-
“ดีลอยท์” สำรวจตลาดแรงงานกลุ่ม “Gen Y – Gen Z” ในไทย พบว่าความกังวลสูงสุดของพนักงานยุคนี้คือเรื่อง “ค่าครองชีพ”
-
ปัจจัยสำคัญสูงสุดของทั้งสองเจนในการเลือกงานคือเรื่อง “Work-Life Balance” ส่วนปัจจัยที่ผลักดันให้ลาออกสูงสุดคือเกิดภาวะ “Burn Out”
“ดีลอยท์” จัดทำสำรวจ Global 2024 Gen Z and Millennial Survey ต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 เพื่อสำรวจมุมมองเชิงลึกของคนทำงานในสองรุ่นนี้ การสำรวจประกอบด้วยหลายหัวข้อ โดยในบทความนี้จะหยิบไฮไลต์เฉพาะเรื่องสภาพจิตใจและความกังวล รวมถึงเรื่องปัจจัยในการเลือกสถานที่ทำงานมานำเสนอ
การสำรวจครั้งล่าสุดประจำปี 2567 นี้ดีลอยท์มีการสำรวจทั้งหมด 22,841 คน จาก 44 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ ข้อมูลที่จะนำเสนอเป็นข้อมูลเจาะลึกเฉพาะใน “ประเทศไทย” ซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถามรวม 301 คน แบ่งเป็น Gen Z จำนวน 201 คน และ Gen Y จำนวน 100 คน
(หมายเหตุ: การสำรวจปี 2567 กลุ่มคน Gen Y หมายถึงคนวัย 30-41 ปี และคน Gen Z หมายถึงคนวัย 19-29 ปี)
จุดร่วมคนสองวัยกังวลเรื่อง “ค่าครองชีพ”
ด้านสุขภาพจิตและความกังวลหลักนั้น ดีลอยท์สำรวจพบว่าคนไทยทั้งสองเจนเนอเรชันมีจุดร่วมเดียวกันคือกังวลเรื่อง “ค่าครองชีพ” และสอดคล้องกับความกังวลของคนทั้งโลก
อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างคือ Gen Z กังวลเรื่อง “การว่างงาน” มากกว่า Gen Y ด้วยข่าวการปลดพนักงานที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ Gen Z ซึ่งเป็นวัยที่เพิ่งเริ่มทำงานไม่นาน ประสบการณ์น้อย จึงกังวลว่าตนจะถูกเลย์ออฟก่อนในบริษัท ในทางกลับกัน Gen Y จะกังวลเรื่อง “เสถียรภาพทางการเมืองและสงคราม” มากกว่า เพราะมองภาพกว้างว่าปัจจัยนี้อาจมีผลกระทบต่อผลประกอบการบริษัท
3 อันดับเรื่องที่ “Gen Z” กังวลมากที่สุด
อันดับ 1 ค่าครองชีพ (37%)
อันดับ 2 การว่างงาน (36%)
อันดับ 3 ความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้และความมั่งคั่ง (21%)
3 อันดับเรื่องที่ “Gen Y” กังวลมากที่สุด
อันดับ 1 ค่าครองชีพ (37%)
อันดับ 2 ความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้และความมั่งคั่ง (26%)
อันดับ 3 เสถียรภาพทางการเมืองและสงคราม (24%)
ในแง่ “สุขภาพจิต” ของคนทั้งสองเจนนั้น 42% ของ Gen Z และ 60% ของ Gen Y รู้สึกว่าสภาพจิตใจโดยรวมสบายดี ถือว่าเป็นภาพที่ดีกว่าการสำรวจปีก่อน มีความเครียดน้อยลงทั้งสองรุ่น
“Work-Life Balance” สำคัญสูงสุดในการเลือกงาน
การสำรวจในแง่มุมของการทำงานและสถานที่ทำงาน ดีลอยท์พบว่าคนไทยทั้งสองเจนเนอเรชันมีแนวคิดสำคัญร่วมกันคือ ต้องการทั้งเรื่องสมดุลชีวิตกับการงาน หรือ “Work-Life Balance” และต้องการให้งานสร้าง “โอกาสการพัฒนาตนเอง” ได้ทำงานที่มีความหมายด้วย โดยมีรายละเอียดแต่ละหัวข้อ ดังนี้
3 เหตุผลหลักในการ “เลือกงาน” ของคนไทย
อันดับ 1 Work-Life Balance (Gen Z 33% / Gen Y 37%)
