รัฐบาลเตรียมเข็นแนวทางใหม่ๆ ในการหารายได้เพิ่มเติม หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งหนึ่งในมาตรการดังกล่าวก็คือการเก็บภาษีซื้อขายหุ้น โดยที่จะเริ่มต้นในปีหน้า หรือ 2566 เป็นต้นไป โดยคาดว่ารายได้จากการเก็บภาษีดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาหนี้สาธารณะได้
คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (29 พฤศจิกายน 2565) ได้เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะและกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ฉบับที่… พ.ศ. …. หรือการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
โดยภาษีหุ้นที่รัฐบาลเรียกเก็บนั้นจะเริ่มต้นในปี 2566 ที่อัตรา 0.05% ก่อน และการจัดเก็บภาษีจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนที่ 4 ถัดหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักลงทุน มีระยะเวลาให้ปรับตัว และจะปรับเพิ่มเป็น 0.1% ในปี 2567 เป็นต้นไปหลังจากที่กฎหมายบังคับใช้
มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นราวๆ 8,000 ล้านบาทในปี 2566 และราวๆ 16,000 ล้านบาทหรือมากกว่านั้นในปี 2567 เป็นต้นไป
สาเหตุที่ทำให้รัฐบาลต้องหันมาจัดเก็บภาษีซื้อขายหุ้น เนื่องจากปริมาณการซื้อขายหุ้นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วนั้นในแต่ละวันมีปริมาณไม่ต่ำกว่า 55,000 ล้านบาท และสูงสุดนั้นแตะระดับแสนล้านบาทด้วยซ้ำ ขณะเดียวกันรัฐบาลเองได้ใช้เม็ดเงินไปในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินและการคลัง ซึ่งปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยสูงกว่า 60% จึงทำให้รัฐบาลต้องหารายได้ใหม่ๆ มาชดเชยส่วนดังกล่าว
อย่างไรก็ดีแม้จะทำให้รัฐบาลไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ส่งผลต่อโมเมนตัมการลงทุนในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากภาระในการทำธุรกรรมซื้อขายหุ้นจะตกกับทั้งประชาชนไปจนถึงสถาบันการเงิน อาจทำให้ตลาดหุ้นไทยนั้นหมดเสน่ห์เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในทวีปเอเชีย
ภาษีหุ้นนั้นรัฐบาลไทยได้จัดเก็บครั้งสุดท้ายในช่วงปี 2534 และหลังจากนั้นมีการยกเลิกมาโดยตลอด เพื่อที่จะส่งเสริมการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น