-
“ไทยเวียตเจ็ท” สรุปการดำเนินงานปี 2565 ปีแห่งการขยายเส้นทางบิน คาดมีผู้โดยสารรวม 6.3 ล้านคน
-
ปี 2566 บุกหนักบินข้ามพรมแดน พลิกสัดส่วนไฟลท์ระหว่างประเทศเป็น 67% มากกว่าบินในประเทศ วางแผนเปิดรูท “อินเดีย” เบาะรองรับหากจีนไม่เปิดประเทศ
-
ตั้งเป้าผู้โดยสารปี 2566 ขึ้นไปแตะ 8 ล้านคน เพิ่มฟลีทเครื่องบินอีก 3 ลำ ลดปัญหาดีเลย์
2565 นับเป็นปีแห่งการฟื้นตัวของธุรกิจ “สายการบิน” โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังที่การระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มซาลง ทำให้การท่องเที่ยวคึกคัก รวมถึงสายการบิน “ไทยเวียตเจ็ท” ก็เช่นกัน
“วรเนติ หล้าพระบาง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียตเจ็ท สรุปผลการดำเนินงานช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ มีผู้โดยสารกับไทยเวียตเจ็ทไปแล้ว 5 ล้านคน และคาดว่าจนถึงสิ้นปีจะมีครบ 6.3 ล้านคน
ในแง่ของการขยายเที่ยวบิน ปัจจุบันไทยเวียตเจ็ทมีการบินในประเทศ 12 เส้นทาง ทำการบินเกือบ 100 เที่ยวบินต่อวัน อัตราผู้โดยสารต่อเที่ยว (load factor) อยู่ที่ 85%
ส่วนระหว่างประเทศมีการบิน 8 เส้นทาง ได้แก่ โฮจิมินห์ซิตี้, ดานัง, ฟูโกว๊ก, ดาลัด, สิงคโปร์, ฟุกุโอกะ, ไทเป และพนมเปญ รวมทำการบินระหว่างประเทศ 92 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ อัตราผู้โดยสารต่อเที่ยว (load factor) อยู่ที่ 75-80%
เป็นปีที่ไทยเวียตเจ็ทกลับมาขยายตลาดอย่างรวดเร็ว เฉพาะเที่ยวบินระหว่างประเทศที่มีการเพิ่มเส้นทางและความถี่ขึ้นถึง 7 เท่าในระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา และเที่ยวบินในประเทศนั้นเพิ่มเที่ยวบินจนเป็นสายการบินที่ครองมาร์เก็ตแชร์อันดับ 2 ของตลาด ด้วยสัดส่วน 20%
เส้นทางบิน “ต่างประเทศ” หัวใจการทำกำไร
วรเนติกล่าวต่อว่า การเน้นหนักเพิ่มเที่ยวบินระหว่างประเทศนั้นเป็นกลยุทธ์ที่ไทยเวียตเจ็ทจะทำต่อเนื่อง จากขณะนี้มีสัดส่วน 40% ในการทำการบินทั้งหมด จนถึงสิ้นปี 2566 เที่ยวบินระหว่างประเทศจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 67% พลิกสัดส่วนมากกว่าการบินในประเทศ และทำให้จำนวนผู้โดยสารบินระหว่างประเทศเติบโตมากกว่า 3 เท่า
“ปิ่นยศ พิบูลสงคราม” ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยเวียตเจ็ท อธิบายเพิ่มว่าทำไมไทยเวียตเจ็ทต้องปั้นพอร์ตเที่ยวบินระหว่างประเทศให้มากขึ้น
“การบินต่างประเทศคือการทำให้เครื่องบิน 1 ลำได้ใช้งานอย่างคุ้มค่า เพราะน้ำมันเครื่องบินจะใช้เยอะที่สุดคือช่วงเทกออฟและแลนดิ้ง รวมถึงค่าเสื่อมอะไหล่ของการบิน 1 ชม. กับ 5 ชม. ไม่ต่างกัน การได้บินนานๆ ต่อ 1 ไฟลท์จึงคุ้มค่ากว่า นอกจากนี้ การบินระยะไกลยังทำให้เครื่องบินมีโอกาสได้ใช้บินช่วงกลางคืนด้วย ต่างจากการบินสั้นในประเทศ ไม่มีผู้โดยสารต้องการมาขึ้นเครื่องดึกๆ แน่นอน ดังนั้น เราต้องทำไฟลท์ระหว่างประเทศให้ได้เยอะกว่านี้ เพื่อเพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบินต่อวัน” ปิ่นยศกล่าว
