หนีไป! 3 สัญญาณร้ายแจ้งเตือนว่าคุณกำลังเจอ “เจ้านาย” ที่เป็นพิษต่อชีวิต

สัญญาณร้าย เจ้านาย
(Photo by Storyset on Freepik)
ช่วงเริ่มทำงานใหม่ไม่กี่เดือนแรกอาจจะเป็นช่วงที่พนักงานยังอ่านสัญญาณไม่ออกว่า สิ่งที่ตนกำลังเผชิญอยู่นั้นถือเป็นสัญญาณร้ายจาก “เจ้านาย” ที่จะทำให้ชีวิตเป็นพิษในระยะยาวหรือไม่ บทความนี้ขอยกตัวอย่าง 3 สัญญาณร้ายสำคัญที่จะสั่งสมจนคนทำงานทนไม่ไหว เพื่อให้พนักงานประเมินสถานการณ์และตัดสินใจก่อนจะสาย

คริสติน่า นอซโซ่ ประธานบริษัท Jab Media เอเยนซีด้านการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ โดยมีสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก แนะนำ 3 สัญญาณร้ายที่แจ้งเตือนได้ว่าคุณกำลังเจอกับ “เจ้านาย” แย่ๆ และแม้ว่าพฤติกรรมเหล่านี้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เมื่อสั่งสมไปนานๆ จะทำให้พนักงานเกิดความไม่พึงใจ หงุดหงิด และ ‘burnout’ หมดไฟที่จะทำงานได้

 

1.เจ้านายที่ไม่เคารพเวลา

เวลา เป็นสิ่งที่มีค่ามาก ในการทำงานระหว่างวันปกติพนักงานอาจจะมีช่วงเวลาสั้นๆ พักเบรกระหว่างการประชุมหนึ่งไปสู่อีกการประชุมหนึ่ง หรือมีการจัดตารางเวลาทำงานไว้แล้ว แบ่งระหว่างเวลาประชุมและการลงมือทำงานให้เหมาะสม เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพและได้ผลสำเร็จออกมาตามที่ตั้งใจ

ดังนั้น หากคุณต้องเจอเจ้านายที่ไม่เคารพเวลาตามตารางที่ตกลงกัน นั่นคือสัญญาณเตือนถึงอันตราย

คริสติน่ายกตัวอย่างว่าครั้งหนึ่งเธอเคยทำงานกับผู้จัดการที่มาประชุมสายอย่างน้อย 15 นาทีทุกครั้ง บางครั้งก็ไม่มาประชุมเฉยๆ และหลายครั้งผู้จัดการคนนี้ยืดเวลาประชุมออกไปเป็นชั่วโมงๆ ซึ่งทำให้กระทบตารางเวลาการทำงานทั้งหมดของเธอจนส่งชิ้นงานให้ลูกค้าไม่ทันเวลา

ไม่ใช่แค่การมาประชุมสายเท่านั้น ผู้จัดการยังไม่เคารพเวลาหยุดพักร้อน สั่งงานที่ไม่มีความจำเป็น และเลื่อนเดดไลน์ตามใจชอบ วันดีคืนดีก็มีงาน “ด่วน” เข้ามากะทันหัน

ในระยะยาวแล้วอย่างไรเรื่องพวกนี้ก็จะทับถมจนเกิดความไม่พึงใจในการทำงาน ทำให้การไม่เคารพเวลาคือสัญญาณเตือนว่า คุณควรจะหาที่ทำงานที่ดีกว่านี้

 

2.เจ้านายที่ดูถูกเพื่อนร่วมงาน ไม่ว่าจะในอดีตหรือที่ยังอยู่

เหมือนกับทุกความสัมพันธ์ในชีวิต การสื่อสารคือพื้นฐานการสร้างความเชื่อใจ ในสิ่งแวดล้อมการทำงานก็เช่นกัน เมื่อมีการสื่อสารที่ดีในทีม จะช่วยสร้างบรรยากาศการทำงานที่มีประสิทธิภาพ มีการร่วมแรงร่วมใจ และสร้างงานที่ดีออกมา

