ทำไมการแสดง “บุคลิก/อุปนิสัย” ของตัวเองในการ “หางาน” จึงสำคัญ และต้องทำอย่างไร?

เงินเดือน
(Photo: Shutterstock)
ทักษะและประสบการณ์เป็นปัจจัยสำคัญในการได้งานทำก็จริง แต่คุณอาจจะแปลกใจที่ได้รู้ว่า “บุคลิก/อุปนิสัย” ของผู้สมัครเป็นเรื่องสำคัญอันดับ 3 ในการพิจารณารับเข้าทำงานของหัวหน้างานหรือฝ่าย HR บางครั้งบุคลิกของผู้สมัครยังสำคัญกว่าการศึกษาหรือศักยภาพด้วยซ้ำ!

อแมนด้า ออกัสติน ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพจาก Top Resume บริการเขียนประวัติสมัครงาน กล่าวว่า คนเรามักจะอธิบายบุคลิกหรือนิสัยของเพื่อนร่วมงาน จากมุมมองต่อการทำงานร่วมกันกับคนคนนั้นว่าเป็นอย่างไร

“บุคลิก/อุปนิสัยเป็นเรื่องสำคัญต่อการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมองค์กร” ออกัสตินกล่าว “มันมีผลกระทบต่อพฤติกรรมการทำงาน เช่น สไตล์การสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน วิธีการแก้วิกฤต หรือคุณเป็นคนยืดหยุ่นได้แค่ไหนหากมีการเปลี่ยนแปลงในการทำงาน คุณต้องเข้ากันได้มากพอที่จะสื่อสารกันรู้เรื่องและบรรลุเป้าหมายการทำงานร่วมกันได้”

หากว่าเพื่อนร่วมงานคนใหม่มีบุคลิกที่ไม่เข้ากับหัวหน้างานหรือพนักงานคนอื่น ในระยะยาวแล้วชีวิตการทำงานร่วมกันจะซับซ้อนมาก “พูดตรงๆ ก็คือการเลือกจ้างคนที่ไม่เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรมาเป็นความผิดพลาดราคาแพง” ออกัสตินกล่าว “คนเราไม่มีใครอยากจะเสียเงินและเวลาหรอก ไม่ว่าจะนั่งอยู่ฝั่งไหนของโต๊ะสัมภาษณ์งานก็ตาม”

ออกัสตินกล่าวต่อว่า เพื่อให้ทั้งผู้สมัครงานและองค์กรได้เจอ ‘คนที่ใช่’ ทั้งสองฝ่าย ฝั่งผู้สมัครไม่จำเป็นต้องรอให้ไปถึงขั้นสัมภาษณ์งานก่อนจะโชว์ความเป็นตัวเอง เพราะบุคลิกของเราสามารถสื่อสารได้ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนหน้านั้น

 

โซเชียลมีเดีย คือพื้นที่บอกบุคลิกของคน

เริ่มจากดิจิทัล ฟรุตปรินท์ของเรา โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่เน้นเรื่องการงานอย่าง LinkedIn จะช่วยได้มากในการเติมบุคลิกของเราลงไปในเรซูเม่

“LinkedIn เพิ่มโอกาสให้เราได้แสดงบุคลิกออกมา ทุกอย่างตั้งแต่รูปโปรไฟล์ไปจนถึงสิ่งที่เขียนในหมวด ‘About’ ของตนเองล้วนเป็นจุดสำคัญทั้งนั้น” ออกัสตินกล่าว

ตัวอย่างเช่น About เกี่ยวกับเรานั้นอาจจะเขียนบรรยายว่าทำไมเราถึงชื่นชอบงานที่ตัวเองทำอยู่ กว่าจะมีวันนี้ได้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง และเรากำลังตื่นเต้นกับการทำงานอะไรเพิ่มเติมในอนาคต รวมถึงอยากจะร่วมงานกับคนอื่นๆ อย่างไร

“เขียนเรื่องเหล่านี้ในโทนที่ฟังดูสบายๆ เป็นโทนที่ปกติเราจะไม่เขียนในเรซูเม่” ออกัสตินกล่าว “พื้นที่นี้เป็นโอกาสที่ทำให้คนอ่านรู้สึกว่าได้คุยกับเราจริงๆ” เธอยังกล่าวด้วยว่าการโพสต์หรือคอมเมนต์ต่างๆ ใน LinkedIn ก็สำคัญเช่นกัน

