‘Digital Literacy’ ไม่ใช่แค่ “ข้อได้เปรียบ” แต่เป็นสิ่งที่ “ต้องมี” สำหรับพนักงานทุกตำแหน่ง

Digital Literacy
(Photo: Shutterstock)
ทักษะความเข้าใจและใช้งานดิจิทัลได้ หรือ Digital Literacy กลายเป็นสิ่งที่ “ต้องมี” สำหรับพนักงานทุกตำแหน่ง ทุกอุตสาหกรรมไปแล้ว ไม่ใช่แค่ “ข้อได้เปรียบ” ในการสมัครงานอีกต่อไป เพราะไม่ว่าจะทำงานอะไรก็หนีไม่พ้นความเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ดิจิทัลไม่มากก็น้อย

Digital Literacy ในสมัยก่อนหมายถึงต้องการพนักงานที่ส่งอีเมลเป็น พิมพ์งานบนคอมพิวเตอร์ได้ และมักจะเป็นแค่บางตำแหน่งที่ต้องใช้ให้เป็นและใช้คล่อง

แต่โลกทพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ปัจจุบัน Digital Literacy คือการมีทักษะที่จะตามโลกดิจิทัลให้ทันในวันที่การสื่อสารและการเข้าถึงข้อมูลต้องใช้เทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อยๆ

คอนเซ็ปต์ของทักษะนี้จึงเป็นความสามารถที่จะเข้าใจเครื่องมือดิจิทัลทั้งหมดที่มีในออฟฟิศ ไฮบริดออฟฟิศ หรือการทำงานทางไกลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ทำงานออนไลน์ร่วมกันแบบเรียลไทม์ ระบบแอปฯ แชทในที่ทำงาน หรือเครื่องมือทำงานดิจิทัลใดๆ ที่ออฟฟิศใช้งานอยู่

การมี Digital Literacy วันนี้จึงไม่ใช่ความสามารถว่าใช้งานโปรแกรมอะไรเป็นบ้าง แต่กลายเป็น ‘mindset’ หรือทัศนคติที่จะเรียนรู้เครื่องมือใหม่ได้ตลอด ไม่ว่าจะเจอกับเทคโนโลยีอะไรที่มาพร้อมกับตำแหน่งงานนั้นๆ ก็ต้องสามารถปรับตัวให้ใช้งานมันเป็น และปรับตัวได้ต่อเนื่องถ้าบริษัทมีการเปลี่ยนอุปกรณ์หรือวิธีการทำงาน

Photo : Shutterstock

“ทักษะนี้กลายเป็นทักษะสากลที่ต้องมีกันเกือบทุกคน” Ying Zhou ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านอนาคตการทำงานที่ University of Surrey ประเทศอังกฤษ กล่าว

รายงานจากรัฐบาลอังกฤษเมื่อปี 2019 พบด้วยว่า 82% ของประกาศรับสมัครงานออนไลน์ ต้องการคนที่มีทักษะดิจิทัลเป็นคุณสมบัติที่ต้องมี

Zhou กล่าวว่า พนักงานที่หยุดการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล มีความเสี่ยงที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง “ทุกครั้งที่เทคโนโลยีถูกพัฒนา ก็จะยิ่งผลักดันให้แรงงานต้องพัฒนาทักษะตาม กลายเป็นเหมือนการแข่งขันกันระหว่างการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาไปเร็วเท่าใด เราก็ยิ่งต้องพัฒนาทักษะตัวเองให้เร็วเท่านั้น การแข่งขันนี้จึงดันขีดจำกัดให้สูงขึ้นตลอดเวลา”

 

ทำไมทุกคนต้องมี Digital Literacy

“Digital Literacy เป็นคอนเซ็ปต์แบบกว้างๆ สิ่งนี้หมายถึงคุณสามารถทำงานกับอุปกรณ์ดิจิทัลได้ตั้งแต่งานง่ายๆ ไปถึงงานที่ซับซ้อนก็ทำได้” Zhou กล่าว “มันอาจจะเป็นไปได้ตั้งแต่ปรินท์เอกสารใบวางบิล ใช้งาน Word และ Excel เป็น หรืองานที่ซับซ้อนกว่านั้นอย่างการดีไซน์เว็บไซต์ วิเคราะห์ดาต้า และโค้ดดิ้งโปรแกรม”

งานวิจัยในศูนย์ฯ ของ Zhou พบว่า ตำแหน่งงานที่บอกว่าต้องการคนที่มีทักษะดิจิทัลนั้นเพิ่มสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะแม้แต่งานที่ไม่เกี่ยวกับเทคโนโลยีโดยตรง ก็ยังต้องใช้งานดิจิทัลให้เป็นแล้ว เช่น พนักงานในโกดังสินค้า ต้องเข้าใจระบบการจัดการบนคลาวด์, แพทย์ต้องใช้ระบบพบหมอทางไกลกับคนไข้ผ่านวิดีโอคอล, ผู้รับเหมาต้องก่อสร้างโครงการและประสานงานกับคนอื่นผ่านแอปพลิเคชันเฉพาะทางด้านก่อสร้าง เทคโนโลยีจึงไม่ใช่เรื่องเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเท่านั้น

อาชีพแพทย์ก็ต้องปรับตัวมาใช้เครื่องมือดิจิทัลใหม่ๆ

“สิ่งที่เคยเป็นเหมือน ‘โบนัส’ ในการสมัครงาน ขณะนี้เป็นคุณสมบัติสำคัญของทุกตำแหน่งงานแล้ว” Danny Stacy หัวหน้าฝ่ายทาเลนต์อัจฉริยะของ Indeed แพลตฟอร์มจ้างงานในลอนดอน กล่าว

ยิ่งนายจ้างเริ่มหันมาทำงานแบบไฮบริดหรือทำงานทางไกลได้มากขึ้นเท่าไหร่ ความต้องการพนักงานที่มีทักษะดิจิทัลก็ยิ่งมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของ Digital Literacy ไม่ได้แปลว่าพนักงานจะต้องใช้ซอฟต์แวร์เป็นทุกอย่างมาก่อนจะได้ทำงาน แต่ต้องมีความมั่นใจในทักษะดิจิทัลของตนเอง พร้อมที่จะ “อัปเกรด” กระตือรือร้น ยืดหยุ่น ปรับตัวที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ (และต้องทำให้ได้เร็วๆ ด้วย) รวมถึงมีทัศนคติที่ยอมรับว่าการมีอุปกรณ์ที่ถูกต้องจะทำให้การทำงานราบรื่นและพนักงานทำงานร่วมกันได้คล่องตัวกว่า

Zhou กล่าวด้วยว่า วิธีการที่พนักงานจะเรียนรู้ Digital Literacy ได้เร็วที่สุด ก็คือการเรียนรู้จากการทดลองทำและผิดพลาด การเรียนรู้จากเพื่อนพนักงานด้วยกันคือวิธีที่ดีที่สุด

Source