เงินเฟ้อญี่ปุ่นทำสถิติใหม่สูงสุดในรอบ 40 ปี ขณะที่ BOJ ยังยืนยันใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ

ภาพจาก Shutterstock

ญี่ปุ่นยังมีอัตราเงินเฟ้อทำสถิติใหม่ในรอบ 40 ปี อย่างไรก็ดีธนาคารกลางญี่ปุ่นเองก็ยังยืนยันที่จะใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายเหมือนเดิม และมองว่าเงินเฟ้อของญี่ปุ่นถ้าหากต้นทุนราคาพลังงาน หรือต้นทุนสินค้าลดลงก็จะส่งผลทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อลดลงได้

สำนักข่าว Reuters ได้รายงานถึงตัวเลขเงินเฟ้อญี่ปุ่นทำสถิติใหม่สูงสุดในรอบ 40 ปี หลังจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของญี่ปุ่นในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.6% และมากกว่านักวิเคราะห์ที่ Reuters สำรวจไว้ที่คาดการณ์ว่าตัวเลขดังกล่าวจะอยู่ที่ 3.5% เท่านั้น

ตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่นได้พุ่งสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 1982 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นทั่วโลกได้รับผลกระทบจากวิกฤติในตะวันออกกลางที่มีการสู้รบระหว่างอิหร่านและอิรัก ส่งผลทำให้ราคาพลังงานในช่วงดังกล่าวพุ่งสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่

โดยตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวยังสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่มองเป้าหมายเงินเฟ้อระยะยาวเพียงแค่ 2% เท่านั้น

อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาได้สร้างผลกระทบต่อชาวญี่ปุ่นไม่น้อย บริษัทเอกชนหรือผู้ประกอบการบางส่วนเองก็ได้ให้เงินชดเชยกับแรงงานของตัวเองไปบ้างแล้ว โดยบริษัทวิจัยในญี่ปุ่นได้คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นที่สูงขึ้นนั้นจะทำให้ครัวเรือนแต่ละแห่งที่มีสมาชิกตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปนั้นจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นถึง 120,000 เยน เมื่อเทียบกับปี 2021 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดีอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นนี้ ไม่ได้ทำให้ BOJ วางแผนที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเหมือนกับธนาคารกลางประเทศอื่น และยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำต่อไปได้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงในญี่ปุ่นนั้นเกิดจากต้นทุนผลัก (Cost Push Inflation) เนื่องจากต้นทุนสินค้าและพลังงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของญี่ปุ่นระยะยาวอยู่ที่ 0% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของญี่ปุ่นอยู่ที่ -0.1% และ BOJ ยังยืนยันที่จะใช้นโยบายนี้ต่อเนื่อง

นักเศรษฐศาสตร์มองว่าถ้าหากต้นทุนเหล่านี้ลดลง เช่น ราคาพลังงาน ราคาสินค้า ลดลงแล้ว ก็ทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อในญี่ปุ่นลดลงได้ทันที ขณะที่มุมมองเงินเฟ้อทั่วโลกนั้น IMF มองว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะเริ่มลดลงในปี 2024

ทางออกของรัฐบาลและธนาคารกลางญี่ปุ่นก็คือเตรียมที่จะเพิ่มอัตราเงินเดือนให้สูงขึ้นเพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งนโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่ต้องการผลักดันให้มีการขึ้นเงินเดือน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอีกทาง