การเปรียบเทียบหรือแข่งขันเล็กๆ กับเพื่อนร่วมงานอาจเป็นยาดีที่ทำให้เราพัฒนาตนเองได้เร็ว แต่การเปรียบเทียบที่มากเกินไปกลับจะกลายเป็นผลเสีย ทำให้เกิดความเครียดและย้อนมาทำร้ายตนเองแทน ต่อไปนี้เป็นข้อแนะนำวิธีคิด 3 ข้อจากนักจิตวิทยาเพื่อ “หยุดเปรียบเทียบ” ตนเองกับคนอื่น บรรเทาความกังวล
เคยมีความรู้สึกเครียดจากการเปรียบเทียบตัวเองกับคนรอบข้างไหม? เพราะรู้สึกว่าเมื่อเทียบแล้วตนเองประสบความสำเร็จน้อยกว่าคนอื่นที่อายุใกล้เคียงกัน ทั้งที่ถ้าคิดดูดีๆ แล้ว หน้าที่การงานที่ตนเองมีก็ดี ได้รับการยอมรับนับถือจากเพื่อนร่วมงาน และมีอนาคตเส้นทางอาชีพที่ชัดเจน
“อาร์ต มาร์กแมน” ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและการตลาดจาก University of Texas at Austin อธิบายว่า การเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นนั้นเป็น “การเปรียบเทียบทางสังคม” ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติของเราที่มักจะต้องการประเมินว่าเราทำได้ดีแค่ไหน
การเทียบตัวเองกับคนที่ดีกว่าเรา มักจะทำให้เรารู้สึกไม่พึงพอใจ และหากเรารู้สึกว่าเราไม่สามารถทำอะไรได้เลยเพื่อให้สถานการณ์ของเราเองดีขึ้นกว่านี้ ความรู้สึกไม่พอใจนั้นจะกลายเป็นความหงุดหงิดขมขื่น
กลับกัน หากเราเทียบกับคนที่ด้อยกว่า มักจะทำให้เราพึงพอใจ (หรืออาจถึงกับสบายใจ) แต่ข้อเสียคือมันอาจจะชะลอแรงกระตุ้นที่จะทำงานให้หนักขึ้นได้
ไม่ว่าจะเป็นทางไหน การเปรียบเทียบทางสังคมอาจเป็นผลร้ายกับเราได้ (มีข้อยกเว้นบ้างคือถ้าหากคุณมีการแข่งขันอย่างเป็นมิตรกับเพื่อนร่วมงานที่ความสามารถระดับเดียวกัน เมื่อเทียบกันแล้วแต่ละฝ่ายจะได้แรงกระตุ้นให้พัฒนา และทำให้ทั้งกลุ่มทำงานได้สำเร็จตามเป้า)
ถ้าหากคุณเริ่มรู้ตัวว่าการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นเริ่มเป็นผลร้าย ทำให้ชีวิตตกต่ำ นี่คือ 3 ข้อแนะนำวิธีคิดจากศาสตราจารย์มาร์กแมน เพื่อช่วยลดแรงกดดัน
1.มุ่งมั่นกับเส้นทางของตัวเอง
ปัญหาพื้นฐานของการเปรียบเทียบทางสังคมคือ มันเป็นการยอมรับให้ชีวิตคนอื่นเข้ามากะเกณฑ์เป้าหมายของเรา ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ทำให้การเปรียบเทียบกับคนที่ดีกว่าเป็นเรื่องน่าหงุดหงิดใจ ก็เพราะว่าคนคนนั้นได้บางอย่างมาในขณะที่คุณไม่มี
การไปเฝ้ามองแต่ความสำเร็จของคนอื่นนั้นก่อให้เกิดปัญหา อย่างแรกคือมันจะทำให้เราเริ่มไม่พอใจกับสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันและเคยมีความสุขกับมัน การได้รู้ว่าคนอื่นก้าวไปสู่ความสำเร็จอีกขั้นจะทำให้เราหมดสนุกกับสิ่งที่เคยทำ ปัญหาอีกอย่างคือ ความสำเร็จของคนอื่น แม้ว่าจะดูสวยงามแค่ไหน แต่อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เรามีความสุข
จะเป็นประโยชน์กว่าถ้าคิดถึงสิ่งที่ทำให้ ‘ตัวเราเอง’ มีความสุขและพึงพอใจ อาจจะเขียนรายการสิ่งสำคัญๆ ที่เราอยากจะทำหรืออยากจะประสบความสำเร็จ การใช้ชีวิตที่ตรงกับความเป็นตัวเอง ตรงกับเป้าหมายของตนเองนั้นจะมีคุณค่ามากกว่า
การมุ่งมั่นกับเป้าหมายของตนเอง จะทำให้เราสร้างเส้นทางของตัวเองในชีวิตได้ เหมือนกับการ “เลือกเส้นทางผจญภัยของตัวเอง”
2.ยินดีกับความสำเร็จของผู้อื่น
เมื่อรู้สึกตัวว่าตัวเองกำลังอิจฉาความสำเร็จของคนอื่นอยู่ จงพยายามจัดกรอบปฏิกิริยาของตัวเราเองเสียใหม่
ความอิจฉาเป็นอารมณ์ที่เรามีเมื่อใครสักคนมีหรือได้ทำในสิ่งที่คุณคาดหวังว่าตัวเราเองจะได้มาหรือได้ทำบ้าง หากเพื่อนร่วมงานได้เลื่อนตำแหน่งหรือได้รางวัลที่เราอยากจะได้ เป็นเรื่องธรรมชาติที่ความอิจฉาจะผลุบเข้ามา แต่แทนที่จะปล่อยอารมณ์ไว้อย่างนั้น ลองเปลี่ยนมายินดีกับเพื่อนอย่างจริงใจแทน
มีเหตุผลสองสามข้อที่ควรฝึกตัวเองให้ยินดีกับคนอื่น ข้อแรกคือ จริงๆ แล้วสถานการณ์ที่ความสำเร็จของคนอื่นจะมาขัดขวางเป้าหมายของเราเองนั้นมีน้อยมาก เหตุการณ์ที่เป็นไปได้คือเมื่อเราไปแข่งขันกีฬาแล้วจะมีแค่คนคนเดียวที่ได้เหรียญทอง แต่ในสายอาชีพการงานทั่วไป มีทางอื่นที่เดินไปเพื่อความสำเร็จได้เหมือนกัน และถ้าหากเราแสดงออกถึงความเจ็บใจอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก แต่ถ้าหากเราแสดงออกถึงความยินดี คนอื่นจะคิดถึงเราในฐานะสมาชิกที่ดีของสังคมการงาน และเมื่อเราประสบความสำเร็จบ้าง คนอื่นก็จะยินดีกับเรากลับคืน
อีกข้อดีหนึ่งคือ นิสัยหลายๆ อย่างเป็นการฝึกจากภายนอกสู่ภายใน ในช่วงแรกๆ ที่เราฝึกยินดีกับคนอื่นอาจจะรู้สึกเหมือนไม่จริงใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราจะรู้สึกว่ามันง่ายขึ้นในการยินดีกับคนอื่น เพราะเราได้ฝึกการแยกแยะความสำเร็จของเขากับของเราออกจากกันแล้ว
3.ซาบซึ้งกับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง
การจะเพิกเฉยไม่สนใจคนอื่นโดยสิ้นเชิงนั้นยากมาก เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้น สิ่งที่เราจะทำได้คือเปลี่ยนธรรมชาติของความรู้สึกที่มีต่อคนอื่น
วิธีที่ดีในการฝึกความคิดใหม่คือ การเขียนลิสต์รายการความรู้สึกขอบคุณหรือซาบซึ้งกับความช่วยเหลือของคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นคนที่คอยดูแลเรา เคยสั่งสอนเรา หรือสนับสนุนเราในที่ทำงาน
ความรู้สึกซาบซึ้งใจจะเป็นเหมือนยาต้านการเปรียบเทียบเชิงลบทั้งหลาย เพราะความรู้สึกนี้จะคอยย้ำเตือนว่าคนรอบตัวเรานี่แหละที่มีส่วนช่วยให้เราไปสู่ความสำเร็จ
อ่านเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติม
- รู้จัก ‘กฎ 20%’ ของ ‘Google’ กับการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เพื่อชิงความได้เปรียบในระยะยาว
- “ไปอยู่ต่างประเทศ” ทำให้ “เข้าใจตัวเอง” ดีขึ้น วิจัยพบประสบการณ์ต่างแดนดีต่อการพัฒนาตน