ในทางกลับกัน ถ้าการสื่อสารที่ไม่ดีก็สามารถทำลายความเชื่อใจในทีมได้

คริสติน่ายกตัวอย่างประสบการณ์ส่วนตัว หลังไปเริ่มงานที่ใหม่ได้ไม่กี่วัน ผู้จัดการของที่นั่นบ่นถึงอดีตพนักงานในทีมในทางร้าย ทีแรกเธอไม่ได้สนใจ แต่ต่อมาผู้จัดการก็เริ่มตำหนิตัวเธอและเพื่อนร่วมงานของเธอยาวเหยียดมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าทุกคนจะทำงานอย่างแข็งขันและงานก็สำเร็จลุล่วง พฤติกรรมของผู้จัดการทำให้พนักงานในทีมโอนย้ายไปทีมอื่นหรือขอลาออกเป็นจำนวนมาก

ในโลกการทำงานปัจจุบัน การทำงานร่วมกันโดยที่หัวหน้างานไม่เคารพหรือไม่เชื่อใจทีม บรรยากาศการสร้างการเติบโตขององค์กรก็จะไม่เกิดขึ้น เมื่อสั่งสมไปเรื่อยๆ หัวหน้าแบบนี้จะบ่อนทำลายความทะเยอทะยานของคุณเอง

 

3.เจ้านายที่ไม่ใส่ใจกับความสำเร็จส่วนตัวของคุณ

เจ้านายที่ไม่ยินดียินร้ายกับความสำเร็จส่วนตัวของพนักงาน คือสัญญาณร้ายที่ต้องระวัง

คริสติน่ายกตัวอย่างประสบการณ์ว่า ครั้งหนึ่งเธอเคยฝึกซ้อมเพื่อลงแข่งขันชกมวยสมัครเล่น นอกเวลางานเธอจะไปซ้อมที่ยิมตั้งแต่ตี 5 และต้องมีเวลาซ้อมอย่างน้อย 6 ครั้งต่อสัปดาห์ เธอตั้งใจฝึกถึง 10 เดือนก่อนลงแข่ง ซึ่งตลอดการตามล่าความสำเร็จส่วนตัวนอกเหนือจากเรื่องงานนี้ หัวหน้าของเธอไม่ได้สนใจเลย

การได้รับความสนใจ ‘จริงๆ’ ในที่ทำงานนั้นเป็นเรื่องสำคัญกับความรู้สึกของพนักงานหลายคน การทักทายไปแกนๆ ว่า ‘วันหยุดเป็นไงบ้าง’ ไม่เพียงพอต่อการซื้อใจพนักงาน หัวหน้าที่ดีคือหัวหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนคนในทีมในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัวในชีวิต เพราะการใส่ใจคนในทีมคือการสร้างความผูกพัน กระตุ้นให้พนักงาน ‘อยาก’ ทำงานให้เจ้านาย

หากช่วงแรกที่เข้าทำงานคุณพบว่าหัวหน้าไม่ค่อยสนใจชีวิตส่วนตัวของทีม อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าถ้าคุณมีห้วงเวลาสำคัญของชีวิต เช่น มีลูก หัวหน้าคุณก็จะไม่ใส่ใจ ไม่มีการผ่อนผันยืดหยุ่นเพื่อให้คุณผ่านช่วงสำคัญเหล่านี้ไปได้

ใน 3 ข้อนี้หากมีข้อไหนโผล่มา นั่นคือสัญญาณร้ายว่าอาจถึงเวลาที่คุณต้องไปหาโอกาสใหม่ๆ และถ้าหากคุณยังต้องติดอยู่ที่เดิมระหว่างหางาน คริสติน่าแนะนำให้หาทางระบายความเครียดและกดดัน ไม่ว่าจะเป็นศิลปะหรือออกกำลังกาย หรือสิ่งแวดล้อมใดๆ ที่ช่วยผ่อนคลายได้ อย่าลืมว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นแค่เรื่องชั่วคราว เวลาจะช่วยให้คุณหาเส้นทางอาชีพที่ดีกับสุขภาพจิตมากกว่านี้ได้แน่นอน

Source