การขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญที่จะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ต้องมีการรวมพลังจากทุกภาคส่วน โดยทรู ดิจิทัล พาร์ค สถานที่บ่มเพาะสตาร์ทอัพ ได้ร่วมกับบริษัท นิวเอนเนอร์จี้ เน็กซัส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดโครงการ “Decarbonize Thailand Startup Sandbox” หรือ DTS พื้นที่โอกาสสำคัญสำหรับองค์กรชั้นนำและสตาร์ทอัพในการทดสอบนวัตกรรมเพื่อเร่งความเร็วให้อุตสาหกรรมของไทยบรรลุเป้าหมายในการลดคาร์บอน พร้อมสร้างอุตสาหกรรมใหม่จากคาร์บอนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย (Thailand’s Zero Carbon Economy) รองรับความยั่งยืนในระยะยาว
โดยพันธมิตรองค์กรชั้นนำของไทยที่ให้การสนับสนุนโครงการ “Decarbonize Thailand Startup Sandbox” ประกอบด้วย กลุ่ม บี.กริม, เครือเจริญโภคภัณฑ์, บมจ.ไออาร์พีซี, บมจ. ปตท., บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า การมีพื้นที่เชื่อมต่อสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพกับภาคอุตสาหกรรม จะช่วยให้องค์กรก้าวสู่เป้าหมายการลดคาร์บอนได้เร็วยิ่งขึ้น จากไอเดียและนวัตกรรมใหม่ ๆ ของเหล่าสตาร์ทอัพ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีและมีความคล่องตัวสูง ทำงานได้รวดเร็ว ทำให้องค์กรลดระยะเวลาในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพได้ทำงานร่วมกับองค์กรชั้นนำ เพื่อให้เข้าใจกระบวนการทำงานรู้ถึงปัญหาและพัฒนานวัตกรรมมาตอบโจทย์ความต้องการในเชิงพาณิชย์ได้ดียิ่งขึ้น
กลุ่ม บี.กริม พร้อมต่อยอด พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการตอบโจทย์ตลาด
นายนพเดช กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานการลงทุน นวัตกรรม และความยั่งยืน กลุ่ม บี.กริม กล่าวว่า ได้ร่วมส่งเสริมสตาร์ทอัพในโครงการจำนวน 2 บริษัท ที่ต่างสร้างเทคโนโลยีตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมในการมุ่งไปสู่การลดคาร์บอน ได้แก่ PAC Corporation จากประเทศไทย เป็นผู้พัฒนาและสร้างโซลูชั่นด้านพลังงานในระบบปรับอากาศ และการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม และ ANNEA จากประเทศเยอรมนี มุ่งเน้นเรื่องการสร้างประสิทธิภาพการผลิตพลังงานหมุนเวียน ด้วยเครือข่ายอัจฉริยะ ซึ่งทั้งสองรายต่างมีผลิตภัณฑ์และบริการที่ดี แต่อาจจะยังไม่ตอบโจทย์ตลาดทั้งหมด จึงแนะนำให้จัดทำ Innovation framework ทบทวนแผนกลยุทธ์การทำตลาด ปรับให้มีความเหมาะสมกับตลาด ร่วมค้นหาจุดเด่นเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ พร้อมกับใช้ Voice of Customer (VoC) ในการประเมินผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์และบริการตอบโจทย์ตลาดและกลุ่มลูกค้า โดยมีแผนต่อยอดพัฒนาสตาร์ทอัพ ทั้งการพัฒนาแพคเกจโซลูชั่น ในรูปแบบพันธมิตรทางธุรกิจ หรือการทำร่วมลงทุน (Joint ventures) ต่อไป
“กลุ่ม บี.กริม มีนโยบายมุ่งไปสู่ net zero ในปี 2050 โดยการมุ่งไปสู่การสร้างพลังงานสะอาด พลังงานทดแทนทั้ง การใช้โซลาร์เซลล์ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงได้ส่งเสริมพื้นที่ปลูกป่า พร้อมร่วมพัฒนาเทคโนโลยีในการกักเก็บคาร์บอนจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าไอน้ำ ตลอดจนการร่วมสนับสนุนตลาดซื้อขายคาร์บอน ซึ่งการร่วมหาโซลูชั่นขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 และ Net-Zero ภายในปี 2065 ตามนโยบายของรัฐบาล จำเป็นต้องใช้การร่วมมือจากหลายภาคส่วน และต้องเลือกใช้เทคโนโลยีให้มีความเหมาะสมมากที่สุด โดยในปัจจุบันมีหลายเทคโนโลยีที่กำลังศึกษา แต่ต้องเป็นเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม ตอบโจทย์ภาคประชาชน และมีต้นทุนที่เหมาะสม ซึ่งบริษัทก็จะเดินหน้าผลักดันในเรื่องนี้ต่อเนื่องในทุกปี” นายนพเดช กล่าว
“ซีพี” ชี้พื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้และไอเดียระหว่างองค์กรและสตาร์ทอัพ
ด้านนายสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า การได้เข้าร่วมในงาน DTS ทำให้เห็นไอเดียใหม่ ๆ จากสตาร์ทอัพทั้งของไทยและต่างประเทศ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอย่างมาก และมีแนวคิดเชื่อมโยงกับการก้าวสู่ Net Zero ได้เกินความคาดหมาย แต่สิ่งที่นำเสนอบางอย่างก็ยังไม่ตอบโจทย์ขององค์กรทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การได้ทำงานร่วมกันจะทำให้สตาร์ทอัพมีความเข้าใจและเห็นภาพการทำงานขององค์กรขนาดใหญ่มากขึ้น รวมถึงได้มุมมองและโจทย์ เพื่อสตาร์ทอัพจะได้นำไปพัฒนาโซลูชั่นใหม่ ๆ มาตอบโจทย์ในเชิงพาณิชย์ เพราะเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันบางอย่างยังมีข้อจำกัดทางเทคนิค และไม่เพียงพอสำหรับการบรรลุเป้าหมาย Net Zero จึงต้องมีการพัฒนาเพิ่มจึงจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้น
“ประโยชน์หลัก ๆ ที่ได้จากเวทีในลักษณะนี้จะเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างองค์กรกับสตาร์ทอัพ และได้พัฒนาความสามารถพิเศษ คนในองค์กรก็ได้ up skill และ re skill หากมีการลงทุนต่อยอดก็ได้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ สร้างโอกาสทางธุรกิจทำให้มีการจ้างงานเกิดขึ้น และองค์กรที่เฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ มาร่วมงานก็ไม่ต้องเสียเวลาในการคัดเลือก เพราะมีการสกรีนมาแล้วระดับหนึ่ง ซึ่งเครือซีพีเปิดพื้นที่ให้กับสตาร์ทอัพอยู่แล้ว การมีเวทีแบบ DTS ช่วยให้ได้ Speed คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เร็วขึ้น และได้ Scale ขยายผลได้เร็ว อีกทั้งองค์กรใหญ่บางครั้งอาจจะไม่คุ้นชินในการทำงานกับสตาร์ทอัพ ซึ่งเวทีนี้จะเปิดให้ได้ทำงานร่วมกัน เป็นการสนับสนุนให้ระบบนิเวศมีความแข็งแกร่ง” นายสมเจตนา กล่าว
“ไออาร์พีซี” มององค์กรใหญ่จับมือสตาร์ทอัพ ดันธุรกิจยุคใหม่เติบโต
นายอนุชา สมจิตรชอบ ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า การบรรลุเป้าหมาย Net Zero เป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญมาก ซึ่งการมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ จะทำให้กระบวนการผลิตดีขึ้นเรื่อย ๆ และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ โดยไออาร์พีซีมองว่าไอเดียใหม่ ๆ หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ มักมาจากสตาร์ทอัพ หรือคนรุ่นใหม่ จึงพร้อมร่วมเป็นพาร์ทเนอร์นำเครื่องไม้เครื่องมือและสิ่งที่องค์กรมีความแข็งแรงมากกว่าเข้าไปสนับสนุน รวมถึงเรื่องของเงินทุน เพราะในโลกการธุรกิจยุคใหม่ไม่มีใครทำทุกอย่างคนเดียวได้ สิ่งใดที่สตาร์ทอัพ หรือพันธมิตรเก่ง มีความชำนาญ มีความคล่องตัวกว่า ก็ต้องจับมือกันพัฒนาทำให้ระบบนิเวศมีความแข็งแกร่ง และเติบโตไปด้วยกัน ซึ่งไออาร์พีซีพร้อมเปิดบ้านให้ทุกคนเข้ามาคุยนำเสนอแนวคิดที่เหมาะกับธุรกิจขององค์กรได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ความท้าทายในการเฟ้นหาหรือลงทุนในสตาร์ทอัพคือ มีไอเดียบรรเจิด แต่อาจมีปัญหาในเรื่องของเติบโต และต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์
