3 สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเสพติด “ความเครียด” พฤติกรรมที่เกิดขึ้นทั่วไปมากกว่าที่ใครคิด

(Photo : Shutterstock)
“ความเครียด” แม้จะมีผลลบต่อชีวิตมากมาย แต่กลายเป็นว่าหลายคนสามารถ “เสพติด” ความเครียดได้จริงๆ จากการวิจัยโดยนักจิตวิทยา Harvard และการเสพติดความเครียดย่อมไม่เป็นผลดีต่อร่างกายในระยะยาว

Heidi Hanna นักประสาทวิทยา ให้ข้อมูลว่าความเครียดสามารถหลอกตัวเราเองได้ เพราะเมื่อเกิดความเครียดขึ้น สมองไม่ได้สั่งให้ร่างกายหลั่งเฉพาะฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมา แต่ยังหลั่งโดปามีนมาด้วย ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้เป็นสารเคมีแห่ง “ความรู้สึกดี” จึงทำให้สมองเราจดจำพฤติกรรมที่จะทำให้เกิดความรู้สึกดีนี้ไว้เพื่อทำซ้ำ

เธอกล่าวด้วยว่า ความเครียดสามารถสร้างภาวะเหมือน ‘เคลิ้มยา’ ได้ตามธรรมชาติ เพราะความเครียดจะไปกระตุ้นศูนย์กลางระบบประสาทที่เกี่ยวกับสิ่งกระตุ้นเร้าและความสนใจ หากเครียดติดต่อกันเป็นเวลานานก็จะทำให้ “เสพติดเหมือนกับการติดยา” ได้ด้วย

Debbie Sorensen นักจิตวิทยา Harvard ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะหมดไฟ (burnout) เสริมประเด็นนี้ว่า คนเรามักจะทำตัวให้ยุ่ง มีอะไรทำตลอดเวลาเพื่อหลีกเลี่ยง “อารมณ์ที่ไม่สบายใจ” ทั้งหลาย เช่น ความเบื่อหน่าย ความเหงา ความเศร้า ซึ่งทำให้การเสพติดความเครียดเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปมากกว่าที่ใครๆ คิด

อย่างไรก็ตาม ทุกคนทราบดีว่าความเครียดไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อร่างกายในระยะยาว อันตรายของการมีภาวะเครียดเรื้อรังคือโรคที่ติดตามมา เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคลำไส้แปรปรวน (IBS) รวมถึงปัญหาสุขภาพอื่นๆ

 

3 สัญญาณบ่งบอกว่าคุณกำลัง “เสพติด” ความเครียด

ถ้าคุณทำได้ดีเวลามีกำหนดเส้นตายส่งงานเร่งด่วน และรู้สึกผิดทุกครั้งที่พักจากการทำงาน คุณอาจกำลังเสพติดความเครียดอยู่ก็ได้

Sorensen กล่าวว่า การเสพติดความเครียดมักจะเกิดขึ้นในคนที่ชอบกดดันตัวเองให้ประสบความสำเร็จ ทำให้คนที่ทะเยอทะยานอยากประสบความสำเร็จมักมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะหมดไฟและภาวะเครียดเรื้อรัง

แต่ความกดดันจากสังคมก็มีผลกับการเสพติดความเครียดได้เหมือนกัน “วัฒนธรรมคลั่งการเพิ่มพูนประสิทธิผลของงาน คือตัวการที่สร้างให้ ‘ความเครียด’ เป็นดั่งเหรียญตราเกียรติยศ” Sorensen กล่าว “วัฒนธรรมแบบนี้ทำให้เรารู้สึกดีในอัตตาของตัวเองเมื่อเรายุ่งกับการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพราะเราตีความว่ายิ่งงานยุ่งมากเท่าไหร่ก็คือการประสบความสำเร็จมากเท่านั้น”

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังเสพติดความเครียดเข้าแล้ว? Sorensen กล่าวว่ามี 3 สัญญาณที่มักจะพบเห็นได้ในกลุ่มคนที่เสพติดความเครียด ได้แก่

  • หลีกเลี่ยงที่จะนอนพักหรือพักผ่อน
  • คอยเช็กโทรศัพท์ตลอดเวลา
  • ตอบ “ได้” กับทุกสิ่งทุกอย่าง

ผู้ที่เสพติดความเครียดมักจะเลือกผลักตัวเองเข้าไปสู่สถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความเครียด แม้จะมีทางเลือกในการหลีกเลี่ยง และถึงแม้ว่าทั้งร่างกายและจิตใจคุณจะ “ร้องขอให้หยุด” แล้วก็ตาม

Sorensen กล่าวเสริมว่า พฤติกรรมเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกด้วยว่าคุณกำลังอยู่ใน ‘Toxic Workplace’ ได้ด้วย โดยเป็นสังคมที่ทำงานเป็นพิษ ต้องการให้คุณทำเกินกำลังของตัวเองและต้องตอบสนองการทำงานได้ตลอดเวลา ซึ่งแปลว่าคุณอาจจะไม่ได้เสพติดความเครียด แต่คุณทำสิ่งเหล่านี้เพราะถูกบีบบังคับจากที่ทำงานมากกว่า หากตกอยู่ในสถานการณ์นี้ เธอขอแนะนำให้คุณพยายามขีดเส้นแบ่งระหว่างช่วงเวลาทำงานกับชีวิตส่วนตัว เพื่อทำให้ความเครียดลดลง

 

หยุดวงจรแห่งความเครียดอย่างไร

ยังไม่มีวิธีการตายตัวที่จะหยุดการเสพติดความเครียด แต่การออกกำลังกายและนั่งสมาธิถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะทั้งสองสิ่งนี้สามารถกระตุ้นการหลั่งสารแห่งความสุขคือฮอร์โมนโดปามีนและเอ็นโดรฟินได้

Sorensen กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญมากที่สุดคือแต่ละคนต้องสังเกตตัวเองว่าอะไรที่ทำให้เกิดความเครียด สังเกตว่าเครียดแล้วทำอะไรบ้าง เช่น ปัญหาการนอนหลับ ปัญหาการทานอาหาร เสียสมาธิ อารมณ์เปลี่ยนไป และปกติแล้วเราแก้เครียดอย่างไร อะไรที่ทำให้เครียดน้อยลง และอะไรทำให้เครียดหนักกว่าเดิม

สุดท้ายแล้วสิ่งเดียวที่จะทำให้หยุดวงจรนี้ได้ คือการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ตนเองโดยแก้ไขในจุดที่ทำให้เครียด เช่น เปลี่ยนพฤติกรรมการนอนหลับ เปลี่ยนพฤติกรรมหยุดรับผิดชอบมากเกินตัว

Source