ชั่งน้ำหนัก ‘หุ้นจีน’ วิกฤตหรือโอกาสอยู่ตรงไหนให้ลงทุน

โดยตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth
‘จีน’ พี่ใหญ่แดนมังกรของเราได้สร้าง Big Surprise ด้วยการประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ลง ซึ่งไม่ใช่แค่ชาวจีนท้องถิ่นเท่านั้นที่จะดีใจไปกับการผ่อนปรนกฎเกณฑ์ครั้งนี้ที่ช่วยลดความยุ่งยากในการใช้ชีวิตประจำวันลงชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศจีนก็พลอยยินดีไปด้วย

หลังการประกาศข่าวดีนี้ตลาดหุ้นจีนรวมถึงตลาดในภูมิภาคต่างก็เด้งรับปัจจัยบวกกันยกใหญ่ อานิสงส์นี้ยังส่งผลไปถึงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งของจีนและสกุลภูมิภาคที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทของไทยก็ตามน้ำแข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 3 เดือน

Big Surprise ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ทำให้ตลาดพากันคาดเดาว่า จีนจะเดินหน้าไปสู่การ เปิดประเทศเป็นสเต็ปต่อไป โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าจีนมีโอกาสเปิดประเทศในช่วงเดือนมีนาคมเมษายนปี 2566 และจะค่อยๆ ฟื้นเศรษฐกิจประเทศให้กลับมาเติบโตอีกครั้ง หลังจากที่เศรษฐกิจจีนต้องหยุดชะงักไปพักใหญ่กับนโยบายโควิดเป็นศูนย์หรือ Zero Covid วันนี้ผมจึงมาชวนคุยกันครับว่า มังกรจีนจะนำพาเศรษฐกิจเดินต่อไปในทิศทางใด

ผ่อนคลายเกณฑ์โควิด

นอกจากทางการจีนจะผ่อนคลายมาตรการกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศลงแล้ว จีนยังลดวันกักตัวของคนที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ (Secondary Contact) ลงจาก 7 วันเหลือ 5 วันในสถานที่กักตัวของรัฐและอนุญาตให้กักตัวที่บ้านได้ 3 วันนอกจากนี้ ทางการยังได้ยกเลิกมาตรการบันทึกประวัติของผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ นั่นหมายความว่าหลายคนอาจไม่ต้องกักตัว นอกจากนี้ทางการจีนยังยกเลิกมาตรการลงโทษสายการบินที่ขนส่งผู้โดยสารติดเชื้อเข้าประเทศอีกด้วย

หลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน China’s National Health Commission (NHC) ทางการจีนก็ได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดดังกล่าวในวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมาแม้ก่อนหน้านั้นจีนต้องเจอกับการระบาดระลอกใหม่ในเมืองปักกิ่ง กว่างโจวและเจิ้งโจวหลังจากที่กลับมาเปิดเมืองโดยยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ 28,883 รายแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่การระบาดในช่วงเดือนเมษายน 2565

covid china
Photo : Shutterstock

โดยเมืองกว่างโจวพบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุดที่ 8,459 ราย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่แต่เป็นการล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่เสี่ยงแตกต่างกับช่วงกลางปีที่มีการล็อกดาวน์ทั้งเมือง

การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดลงมาทำให้ตลาดหุ้นจีนเซี่ยงไฮ้และฮ่องกงตอบรับสัญญาณบวกนี้ทันทีโดยผลตอบแทนตั้งแต่วันที่ 1 – 22 พฤศจิกายน 2022 ดัชนีหุ้นบลูชิพของจีน CSI 300 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.43%, ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตเพิ่มขึ้น 6.76%, ดัชนีฮั่งเส็งของฮ่องกงพุ่งขึ้น 18.67% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 7 เดือนนับจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมาขณะที่ดัชนีหุ้นเทคโนโลยีดีดตัวขึ้นถึง 23.24%

