JD.com เผย เตรียมแยก 7 ธุรกิจเข้าตลาดหุ้น ตั้งเป้าแต่ละบริษัทมีมูลค่า 1 แสนล้านหยวน

ภาพจาก Shutterstock

ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีจีนอย่าง JD.com ล่าสุดได้ประกาศแผนที่จะแยกธุรกิจออกมาเป็น 7 หน่วยธุรกิจ และเตรียมนำธุรกิจเหล่านี้เข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยตั้งเป้าว่า 7 ธุรกิจจะมีมูลค่าของแต่ละบริษัทไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านหยวน 

Sandy Xu ซึ่งเป็น CEO ของ JD.com ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีอีกรายในประเทศจีน ได้ประกาศว่าบริษัทเตรียมที่จะนำ 7 ธุรกิจหลักของบริษัทเข้าตลาดหุ้น โดยคาดว่าแต่ละบริษัทหลังจากแยกธุรกิจออกมาแล้วนั้นจะมีมูลค่า 1 แสนล้านหยวน หรือราวๆ 4.84 แสนล้านบาท

สิ่งที่ CEO รายนี้ได้เปิดเผยว่าจะแยกธุรกิจอยู่ในเป้าหมายของบริษัทในอีก 20 ปี ในชื่อ “35711 Vision” ซึ่งบริษัทวางเป้าว่าจะมีบรรดาธุรกิจลูกของ JD.com ติดรายชื่อ Fortune Global 500 หรือแม้แต่การตั้งเป้าว่าธุรกิจของบริษัท 3 ธุรกิจจะมีรายได้แตะ 1 ล้านล้านหยวนให้ได้

นอกจากนี้ CEO รายดังกล่าวยังตั้งเป้า 3 เรื่องหลักหลังจากนี้ ไม่ว่าจะเป็น การบุกตลาดเมืองรองในประเทศจีน การลุยตลาดต่างประเทศเพิ่ม และยังรวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและบริการของบริษัท

ก่อนหน้านี้ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สำนักข่าว Reuters ได้รายงานข่าวว่าบริษัทวางแผนที่จะนำธุรกิจลูกเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ได้แก่ JD Property ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับนิคมอุตสาหกรรม และคลังสินค้า ขณะที่ JD Industrial นั้นมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับ Supply Chain ให้กับบริษัทจีนและบริษัทต่างชาติ

จากข้อมูลในในเว็บไซต์ของบริษัท นอกจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิต ปัจจุบันธุรกิจหลักๆ ของ JD.com มีทั้ง E-commerce ทั้งในจีนและต่างประเทศ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ธุรกิจ Cloud ไปจนถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ AR/VR หรือแม้แต่ธุรกิจที่เกี่ยวกับความปลอดภัยด้านไซเบอร์ด้วย

การแยกธุรกิจย่อยของบริษัทเทคโนโลยีของจีนนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ก่อนหน้านี้ Alibaba ได้มีการประกาศที่จะนำ 6 ธุรกิจออกแยกออกมาเป็นบริษัทใหม่ แต่ละบริษัทจะมีการตั้งบอร์ดผู้บริหารเป็นอิสระ รวมถึงสามารถเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้

ปัจจุบันมูลค่าบริษัทของ JD.com ซึ่งรวมธุรกิจทุกอย่างภายในบริษัทนั้นอยู่ที่ 62,720 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 2.18 ล้านล้านบาท

กลยุทธ์ดังกล่าวบริษัทเทคโนโลยีในจีนต่างนำวิธีการดังกล่าวมาใช้ เนื่องจากการเข้ามาปราบปรามและควบคุมโดยหน่วยงานกำกับดูแลนับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา ซึ่งวิธีการดังกล่าวสามารถที่จะลดแรงกดดันจากหน่วยงานเหล่านี้ได้ ขณะเดียวกันก็ยังปลดล็อกมูลค่าของบริษัทเหล่านี้ ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ถือหุ้นอีกทางด้วย