ส่วนโซเชียลมีเดียอื่นๆ ของเรานั้นแน่ใจได้เลยว่าผู้จ้างงานก็ต้องหาทางเช็กก่อน ดังนั้น เป็นการตัดสินใจของเราว่าต้องการจะเก็บโซเชียลมีเดียอื่นไว้เป็นเรื่องส่วนตัวในกลุ่มคนสนิท หรือจะเปิดเป็นสาธารณะ “ถ้าคุณตัดสินใจว่าโซเชียลมีเดียอื่นของคุณก็จะเปิดเป็นสาธารณะด้วย ต้องให้แน่ใจว่าคอนเทนต์ในนั้นสะท้อนตัวตนและบุคลิกที่เป็นจริงของคุณออกมา” เธอกล่าว

 

อย่ามองข้าม “จดหมายแนะนำตัว”

ออกัสตินกล่าวต่อว่า ผู้สมัครงานไม่ควรมองข้าม “จดหมายแนะนำตัว” ปกติคนมากมายไม่เขียนจดหมายแนะนำตัวแนบไปเพราะมองว่าเป็นขั้นตอนที่น่าเบื่อ และส่วนใหญ่ก็มักจะเขียนเหมือนกับเป็นบทคัดย่อว่าในเรซูเม่เรามีอะไรบ้าง

“แต่จริงๆ แล้วถ้าคุณเขียนอย่างมีกลยุทธ์ คุณจะได้แสดงออกถึงบุคลิกตัวตนออกมา ทำให้เห็นว่าคุณน่าจะเหมาะกับวัฒนธรรมองค์กรนั้น” เธอกล่าว

ตัวอย่างการเขียนให้มีชั้นเชิง เช่น เล่าเรื่องประสบการณ์ความท้าทายในหน้าที่การงานและคุณสามารถผ่านสิ่งเหล่านั้นมาได้อย่างไร หรืออธิบายว่าคุณชอบและตื่นเต้นกับอาชีพที่ทำอยู่เพราะอะไร

จดหมายแนะนำตัวจะเป็นโทนเสียงที่สะท้อนบุคลิกตัวตน และยังทำให้เห็นทักษะประสบการณ์ได้อย่างลึกซึ้งมากกว่าเรซูเม่ที่กำลังจะได้อ่าน

 

หมัดเด็ดสุดท้าย “สัมภาษณ์งาน”

แน่นอนว่าการสัมภาษณ์งานคือจุดที่สะท้อนบุคลิกของเราได้ดีที่สุด การพูดคุยสัพเพเหระช่วงต้นก่อนการสัมภาษณ์คือนาทีสำคัญที่จะทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้จักบุคลิกของเรามากขึ้น

“เรื่องที่มักจะหยิบมาพูดกันมากที่สุดเวลาที่เพิ่งทักทายกันจบคือ เรื่องดินฟ้าอากาศ แต่คุณสามารถมองหาหัวข้ออื่นมาพูดได้อีก เช่น หยุดยาวนี้กำลังจะไปเที่ยวที่ไหน การเกริ่นเรื่องพวกนี้ทำให้ผู้สัมภาษณ์เข้าใจว่าเวลาว่างเราทำอะไร หรือเราให้ความสำคัญกับอะไรในชีวิต และถ้าหากบังเอิญโชคดี ถ้าคุณกับคนสัมภาษณ์งานมีความสนใจบางอย่างที่ตรงกัน คุณจะได้ใช้ประโยชน์จากมันเพื่อสร้างมิตรภาพ” ออกัสตินกล่าว

“20% ของการสัมภาษณ์งานเป็นการพิสูจน์ทักษะที่คุณมีว่าทำงานได้จริงหรือเปล่า แต่อีก 80% คือคนสัมภาษณ์ต้องการจะรู้ว่าคุณจะเข้ากับทีมได้ไหม” เธอกล่าว พร้อมเสริมว่า 80% นั้นจะเต็มไปด้วยคำถามเพื่อทำความเข้าใจว่าคุณเป็นคนอย่างไร

คำถามที่ว่า เช่น ทดสอบพฤติกรรมการทำงาน อาจจะถามว่าถ้าคุณเจอสถานการณ์แบบหนึ่ง คุณจะตอบโต้อย่างไร ซึ่งคำตอบก็จะทำให้รู้นิสัยในทันที

ออกัสตินยังแนะนำด้วยว่า เราควรจะแสดงออกแค่ ‘น้ำจิ้ม’ ของบุคลิกตัวตนของเรา ไม่ใช่เปิดตัวเต็มที่หรือพูดเรื่องตัวเองเยอะเกินไป คือแสดงออกเพียงแค่ให้อีกฝ่ายพอจะเดาได้ว่าถ้าทำงานกับคุณจะเป็นอย่างไร

เธออธิบายว่า การสัมภาษณ์งานก็เหมือนไปเดตกับแฟนครั้งแรก หรือไปพบหน้าพ่อแม่แฟนครั้งแรก กฎเดียวกันในเรื่องพวกนี้คือแสดงออกแค่พอประมาณนั่นเอง

Source