นับตั้งแต่การระบาดของ COVID-19 พฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป ทั้งด้านความต้องการ ความคาดหวัง ขณะที่ เทคโนโลยี ก็ยังทำให้ความต้องการเขาเปลี่ยนเร็วขึ้นไปอีก นอกจากนี้ ต่าง Gen ก็ต่างความคิด ดังนั้น หากจะมัดใจคนทุก Gen ไม่ใช่แค่ Personalize อย่างที่เข้าใจ แต่ต้องหา จุดร่วม ให้เจอ
3 ประเด็นที่เร่งนักการตลาดให้ปรับตัว
ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ได้ระบุถึง 3 ประเด็นสำคัญ ที่ทำให้เทรนด์ของการตลาดครึ่งปีหลังจะเปลี่ยนไป ได้แก่
- เทคโนโลยี ที่เข้าสู่การใช้ชีวิตได้แบบ ไร้รอยต่อ (Seamless) จนผู้บริโภคไม่สามารถแยกออกได้ว่าซื้อของแบบออนไลน์หรือออฟไลน์
- คนรุ่นใหม่ที่มีพลังมากขึ้น โดยเริ่มลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น คนรุ่นใหม่จะยิ่งมีอิทธิพลต่อการทำการตลาดมากขึ้น
- การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง โลกไม่ได้อยู่ในยุค Globalization อีกต่อไป แต่กำลังเข้าสู่ยุค Multipolar ที่มีผู้นำหลายกลุ่ม โลกมีทั้งการทำสงครามจริง ๆ และสงครามเชิงนโยบาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยิ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก
“การเมืองในประเทศยังไม่น่ากังวลเท่าการเมืองระดับโลก การเมืองไทยมันเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย เพราะตอนนี้โลกแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ ดังนั้น การตลาดต้องผสมผสานระหว่างความเชื่อความคิด เช่นเดียวกันกับ Generation ที่ต้องทำความเข้าใจกันและหาจุดที่เป็นจุดร่วม” ดร.บุรณิน กล่าว
อัปเดต 4 เทรนด์สำคัญครึ่งปีหลัง
ดร.บุรณิน ได้มองถึง 4 เทรนด์การตลาดในครึ่งปีหลัง พร้อมแนะแนวทางปรับตัว ได้แก่
- Personalized Marketing: การตลาดรู้ใจ ถือเป็นสิ่งที่พูดกันมาตลอด เพราะผู้บริโภคมีความ Individual มากขึ้น ดังนั้น ธุรกิจต้องมองลูกค้าเป็นศูนย์กลาง แต่ด้วยความที่สินค้าหรือบริการต้องผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก ดังนั้น นักการตลาดต้องหา จุดร่วม ที่สนใจเหมือนกัน เพื่อพัฒนาเป็นสินค้าและบริการ
- Marketing on Multiverse: การตลาดเชื่อมโลก เพราะตอนนี้ผู้บริโภคไม่ได้แยกว่าการช้อปปิ้งเป็นออนไลน์-ออฟไลน์อีกต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการมาของ Metaverse อีก ดังนั้น ต้องประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสร้างประสบการณ์แบบ ไร้รอยต่อ ให้กับผู้บริโภค
“ตอนนี้เราสามารถลองลิปสติกที่หน้ากระจกได้โดยไม่ต้องทาจริง สามารถเลือกจะซื้อสินค้าแบบออนไลน์ที่หน้าร้านให้ไปส่งของได้ถึงบ้านในวันถัดไป ผู้บริโภคเขาไม่แยกว่าที่เขาทำเป็นการซื้อแบบออนไลน์-ออฟไลน์หรือออมนิชาแนล นักการตลาดที่เก่งที่สุดคือ ต้องขายให้ได้โดยไม่รู้ว่าออฟไลน์หรือออนไลน์” ผศ. ดร. เอกก์ ภทรธนกุล อุปนายกฝ่ายกิจกรรมการสื่อสารและการตลาดยั่งยืน กล่าวเสริม
- Real Marketing: การตลาดจริงใจ เรียลไทม์ เรียลโปรดักส์ และเรียลเอ็กพรีเรียน โดยความ จริงใจ จะทำให้แบรนด์มีความ ยั่งยืน
“นักมาร์เก็ตติ้งต้องถอดตัวเองจากแบรนด์เป็นศูนย์กลาง แต่ผู้บริโภคต้องเป็นศูนย์กลาง ให้อำนาจแก่ลูกค้าแล้วเขาจะบอกว่าเราควรทำหรือไม่ควรทำอะไร และนักการตลาดต้องฉลาดในการใช้ Data Analytics เพราะเราไม่สามารถเซิร์ฟได้ทุกคัสตอมเมอร์ แต่ดาต้าจะช่วยให้เราหาจุดเชื่อมโยงของความต้องการผู้บริโภค”
- Dynamic Brand: การตลาดพร้อมปรับ จะเห็นว่าในปัจจุบันมีการทำ Co-branding มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ที่อยู่ในตลาดมานานคอลแลปส์กับแบรนด์อายุน้อย เพื่อรักษากลุ่มเป้าหมายเดิม และเพิ่มกลุ่มลูกค้าใหม่ นอกจากนี้ ธุรกิจต้องเน้นความเร็ว ทำไปก่อนแล้วค่อยปรับแก้ระหว่างทาง
PILOT 5 มิติที่นักการตลาดต้องมี
ผศ. ดร.เอกก์ ภทรธนกุล อุปนายกฝ่ายกิจกรรมการสื่อสารและการตลาดยั่งยืน กล่าวว่า การตลาดยุคนี้ขึ้นอยู่กับ บริบท เพราะการมองของแต่ละ Gen ไม่เหมือนกัน เช่น คำพูดเหมือนกันแต่คนละ Gen ใช้ต่างกัน ดังนั้น การตลาดจากนี้ ไม่มีอยู่ในตำราที่เรียนมาแต่ใช้บริบทมาเกี่ยวข้อง โดยการตลาดเข้าสู่ยุค 5.0 มา 2 ปี และกำลังจะเปิดตัว 6.0 (Marketing In Metaverse) ดังนั้น นักการตลาดต้องมี 5 มิติ นี้
- P – Pioneering : มุ่งหน้า โดยต้องหมั่นเติมความรู้และเรียนรู้เทคโนโลยีทางการตลาดใหม่ ๆ ไม่ใช่ว่าต้องใช้ทั้งหมด แต่ต้องเข้าใจ
- I – Insights : ลงลึก ต้องใช้ดาต้ามาเจาะลึกถึงผู้บริโภคแต่ละ Gen ว่ามีพฤติกรรมอย่างไร สนใจเรื่องไหน มีคาดหวังอย่างไร
- L – Long-term : มองยาว มองให้ยาว อย่างเล่นสงครามราคา เพื่อให้เติบโตอย่างยั่งยืน
- O – Openness : เปิดรับ เป็นสิ่งที่ทั้งองค์กรต้องทำร่วมกัน โดยต้องเปิดรับความคิดเห็นและเทคโนโลยีใหม่
- T – Timeliness : ทันที ธุรกิจต้องเน้นความเร็ว ทำไปก่อนแล้วค่อยปรับแก้ระหว่างทาง
สิ่งสำคัญที่จะทำ PILOT คือ ต้อง Reframe – ปรับเปลี่ยน ต้องกระโดดข้ามรูปแบบเดิม ๆ เพื่อเดินกระบวนความคิดใหม่ให้เชื่อมกับความเปลี่ยนแปลง จะได้ทะยานต่อได้ นอกจากนี้ต้อง Reform – ปฏิรูป หากต้องการให้ธุรกิจไปต่อได้ในโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงรอบด้าน เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารต้องเปิดมุมมองสู่แนวคิดใหม่ ๆ เพื่อจะได้พบความเป็นไปได้ของการไปต่อและเติบโต
“ในยุคนี้ ผู้นำองค์กรต้องเป็น pilot ผู้ขับเคลื่อนธุรกิจ แล้วให้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มาเสริมทัพเป็น Co-pilot หากสามารถผสานวิสัยทัศน์ และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ก็จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เริ่มจากตัวเองและทีมงาน และสิ่งสำคัญที่ตามมา คือ วิธีการในการสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยการ Reframe & Reform”