ตลาดมองว่าทางการจีนจะค่อยๆ ผ่อนคลายเกณฑ์ลงอีก โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจีนอาจยกเลิกมาตรการ Zero Covid และเปิดประเทศได้ในช่วงกลางปีหน้า ถ้าเป็นเช่นนั้นดัชนีตลาดหุ้นจีนมีโอกาสดีดตัวได้ถึง 20%

นอกจากปัจจัยภายในประเทศแล้วตลาดหุ้นจีนก็ยังได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าที่คาดตลาดหุ้นจีนจึงได้รับแรงหนุนถึง 2 เด้งเลยนะครับ

ปีหน้าเศรษฐกิจจีนฟื้น

สำนักวิจัยของโกลด์แมนแซคส์กรุ๊ปได้ออกรายงานมุมมองเศรษฐกิจจีนฉบับล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนหลังทางการจีนประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดโดยสมมติฐานเบื้องต้นโกลด์แมนแซ็คส์ประเมินว่าจีนจะกลับมาเปิดประเทศได้อีกครั้งในเดือนเมษายน 2566 แต่การเปิดประเทศของจีนอาจยังไม่ได้สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 มากนัก

โดยมองว่า GDP ในไตรมาส 2 น่าจะโตได้เพียง 2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในระยะแรกของการเปิดประเทศอาจทำให้จำนวนผู้ติดชื้อในจีนเพิ่มสูงขึ้น ทำให้จีนยังต้องใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดอยู่และจีนยังต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้นหลังจากนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อน่าจะทยอยลดลงได้ในครึ่งปีหลัง

ดังนั้นในครึ่งหลังของปี 2566 ไปจนถึงปี 2567 จึงเป็นจังหวะที่รัฐบาลจะเร่งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกครั้งในขณะที่ชาวจีนก็เรียนรู้และปรับตัวกับสถานการณ์โรคระบาดได้ดีขึ้นและจะทำให้เศรษฐกิจจีนค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นได้ตามลำดับ

โดยคาดว่า GDP ในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 มีโอกาสโตได้ถึง 10% หลังจากนั้นจีนจะค่อยๆ กลับเข้าสู่การดำเนินนโยบายแบบปกติทำให้ตัวเลข GDP หย่อนลงเหลือ 6% ในไตรมาส 4 และตัวเลขการเติบโตทั้งปี 2566 คาดว่าจะอยูที่ 4.5% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 3% เมื่อมองข้ามช็อตไปถึงปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติด้วยอัตราการเติบโต 5.3%

ภาพจาก Shutterstock

แม้ในปี 2565 นี้สำนักวิจัยส่วนใหญ่ฟันธงว่าจีนคงไม่สามารถไปถึงฝั่งฝันด้วยตัวเลข GDP ที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ที่ 5.5% โดยในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาตัวเลข GDP ของจีนโตได้เพียง 3.9% ซึ่งสาเหตุหลักมาจากนโยบาย Zero Covid นั่นเอง ที่กดทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อมๆ กันและก่อนที่ทางการจะประกาศการผ่อนคลายเกณฑ์​ควบคุมโควิดจำนวนผู้ติดเชื้อก็เพิ่มสูงขึ้นมาอีกระลอกดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตเศรษฐกิจแดนมังกรในไตรมาสที่ 4 ปีนี้จะทรุดตัวลงมาเหลือเพียง 1.2%

ในขณะที่ซีกโลกตะวันตกกำลังสาละวนอยู่กับการแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นมาสร้างสถิติใหม่ในรอบหลายสิบปีด้วยเครื่องมือขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างร้อนแรงไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ อังกฤษหรือกลุ่มยูโรโซนแต่ปัญหาเหล่านี้ห่างไกลเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อย่างจีน โดยคาดว่า Core CPI ของจีนจะขยับขึ้นมาเพียงเล็กน้อยจากระดับ 0.7% ในปีนี้มาอยู่ที่ 1.2% ในปีหน้าและจีนจะยังสามารถใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายได้ต่อไปซึ่งมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2% ได้ในปีหน้า

ถ้าวัดจากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศแล้วละก็จีนยังมีศักยภาพเติบโตได้อีกมากโดยไม่ต้องสงสัยเลยนะครับแต่ในระยะหลังภาครัฐหันมาให้น้ำหนักกับความมั่นคงมากกว่าการเติบโต เพราะจีนสามารถสั่งสมการเติบโตและสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจมาได้อย่างแข็งแกร่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ในทางกลับกันการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจก็ได้สร้างความไม่สมดุลย์ในบางจุด ทำให้ทางการต้องชะลอการเติบโตไว้ก่อน และเน้นเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับจุดเปราะบางเหล่านั้นเพื่อสร้างการเติบโตอย่างสมดุลเท่าเทียมมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว

ปัจจัยลบยังปกคลุม

แม้การเปิดประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจจีน แต่ก็ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักเช่นกัน เพราะการเปิดประเทศยังมีความไม่แน่นอนสูงมีเพียงการคาดเดาจากตลาดเท่านั้น แต่ยังไม่มีสัญญาณตอบรับใดๆ จากทางการจีนไม่ว่าการออกจากนโยบาย Zero Covid หรือนโยบายเปิดประเทศขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ของผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 70% จึงยังเป็นปัจจัยกดดันต่อการเปิดประเทศของจีนและทางการจีนยังต้องชั่งน้ำหนักในประเด็นดังกล่าว

การบริโภคภายในประเทศนับเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน ด้วยขนาดประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดในโลกกว่า 1,400 คน เมื่อจีนเปิดประเทศคาดว่าการจับจ่ายใช้สอยจากคนท้องถิ่นเองจะเพิ่มสูงขึ้นรวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะเข้าไปช่วยเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยด้วย ในขณะเดียวกันความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้คนในประเทศก็อาจถูกกดดันจากปัญหาของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเปราะบางอยู่

Photo : Shutterstock

นอกจากนี้ ภาคการส่งออกของจีนก็จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างชัดเจนในปีหน้าเช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศทั่วโลกขณะที่ภาวะถดถอยในเศรษฐกิจหลักของโลกทั้งสหรัฐฯอังกฤษและยุโรปก็ส่งสัญญาณเข้มขึ้นเรื่อยๆ

ที่สำคัญจีนน่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ไปเต็มๆ จากปัญหา Trade War ระหว่างสหรัฐฯ และจีนซึ่งล่าสุดก็นำไปสู่ Chip War แพ็กเกจกีดกันทางการค้าชุดใหม่ของสหรัฐฯ ที่ห้ามส่งออกชิป และอุปกรณ์การผลิตชิปไปยังประเทศจีน และหากสหรัฐฯ เอาจริงในเรื่องนี้แล้วละก็หนีไม่พ้นที่ภาคการผลิตของจีนจะถูกกระทบจากสงครามการค้าระลอกใหม่

อย่างที่เราทราบกันดีนะครับว่าความขัดแข้งของ 2 พี่เบิ้มอย่างสหรัฐฯ และจีนเริ่มมาจาก Trade War ขยายไปสู่ Tech War และกำลังอัพเลเวลขึ้นมาสู่การแบ่งขั้วมหาอำนาจของโลกอย่างชัดเจนจนกระทบมาถึงประเทศเล็กๆ อย่างเราๆ ที่ต้องเลือกข้างกันละครับ

ฝันให้ไกล-เล่นให้ใหญ่

อีกเรื่องระหว่างสหรัฐฯ และจีนซึ่งกำลังเป็นที่จับจ้องของคนทั่วโลก เรากำลังลุ้นกันว่าตำแหน่งมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลกอาจจะย้ายฝั่งจากสหรัฐฯ มาเป็นจีนได้ในอนาคตอันไม่ไกลนี้ และด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม 5 ปี ฉบับที่ 14 ของจีนระหว่างปี 2564 – 2568

สะท้อนให้เห็นถึงความฝันอันยิ่งใหญ่ของจีนซึ่งปัจจุบันรั้งตำแหน่งเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกที่จะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกแทนที่สหรัฐฯ ทั้งด้านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ความมุ่งมั่นอันแรงกล้านี้ยังสนับสนุนด้วยนโยบาย Made in China 2025 ที่จีนวาดหวังจะเปลี่ยนสถานะจาก โรงงานของโลกมาเป็น ผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลก

Photo : Shutterstock

ด้วยฝันที่ (ไม่) ไกลนี้ จีนเล่นใหญ่ด้วยการเพิ่มงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาขึ้นมาเป็นสัดส่วน 7% ของ GDP ต่อปีซึ่งจีนใช้งบประมาณในด้านนี้มากสุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ ขณะที่ในปี 2564 จีนมีรายจ่ายด้านวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีคิดเป็น 76% ของรายจ่ายด้านวิจัยและพัฒนาทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 50% ในปี 2555

การทุ่มเทสรรพกำลังต่างๆ ทั้งกำลังเงินกำลังคนและการสนับสนุนจากภาครัฐในการพัฒนาเทคโนโลยีจีนอย่างจริงจัง ทำให้บริษัทเทคโนโลยีของจีนเติบโตโดดเด่นจนก้าวขึ้นมาเทียบชั้นยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ ได้ในเวลาเพียงไม่กี่ปีแต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ จีนต้องผ่านการล้มลุกคลุกคลานบนเส้นทางของการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาอย่างสาหัส

มาตรการไล่เช็กบิลอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีนที่กวาดต้อนบริษัทเทคฯ น้อยใหญ่เข้าสู่การดำเนินธุรกิจด้วยหลักธรรมาภิบาล เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทางการที่จะพัฒนาธุรกิจเทคฯ จีนให้ทะยานขึ้นสู่ผู้นำระดับโลกได้อย่างแข็งแกร่ง และสามารถรักษาการเติบโตให้ทอดยาวไปได้อีกไกลในอนาคต

มาดูความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยีของคนจีนกันบ้าง ถึงจีนจะมีประชากรจำนวนมากที่สุดในโลกแต่ความเหลื่อมล้ำทางด้านเทคโนโลยีถือว่าต่ำทีเดียวโดยประชากรจีนกว่า 1,032 ล้านคน สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ขณะที่จีนก็มีผู้ใช้สมาร์ตโฟนกว่า 953 ล้านคน และกำลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ล้ำหน้าไปกว่านั้นคือจีนมีโครงข่ายเสาสัญญาณ 5G มากที่สุดในโลกทำให้จีนมีฐานการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้เปรียบประเทศอื่น

ยิ่งไปกว่านั้นจีนยังเป็นผู้นำสินค้าเทคโนโลยีระดับโลกในหลายหมวดหลายแบรนด์ที่เราคุ้นชื่อกันเป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็น Huawei ZTE Xiaomi DJI Lenovo และ Oppo รวมถึงธุรกิจเทคฯจีนที่เข้ามาเป็นผู้เล่นรายใหญ่ของโลกเช่น Alibaba Tencent และ Bytedance เจ้าของแพลตฟอร์ม TikTok นอกจากนี้จีนยังมีบริษัทสตาร์ตอัประดับ Unicorn ที่มีมูลค่ากิจการสูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐมากถึง 312 บริษัท

ด้วยพื้นฐานที่แข็งแกร่งขนาดนี้คงไม่ยากที่จีนจะก้าวขึ้นมาสู่มหาอำนาจด้านเทคโนโลยีระดับโลกหากคุณต้องการข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นเทคฯจีนหรือการลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติมสามารถเข้าไปศึกษาได้ที่ https://jitta.co/3hzgEYA

ผมขอเตือนเบาๆ ว่าอย่าศึกษานานไปนะครับตลาดหุ้นจีนปีนี้ได้รับแรงกดดันจนปรับตัวลงมาค่อนข้างมากแล้วหากเราใช้โอกาสนี้เริ่มทยอยสะสมก็จะช่วยให้ต้นทุนการลงทุนของเราอยู่ในระดับที่ไม่สูงเกินไปเพื่อรับโอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคตแบบก้าวกระโดดเชียวครับ