“ไปอยู่ต่างประเทศ” ทำให้ “เข้าใจตัวเอง” ดีขึ้น วิจัยพบประสบการณ์ต่างแดนดีต่อการพัฒนาตน

Emily in Paris / Netflix
งานวิจัยพบการ “ไปอยู่ต่างประเทศ” ทำให้ “รู้จักตัวเอง” ชัดเจนขึ้น บุคลิกภาพที่เข้าใจตนเองและมีความมั่นใจนี้ทำให้การตัดสินใจด้านเส้นทางอาชีพทำได้ดีกว่า คนในสังคมมองภาพลักษณ์ของตนได้ตรงตามที่เป็น

ทีมนักวิจัย 5 รายร่วมกันวิจัย พบว่าประสบการณ์การ “ไปอยู่ต่างประเทศ” ทำให้คนคนนั้น “รู้จักตัวเอง” ดีขึ้น และนำไปสู่บุคลิกภาพที่มั่นใจ เข้าใจตนเอง ทำให้ตัดสินใจการพัฒนาเส้นทางอาชีพการงานได้อย่างมั่นคงกว่า

งานวิจัยนี้เผยแพร่ใน Harvard Business Review มีเป้าหมายเพื่อสำรวจว่า ประสบการณ์ต่างแดนทำให้คนเรา “เข้าใจและนิยามตนเองได้อย่างชัดเจนและมั่นใจ มีความมั่นคงภายในจิตใจอย่างสม่ำเสมอ” หรือไม่

ความเข้าใจตัวเองนี้ จากการวิจัยที่ผ่านๆ มามักจะนำไปสู่สุขภาพจิตที่ดี จัดการความเครียดได้ดี และทำให้ศักยภาพการทำงานดีตามไปด้วย

 

เป็นนิสัยของเราจริงๆ หรือเป็นเพราะสิ่งแวดล้อม?

การวิจัยครั้งนี้มีการจัดทำ 6 รอบ รวมแล้วมีผู้เข้าร่วมวิจัย 1,874 คน โดยหลักแล้วจะแบ่งเป็น กลุ่มที่เคยใช้ชีวิตต่างแดน 3 เดือนขึ้นไป กับ ผู้ที่ไม่เคยไปใช้ชีวิตต่างแดนหรือไปในระยะสั้นกว่า 3 เดือน และมีการกระจายกลุ่มผู้เข้าร่วมวิจัยให้แตกต่างทั้งด้านอายุ เพศ สถานะการสมรส สถานะทางเศรษฐกิจ จนถึงประเภทบุคลิกภาพ

จากการสอบถามจะพบว่า ผู้ที่เคยไปอยู่ต่างประเทศมีความเข้าใจตนเองมากกว่าคนที่ไม่เคยไป

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? นักวิจัยพบว่า การไปอยู่ต่างประเทศทำให้คนคนนั้นได้ “ใคร่ครวญตัวตนที่สะท้อนออกมาของตนเอง” ว่าส่วนไหนที่เป็นลักษณะของตัวเองจริงๆ และส่วนไหนที่สะท้อนการบ่มเพาะจากวัฒนธรรมสังคมที่ตนเติบโตมา

การไปอยู่ต่างแดนจะมีโอกาสได้ใคร่ครวญในลักษณะนี้มากกว่าคนที่ไม่เคยไป เพราะว่าเมื่ออยู่ในสังคมที่คุ้นเคยที่บ้านเกิด คนที่อยู่รอบตัวก็มักจะแสดงพฤติกรรมในแบบเดียวกัน ทำให้ไม่เคยมีการตั้งคำถามว่าเราแสดงออกแต่ละอย่างออกไปเป็นเพราะตัวเราเองหรือเป็นเพราะสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ เมื่อคนเราไปอยู่ต่างประเทศ ในวัฒนธรรมใหม่ที่มีการให้คุณค่าและมีวิถีทางสังคมต่างออกไป ก็จะยิ่งทำให้คนคนนั้นเริ่มทบทวนคุณค่าและความเชื่อที่ตัวเองยึดถือเสียใหม่ และมักจะต้องเลือกว่าจะทิ้งความเชื่อนั้นไปหรือยิ่งยึดถือความเชื่อนั้นไว้มากขึ้น

