สภาพแวดล้อมในการทำงานมีผลสำคัญต่อวิธีการทำงานของเรา เมื่อพื้นที่รอบตัวยุ่งเหยิง เราก็จะเป็นแบบนั้นด้วย งานวิจัยพบว่าสภาวะกายภาพรอบตัวนั้นมีผลกับอารมณ์ความรู้สึกและพฤติกรรมของคน ส่งผลต่อเนื่องถึงการตัดสินใจและความสัมพันธ์กับผู้อื่น และโต๊ะที่ไร้ระเบียบนั้นมีผลลบทำให้ความเครียดและความกังวลสูงขึ้น
เราต้องเสียเวลาทำงานอันมีค่าไปหลายนาทีแค่เพื่อหาเอกสารให้เจอบนโต๊ะที่ยุ่งเหยิง แม้แต่กับการเก็บเอกสารดิจิทัลไม่เป็นระเบียบก็ตาม ผลการสำรวจพบว่าพนักงานต้องเสียเวลา 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อค้นหาเอกสารดิจิทัลที่ไม่รู้ว่าบันทึกไว้ตรงไหน
นั่นคือผลเสียทางตรงของความไร้ระเบียบ แต่ยังมีผลทางอ้อมตามมาด้วย ลิบบี้ แซนเดอร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กรที่ Bond University ออสเตรเลีย พบว่า สภาวะทางกายภาพรอบตัวมีผลสำคัญต่อการรับรู้ อารมณ์ความรู้สึก และพฤติกรรม กระทบต่อการตัดสินใจและความสัมพันธ์กับคนรอบตัว
โดยพื้นที่ที่ยุ่งเหยิงมีผลลบต่อระดับความเครียดและความกังวล และมีผลกับความสามารถในการตั้งสมาธิทำงาน การเลือกทานอาหาร หรือกระทั่งการนอนหลับ
งานวิจัยส่วนใหญ่มักจะมองความเป็นระเบียบในบ้านเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วความไร้ระเบียบที่สร้างความเครียดภายในออฟฟิศนั้นสร้างความเสียหายได้เช่นกัน
ความยุ่งเหยิงกระทบกับสมองและการทำงาน
คุณอาจจะคิดว่าคุณไม่เป็นไรที่จะมีแฟ้มล้นตู้เก็บเอกสาร หรือมีกระดาษกองเป็นตั้งอยู่บนโต๊ะ แต่นักวิทยาศาสตร์จาก Princeton University มีงานวิจัยออกมาว่า “สมองเราชอบความเป็นระเบียบ” และเมื่อมีภาพเตือนใจให้เห็นความไร้ระเบียบอยู่บ่อยครั้ง จะลดศักยภาพในการตั้งสมาธิทำงานของเรา
พวกเขายังพบด้วยว่า เมื่อผู้เข้าร่วมวิจัยจัดโต๊ะให้เป็นระเบียบ พวกเขาจะมีสมาธิมากกว่าและประมวลข้อมูลการทำงานได้ดีกว่า ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพทำงานเพิ่มขึ้น
กลับไปที่ที่อยู่อาศัย งานวิจัยพบด้วยว่า บุคคลที่รู้สึกว่ามีของในบ้านเยอะเกินไป มีแนวโน้มที่จะเป็นคนชอบ “ผัดวันประกันพรุ่ง” งานวิจัยอื่นๆ ยังพบผลที่สอดคล้องกัน คือ “บ้านรก” ส่งผลให้คนใช้กลยุทธ์หลบเลี่ยงปัญหามากขึ้น ซึ่งในงานวิจัยเหล่านี้เป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นกับที่ทำงานรกๆ ด้วย ทำให้พนักงานทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพระหว่างพักเบรก และเริ่มตั้งใจทำงานน้อยลง
- 2 เทคนิค ‘บริหารเวลา’ จาก CMO ‘Microsoft’ ที่เรียนรู้มาจาก ‘บิลล์ เกตส์
- กรณีศึกษา “จีเอเบิล” กับนโยบาย “Work from Anywhere” อะไรที่ “เวิร์กจริง” และอะไรที่ต้องปรับต่อไป
ความยุ่งเหยิงยังมีผลกับสุขภาพจิต ทำให้คนเราเครียด กังวล และซึมเศร้า งานวิจัยในสหรัฐฯ ย้อนไปเมื่อปี 2009 พบว่าคุณแม่ที่อยู่ในบ้านรกๆ จะมีฮอร์โมนคอร์ติซอลสูงกว่าแม่ที่อยู่ในบ้านเป็นระเบียบ ฮอร์โมนคอร์ติซอลในระดับสูงจะทำให้เกิดความกังวลและซึมเศร้า
เราจะแก้ปัญหาได้อย่างไร?
คำตอบง่ายๆ คือ หมั่นจัดที่ทำงานให้เป็นระเบียบ อย่าปล่อยให้มีของกองทับถมขึ้นไปเรื่อยๆ หากคุณทำงานที่บ้าน ควรจะมีที่นั่งทำงานประจำเพื่อให้สิ่งของสำหรับใช้ทำงานอยู่แยกกับของใช้ในบ้าน
สำหรับการดูแลปัญหานี้เป็น “ทีม” หรือในระดับองค์กร อาจจะมีการจัด “วันทำความสะอาด” เพื่อให้ทุกคนร่วมกันทำพร้อมๆ กัน ช่วยสร้างความสามัคคีในทีม และดึงคนที่ไม่ชอบการทำความสะอาดให้เข้าร่วมด้วย
ส่วนองค์กรที่มีนโยบายลดใช้กระดาษ ทำเอกสารออนไลน์ อาจมีความร่วมมือกับฝ่าย IT ในการสอนจัดระเบียบเอกสารดิจิทัล และทำความเข้าใจว่าเอกสารใดที่เก็บไว้และอะไรที่ลบทิ้งได้
ทั้งนี้ งานวิจัยทุกชิ้นไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับ “โต๊ะทำงานรก” ไปเสียหมด เพราะเคยมีการศึกษาพบว่าโต๊ะรกทำให้ “ความคิดสร้างสรรค์” ดีกว่าคนทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นระเบียบ เพราะความเป็นระเบียบทำให้คนไม่กล้าออกจากกรอบ ดังนั้น การจัดที่ทำงานอาจจะต้องสร้างสมดุลระหว่างการค้นหาความคิดสร้างสรรค์ และการสร้างสมาธิ ตั้งใจทำงาน ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง