เช็ก 3 สัญญาณที่บ่งชี้ว่าคุณอาจกำลัง ‘หมดไฟ’ ไม่รู้ตัว!

หลังจากตรากตรำทำงานมาจนเกือบจะหมดปีแล้ว เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้สึกเหนื่อยล้า และมีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ว่า คุณอาจจะหมดไฟ โดยที่เราไม่รู้ตัว ดังนั้น ไปเช็ก 3 สัญญาณบ่งชี้ว่า เราอาจกำลังจะหมดไฟ และควรรีบหาทางแก้ด่วน!

แน่นอนว่า ความเหนื่อยหน่าย หรืออาการ หมดไฟ ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ เพราะคำนี้ถูกประกาศใช้ครั้งแรกในปี 1970 เพื่ออธิบายถึงคนงานที่เหนื่อยล้าจากการทำงาน แต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว องค์การอนามัยโลก ยอมรับอย่างเป็นทางการว่า อาการหมดไฟเป็นปรากฏการณ์ทางอาชีพที่เกิดจาก ความเครียดในที่ทำงาน ที่ยังไม่ได้รับการจัดการ จนนำไปสู่ความเหนื่อยล้า, ขาดความรู้สึกสนุกหรือแรงจูงใจในการทำงาน ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด

“คุณอาจรู้สึกวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา โกรธหรือแค่เหนื่อยจริง ๆ คุณจะมีทั้งอารมณ์เชิงลบและอาการทางร่างกายของความเหนื่อยหน่าย” ดร.เวนดี้ ซูซูกิ นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าว

สำหรับใครที่เริ่มรู้สึกว่าตัวเองเหนื่อยล้าจากงาน ลองเช็ก 3 สัญญาณ เริ่มต้นตามที่ดร.เวนดี้ แนะนำ ได้แก่

  • เริ่มจะผัดวันประกันพรุ่ง
  • คิดฟุ้งซ่านอย่างต่อเนื่อง
  • ความเฉยชา

อาจฟังดูเหมือนการ ผัดวันประกันพรุ่ง เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าคุณเริ่มใช้เวลานานกว่าปกติเพื่อจะทำงานแต่ละชิ้นให้เสร็จ นั่นอาจหมายความว่าคุณอยู่ภายใต้แรงกดดันมาก และสมองของคุณไม่สามารถรับมือกับความเครียดต่อเนื่องได้ดี คุณเลยเลือกที่จะผลัดมันไปเรื่อย ๆ

“เราทุกคนยังคงฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในที่ทำงานและโรงเรียนในช่วงสองปีที่ผ่านมา”

และการที่ ไม่มีสมาธิ ในที่ทำงานเป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่ซ่อนอยู่ว่าคุณกำลังจะหมดไฟ การวิจัยในอดีตแสดงให้เห็นว่าความเหนื่อยหน่ายสามารถเปลี่ยนวงจรในสมองของคุณและทำให้โฟกัสยากขึ้น ทำให้ยากต่อการที่จะทำงานที่อยู่ตรงหน้าต่อไป

สุดท้าย ภาวะ เฉยชา เป็นหนึ่งในอาการที่ ใหญ่ที่สุด และมักถูกเข้าใจผิดมากที่สุด เพราะเราไม่จำเป็นต้องรู้สึกถึงอารมณ์เชิงลบภายในเพื่อให้รู้สึกหมดไฟ แต่ทัศนคติที่ว่า ช่างมัน ฉันไม่สนแล้ว ต่อสิ่งที่คุณเคยสนใจ เช่น งาน เหมือนกับว่าคุณไม่ได้ทำอะไรที่สำคัญ ไม่สนใจสิ่งรอบตัวหรือคนรอบตัว

(Photo : Shutterstock)

ทางแก้คือ ต้องรู้ตัวเอง

หนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการควบคุมอาการเหนื่อยหน่ายคือ การตระหนักรู้ในตัวเองมากขึ้น ว่าสิ่งใดที่กระตุ้นอารมณ์เชิงลบของคุณ เช่น ความโกรธ ความเศร้า หรือความกลัว และเลือกที่จะแสดงหรือระบายมันออกมาเมื่อมีอารมณ์ความรู้สึกดังกล่าว แทนที่จะข่มมันเอาไว้

“ครั้งต่อไปที่คุณรู้สึกเครียด วิตกกังวล หรืออารมณ์ด้านลบอื่น ๆ ให้ลองถามตัวเองว่า ความรู้สึกนี้มาจากไหน และทำไมมันถึงมาอยู่ในตอนนี้?”

เพราะการได้สัมผัสกับอารมณ์ที่หลากหลายมากขึ้นนั้นสำคัญมาก ยิ่งถ้าเราซ่อนมันไว้นานเกินไป พวกมันก็จะยิ่งแย่ลง และในที่สุดเราจะจัดการมันไม่ได้

ดังนั้น หากเริ่มรู้ตัวว่าอยู่ในภาวะหมดไฟ ทางที่ดีควรหานักบำบัดหรือที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตที่ผ่านการรับรอง ซึ่งสามารถช่วยคุณเชื่อมโยงจุดต่าง ๆ ระหว่างอาการของคุณกับสาเหตุของอาการเหนื่อยหน่ายที่คุณอาจประสบอยู่ รวมทั้งช่วยคุณวางแผนการดำเนินการเพื่อจัดการกับอาการเหนื่อยหน่ายนี้

Source