เหตุผลรองอีกส่วนหนึ่งคือการแข่งขันในประเทศค่อนข้างสูง ปิ่นยศกล่าวว่าช่วงหลังเปิดประเทศ แม้แต่สายการบินฟูลเซอร์วิสก็ลดระดับราคาลงมาแข่งขันกับโลว์คอสต์ แต่ถ้าเป็นรูทต่างประเทศ การลดราคาแข่งจะยากกว่า และบางเส้นทางที่ไทยเวียตเจ็ทเลือก มีดีมานด์สูง และเป็นเส้นทางบินของนักธุรกิจที่มีกำลังซื้อ ทำราคาได้ เช่น กรุงเทพฯ-สิงคโปร์, กรุงเทพฯ-พนมเปญ จึงมีโอกาสทำกำไรมากกว่า
ปี’66 เชียงใหม่-โอซาก้ามาแน่ เตรียมเพิ่ม “อินเดีย” เข้าแผนที่
นอกจากจะเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางเดิม เช่น กรุงเทพฯ-ไทเป, กรุงเทพฯ-พนมเปญ ยังจะมีเส้นทางใหม่ๆ เพิ่มมาในแผนของไทยเวียตเจ็ทด้วย ที่แน่นอนแล้วคือ กรุงเทพฯ-ดาลัด จะกลับมาบินวันพรุ่งนี้ (2 ธันวาคม 2565) เป็นวันแรกนับตั้งแต่เผชิญโควิด-19
อีกเส้นทางที่จะเริ่ม 1 กุมภาพันธ์ 2566 คือ เชียงใหม่-โอซาก้า เป็นเส้นทางใหม่ที่ไม่เคยบินมาก่อน วางราคาไม่เกิน 8,000 บาทต่อคนต่อเที่ยว (ไม่รวมน้ำหนักกระเป๋า)
“เชื่อว่าเส้นทางนี้จะได้ทราฟฟิกคนโอซาก้าหรือคนญี่ปุ่นมาเที่ยวเชียงใหม่เป็นหลักราว 80% อีก 20% จะเป็นคนไทยภาคเหนือออกไปเที่ยวญี่ปุ่น” วรเนติกล่าว
สำหรับเส้นทางบินอื่นๆ ที่เป็นเป้าหมายของไทยเวียตเจ็ท ได้แก่ ประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียน อินเดีย และเกาหลีใต้
- Emirates ชี้สายการบินอาจได้เห็นคลื่นนักท่องเที่ยวจีนนานหลายปี ถ้าหากจีนเปิดประเทศ
- หลายสายการบิน นำเครื่องบิน Airbus A380 กลับมาใช้งานอีกครั้ง หลังผู้โดยสารมีจำนวนมาก
ปิ่นยศกล่าวว่า ที่คาดว่าน่าจะได้บินเร็วๆ นี้แน่นอนคือ “อินเดีย” อยู่ระหว่างรอรับใบอนุญาตสิทธิการบินจากทางอินเดีย โดยเตรียมรูทบินไว้ 3-4 เส้นทาง บินสู่เมืองมุมไม, อาห์เมดาบัด, ชัยปุระ และลัคเนา
เส้นทางบินอินเดียนี้ถือเป็นเป้าหมายสำคัญ เพราะอาจได้เป็นตลาดทดแทน “จีน” ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจะเปิดประเทศได้เมื่อไหร่ แม้จะคาดการณ์กันว่าน่าจะเปิดประเทศได้ภายในไตรมาส 2 ปีหน้าก็ตาม
ปีหน้าขอแตะ 8 ล้านคน สั่งเครื่องเพิ่ม 3 ลำ
วรเนติสรุปเป้าหมายปี 2566 จะดันจำนวนผู้โดยสารเพิ่มเป็น 8 ล้านคน และจากการเพิ่มเที่ยวบิน ทำให้สายการบินมีการเพิ่มจำนวนเครื่องบินอีก 3 ลำ รวมเป็น 20 ลำในฟลีท
ช่วงที่ผ่านมา 2-3 สัปดาห์ วรเนติยอมรับว่าไทยเวียตเจ็ทมีปัญหาการดีเลย์กลับมาอีกครั้งเพราะจำนวนเครื่องบินไม่เพียงพอ หลังจากมี 1 ลำต้องพักซ่อมแซมเครื่อง และอีก 1 ลำที่คาดว่าจะเติมฟลีทได้กลับได้รับอนุญาตบินล่าช้ากว่ากำหนด แต่เมื่อได้เครื่องบินกลับมาเต็มพอร์ต น่าจะทำให้ปัญหาดีเลย์หมดไป
ถ้าหากทำได้ตามแผน ทั้งการขยายเส้นทางและดึงผู้โดยสารได้ตามเป้า วรเนติเชื่อว่าสายการบินจะพลิกมาทำกำไรได้ในปีหน้า!