 

ขึ้นอยู่กับระยะเวลา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนประเทศ

ในการวิจัยนี้ มีรอบวิจัยย่อยรอบหนึ่งที่ทีมทำการสุ่มตัวอย่างนักศึกษาระดับ MBA (ปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจ) 559 คนซึ่งมีค่าเฉลี่ยการใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศของทั้งกลุ่มที่ระยะเวลา 3 ปี

การวิจัยพบว่า คนที่มีระยะเวลาใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศยาวนานกว่า มีความสำคัญต่อการเข้าใจตนเองมากกว่าคนที่ไปอยู่มาแล้วหลายประเทศแต่ใช้เวลาสั้นๆ การเข้าใจตนเองไม่ได้ขึ้นอยู่กับการไปอยู่ในหลายวัฒนธรรม แต่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการอยู่อาศัย ซึ่งทำให้มีโอกาสเผชิญสถานการณ์ที่ทำให้ต้องทบทวนทำความเข้าใจตนเองมากขึ้น

 

เข้าใจตนเอง แสดงออกได้ตรงกับความเป็นตัวเอง

แล้วการเข้าใจตนเอง จะมีประโยชน์กับการทำงานอย่างไร? กลุ่มนักวิจัยมีการทดสอบกับนักศึกษา MBA จำนวน 544 คน ให้มีการประเมินตนเองและประเมินเพื่อนร่วมเรียนในแง่ของบุคลิกภาพและการเข้าสังคม

Group of Business People Working on an office Desk

ผลการศึกษานี้พบว่า คนที่เคยอยู่ต่างประเทศมักจะเข้าใจตนเองได้ตรงกับที่คนอื่นมองตนเองเช่นกัน ซึ่งเกิดจากการที่คนเราเมื่อเข้าใจตนเองแล้ว ก็มีแนวโน้มที่จะแสดงออกภาพลักษณ์นั้นให้คนอื่นเข้าใจได้เช่นกัน

การเข้าใจตนเองได้ดีนี้ยังมีประโยชน์กับการตัดสินใจด้านหน้าที่การงานด้วย ซึ่งปัจจุบันการตัดสินใจว่าจะไปต่อทางไหนดีในหน้าที่การงานของตน เป็นจุดเปลี่ยนที่คนส่วนใหญ่ตัดสินใจได้ลำบาก แต่การเข้าใจตนเองได้ดีจะทำให้คนเรา “เลือกเส้นทางอาชีพ” ได้ตรงกับจุดแข็งของตนเอง และเติมเต็มคุณค่าชีวิตที่ตนต้องการ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักวิจัยมองว่าการศึกษานี้ควรจะต่อยอดไปในมุมอื่นอย่างต่อเนื่องด้วย เพราะมีสมมติฐานเช่นกันว่า การไปอยู่ต่างประเทศมักจะทำให้เกิดประสบการณ์ ‘Culture Shock’ หรือความเครียดกังวลเนื่องจากอยู่ในสถานการณ์ที่สูญเสียสัญญะและการตอบโต้ทางสังคมในแบบที่คุ้นเคย

เป็นไปได้ว่าความกังวลจาก Culture Shock หากคนคนนั้นไม่สามารถเอาชนะความกังวลนี้ได้ จะทำให้การอยู่ต่างประเทศยิ่งทำให้คนคนนั้นรู้สึกแปลกแยก และเป็นประสบการณ์ที่สร้างความปั่นป่วนใจต่อคนบางคนจนไม่สามารถจะเข้าใจตนเองได้ และไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นเลย

(รายชื่อนักวิจัยทั้งหมด: Hajo Adam ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการจัดการจาก Rice University, Otilia Obodaru ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการจัดการจาก Rice University, Jackson G. Lu ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากวิทยาลัยการจัดการ Sloan MIT, William Maddux ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กร University of North Carolina at Chapel Hill และ Adam D. Galinsky หัวหน้าภาควิชาการจัดการ Columbia Business School)

Source