อันดับ 2 โอกาสการพัฒนาและเรียนรู้ทักษะจากงาน (Gen Z 30% / Gen Y 34%)
อันดับ 3 รู้สึกว่างานให้ความหมายกับชีวิต (Gen Z 28% / Gen Y 27%)
3 เหตุผลหลักที่ทำให้ “ลาออก” ครั้งล่าสุด
อันดับ 1 Burn Out หมดไฟในการทำงาน (Gen Z 29% / Gen Y 14%)
อันดับ 2 รู้สึกไม่ได้พัฒนาเรียนรู้ทักษะจากงาน (Gen Z 25% / Gen Y 29%)
อันดับ 3 ไม่มีโอกาสเติบโตในองค์กร (Gen Z 23% / Gen Y 15%)
3 สาเหตุที่ทำให้ “เครียด” จากการทำงาน
อันดับ 1 ไม่ได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้างาน (Gen Z 59% / Gen Y 54%)
อันดับ 2 ชั่วโมงการทำงานยาวนานเกินไป (Gen Z 51% / Gen Y 68%)
อันดับ 3 รู้สึกว่าการตัดสินใจในที่ทำงานไม่ยุติธรรมและไม่เท่าเทียมกัน (Gen Z 50% / Gen Y 47%)
ทั้งนี้ เมื่อถามถึงมุมมองความคิดว่าองค์กรควรจะทำอย่างไรให้ Work-Life Balance ของพนักงานดีขึ้น มีข้อคิดเห็นที่น่าสนใจ เช่น บริษัทควรจะกระจายภาระงานให้มีคนช่วยกันทำมากขึ้น และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมให้พนักงานใช้วันลาพักร้อนให้หมด
“เข้าออฟฟิศ” มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
อีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวกับ Work-Life Balance คือเรื่อง “สถานที่ทำงาน” หลังโควิด-19 ทำให้ประเด็นเรื่องสถานที่ทำงานเป็นที่ถกเถียงกันว่าพนักงานควรจะเข้าออฟฟิศทั้งหมด ทำงานแบบไฮบริดเข้าบ้างไม่เข้าบ้าง หรือให้ทำงานออนไลน์ทั้งหมด
จากการสำรวจล่าสุด พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ถูกเรียกตัวเข้าออฟฟิศแล้ว โดยมีรายละเอียดดังนี้
- เข้าออฟฟิศทุกวัน
Gen Z 43% / Gen Y 53% - ระบบไฮบริด เข้าออฟฟิศบางวัน
Gen Z 48% / Gen Y 41% - ทำงานออนไลน์ทุกวัน
Gen Z 10% / Gen Y 6%
งานสำรวจครั้งนี้ยังพบด้วยว่า คนไทย Gen Z มองว่าการ “เข้าออฟฟิศ” มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ข้อดีจากการเข้าออฟฟิศ เช่น ความร่วมมือในการทำงานและความรู้สึกสนิทสนมกับคนที่ทำงานดีขึ้น ทำให้แบบแผนในการทำงานแต่ละวันเป็นระบบดีกว่า รู้สึกมีส่วนร่วมกับองค์กรและเพื่อนที่ทำงานมากกว่า
แต่ข้อเสียก็มีเช่นกัน เช่น บริหารเวลาได้แย่ลงเพราะต้องฝ่ารถติด เพิ่มค่าใช้จ่ายการเดินทาง เกิดความเครียดในการแบ่งเวลา
ดังนั้น องค์กรอาจจะต้องปรับสมดุลเรื่องการเข้าออฟฟิศว่าส่วนผสมใดที่จะลงตัวสำหรับคน Gen Z และ Gen Y ไทย เพื่อดึงดูดให้ทาเลนต์ต้องการมาทำงานกับองค์กรมากขึ้น เพราะทั้งสองเจนเนอเรชันนี้กลายเป็นแรงงานหลักในองค์กรไปแล้ว ทำให้การทำความเข้าใจความต้องการของพวกเขาคือเรื่องสำคัญยิ่ง
(*สนใจอ่านรายงาน Global 2024 Gen Z and Millennial Survey ฉบับเต็มคลิกที่นี่)
อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- บีบให้ออก? “Dell” คลอดนโยบาย “กลับเข้าออฟฟิศ” ใครเลือกทำงานทางไกลจะถูกตัดโอกาส “เลื่อนขั้น”
- การมาของ AI จะแบ่งพนักงานออกเป็น 2 กลุ่ม คือ “คนที่ทำงานได้ดีขึ้น” กับ “คนที่ตกงาน”