจอหน้ากันจะมีโอกาสเอาชนะ AI ได้มากกว่า
“ตำแหน่งงานที่ทำจากระยะไกลได้เสี่ยงต่อการถูกทดแทนด้วยระบบออโตเมชันมากกว่า” Frey กล่าว “ขณะที่การปฏิสัมพันธ์กันแบบเจอตัวซึ่งยังไม่สามารถถูกแทนที่ได้ทันทีตอนนี้ จะกลายเป็นสิ่งที่มีค่าในโลกของการทำงาน”