Nolan Church อดีตฝ่ายรับสมัครพนักงานของ Google และปัจจุบันเป็นซีอีโอของ Continuum บริษัทด้านการรับสมัครงาน เขาแชร์ข้อมูลจากการทำงานว่า ความผิดพลาดแบบไหนใน “ประวัติสมัครงาน” ที่เขาเห็นแล้วมีโอกาสปฏิเสธ ไม่รับพิจารณา เพราะเล็งเห็น ‘ธงแดง’ ของพฤติกรรมการทำงานผ่านเรซูเม่ โดยมีทั้งหมด 3 ข้อผิดพลาดหลัก ดังนี้
1.สะกดผิด
Church มองว่าการสะกดคำผิด หรือเขียนแกรมมาร์ผิด สะท้อนว่าผู้สมัครงาน “ไม่ค่อยมีความใส่ใจในรายละเอียด” และเขามองว่าข้อผิดพลาดแบบนี้ทำให้เขา “เซ็งมากที่สุด” เมื่ออ่านประวัติสมัครงาน
ในกรณีภาษาอังกฤษ ปัจจุบันมีเครื่องมือที่ช่วยเช็กแกรมมาร์ เช่น Grammarly หรือ ChatGPT ให้ใช้งานได้ฟรี เครื่องมือพวกนี้ทำให้ผู้สมัครงานกลั่นกรองความถูกต้องได้แม่นยำขึ้น
2.ไม่อธิบายว่าทำไมจึงลาออกจากงานไว
ธงแดงข้อต่อไปของ Church คือ หากในประวัติพบว่า มีการลาออกจากงานเก่าเร็วกว่า 1 ปี เกิดขึ้นมาหลายครั้ง และไม่มีคำอธิบายในประวัติว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
ในความเป็นจริงมีเหตุผลจำเป็นมากมายที่ทำให้คนลาออกจากงานแม้ยังทำงานไม่ครบปี เช่น บริษัทเลิกจ้าง, พบว่าตนเองไม่เหมาะกับงาน แต่ถ้าไม่มีการอธิบายใดๆ Church จะมองว่า “คุณเป็นพวกทำงานเป็นหลักแหล่งนานๆ ไม่ได้”
Church แนะนำว่า ในกรณีที่งานนั้นเป็นการทำงานที่ระยะสั้นกว่า 1 ปี ควรจะเพิ่มรายละเอียดสั้นๆ ด้านล่างว่าทำไมจึงออกจากงานเพื่ออธิบายตนเอง เช่น “ออกจากงานเนื่องจากการปรับลดจำนวนพนักงานของบริษัท”
3.ไม่อธิบายว่าทำไมจึงมีช่วงว่างงาน
“จริงๆ แล้วผมคิดว่าการมีช่วงว่างงานเพื่อพักผ่อนบ้างเป็นสิ่งที่ดีนะ” Church กล่าว “แต่ผมก็อยากจะรู้ว่าช่วงนั้นคุณใช้เวลาทำอะไรบ้าง”
สมมติว่าใน 1 ปีที่เป็นช่วงพักจากการทำงาน คุณใช้เวลาไปท่องเที่ยวรอบโลกหรือไปเรียน คุณสามารถเขียนลงไปในประวัติได้เหมือนกับเป็นการทำงานแบบหนึ่ง เพิ่มเข้าไปในไทม์ไลน์การทำงานได้เลยโดยอธิบายว่าช่วงนั้นไปทำอะไรอยู่
การระบุข้อมูลพวกนี้ทำให้ผู้รับสมัครงานรู้สึกว่าคุณใช้เวลาว่างไปเพิ่มพูนบางอย่างให้กับชีวิต “ผมต้องการทำงานกับคนที่พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นอยู่เสมอ” Church กล่าว ดังนั้น ข้อมูลพวกนี้จะบอกว่าคุณใช้เวลาพักไปสร้างการเรียนรู้หรือเสริมทักษะมาอย่างไร
ถ้าหากมีช่วงว่างงานที่ชัดมากในเรซูเม่ แต่ไม่มีคำอธิบายใดๆ Church กล่าวว่า “ผมก็จะทึกทักเอาว่าคุณคงใช้เวลาว่าง 3 ปีนี้ไปนั่งเล่นเกมอยู่บ้านเฉยๆ”
นอกจากข้อผิดพลาดใหญ่ๆ เหล่านี้ Church ยังแนะนำด้วยว่าการเขียนประวัติสมัครงานไม่ควรจะเขียนยืดยาวมากในแต่ละหัวข้อ ให้เขียนเนื้อล้วนๆ ไม่ต้องใส่น้ำ เพราะถ้าเขียนยาวเกินไปก็สะท้อนให้เห็นอีกว่าคุณสรุปความไม่เป็น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในการทำงานยุคนี้ที่ต้องติดต่อกันผ่านข้อความและต้องทำงานเร็ว
อ่านเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- LinkedIn เผยข้อมูลประกาศ “รับสมัครงาน” ตำแหน่งที่เกี่ยวกับ “ChatGPT” พุ่งขึ้น 21 เท่า
- วิธีรับมือ 7 คำถาม “สัมภาษณ์งาน” ที่คนสมัครงานมักจะต้องเจอ