“การมีโครงการแบบ DTS ช่วยทำให้กลุ่มคนที่มองเรื่องเดียวกัน องค์กรไม่ต้องวิ่งไปหาสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และทำให้เราสามารถบอกโจทย์ได้โดยตรง ถือเป็นการคัดเลือกที่เร็วมาก รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายมาช่วยสนับสนุนกันได้ง่ายขึ้น เรามองว่าเสน่ห์ของสตาร์ทอัพคือ มีพลังเต็มเปี่ยมและมีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งการมีพาร์ทเนอร์แบบนี้ทำให้องค์กรเหนื่อยน้อยลง มีคนช่วยคิดหาไอเดียใหม่ ๆ แทนองค์กรที่ต้องโฟกัสกับงานประจำอยู่แล้ว วันนี้เราต้องปรับวิธีคิดแบบเดิม ๆ ต้องหาโซลูชั่นที่ดีที่สุดจากไอเดียของคนรุ่นใหม่ การที่องค์กรใหญ่เปิดรับจากข้างนอกเข้ามา ทำให้ได้ความเร็วในการตอบสนองต่อผู้มีส่วนได้เสีย อันนี้เราจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิด เพราะอยู่เฉยเราก็แทบจะถอยหลัง และแม้จะก้าวด้วยตัวเองก็อาจจะช้าอยู่ดี แต่การก้าวไปกับคนที่มีความยืดหยุ่น รวดเร็ว มีไอเดียใหม่ ๆ จะทำให้เติบโตไปด้วยกัน
PTT ExpresSo สนับสนุนสตาร์ทอัพ สร้างโซลูชั่นด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ นายนิชฌาน ภิรมย์สวัสดิ์ Venture Capitalist and Head of Partnerships จาก PTT ExpresSo กล่าวว่า บริษัทได้จับคู่สนับสนุนสตาร์ทอัพ TIE-con จากประเทศไทย ที่พัฒนาระบบอนุรักษ์พลังงานในอาคารด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และโซลูชั่นระบบจัดการพลังงานอัจฉริยะภายในอาคารและโรงงานด้วย IoT (Internet of Thing) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อลดการใช้พลังงานในอาคาร และวางแผนการบำรุงรักษาระบบพลังงานในอาคารได้อย่างแม่นยำ และ ReJoule จากประเทศสหรัฐฯ จัดทำระบบวัดคุณภาพของแบตเตอรี่ระดับเซลล์ เพื่อวัดสุขภาพของแบตเตอรี่ว่ามีสุขภาพดีหรือไม่ ซึ่ง PTT ExpresSo ได้นำมาต่อยอดใช้งานกับบริษัทลูก “NUOVO PLUS” ของ ปตท. ที่มีการพัฒนาแบตเตอรี่ EV โดยนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้วัดตั้งแต่การผลิต เพื่อให้มีความมั่นใจว่าแบตเตอรี่ของ NUOVO PLUS มีความน่าเชื่อถือ มีมาตรฐาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“เราอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการต่อยอดทางธุรกิจกับสตาร์ทอัพทั้งสองทีม โดยเบื้องต้นกำลังพิจารณาร่วมกับ TIE-con ในการสร้างพันธมิตร เพื่อขยายธุรกิจใหม่ในการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับ Boiler และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงส่งมอบองค์ความรู้ในระบบการผลิตเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในทุกโรงงาน ส่วน ReJoule สามารถร่วมต่อยอดสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจ Electric Vehicles ของ ปตท. ได้ในอีกหลายห่วงโซ่ ทั้งหมดเป็นการร่วมตอบโจทย์การลดคาร์บอน มุ่งไปสู่พลังงานสะอาดที่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในเมืองไทยและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่ง ExpresSo ยังมีนโยบายร่วมส่งเสริมเทคโนโลยีและการหาโซลูชั่นร่วมลดคาร์บอนให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยต้องเป็นโซลูชั่นที่เหมาะสมที่สุดสำหรับจุดเด่นและขีดจำกัดของประเทศไทย และ Emerging Economies เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมด้านนี้ ให้สามารถขยายผลไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านและในตลาดเกิดใหม่ เพื่อร่วมมือการสร้างพลังงานสะอาดในโลกระยะยาว” นายนิชฌาน ระบุ
#TrueDigitalPark #NewEnergyNexus #DecarbonizeThailandSandbox #Decarbonization #NetZero #StartupSandbox #BGRIMM #CPGroup #IRPC #PTT #TrueTogether