ข้อที่ 9 จาก 10 แนวทางการทำงานตามวัฒนธรรมองค์กรของชาวกูเกิล (Googler ) ที่ว่า ”เอาจริงเอาจังได้โดยไม่ต้องใส่สูท” คงต้องเพิ่มเติมว่าหากอยากทำเงินมากขึ้น ก็ต้องใส่สูทอย่างจริงจังบ้าง
เป็นภาพที่ไม่เห็นบ่อยนักสำหรับ Googler ในชุดใส่สูทผูกไทเต็มยศ แต่จากการขยับของกูเกิลล่าสุดในการเปิดสำนักงานในไทยและแต่งตั้ง “อริยะ พนมยงค์” เป็นหัวหน้าฝ่ายธุรกิจ บริษัท กูเกิล ประเทศไทย จำกัด กูเกิลจึงมีภาพทางการ เพื่อต้อนรับพันธมิตรธุรกิจ ที่มีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ แบรนด์ เอเยนซี่ ในช่วงค่ำาวันที่ 24 สิงหาคม 2554 ที่พระราชวังพญาไท สถานที่เดียวกันนี้ยังเป็นสถานที่แถลงข่าวในช่วงบ่ายกับสื่อมวลชนและบล็อกเกอร์ 50 คน แต่ผู้บริหารกูเกิลมาในชุดสบายๆ
ในมุมของสถานที่มีความหมายสำหรับกูเกิลที่ “พรทิพย์ กองชุน” หัวหน้าฝ่ายการตลาด กูเกิลประเทศไทย ในฐานะ Googler รุ่นพี่ที่ทำงานในองค์กรนี้มาประมาณ 5 ปี ร่วมกับทีมงานจัดให้ ด้วยเหตุผลที่เธอบอกว่าสถานที่แห่งนี้ก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ทรงนำสิ่งใหม่ เป็นยุคสมัยที่รับความเปลี่ยนแปลง และเวลานี้กูเกิลอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนา เดินทางไปพร้อมกันเพื่อพัฒนาประเทศไปด้วยกัน
สำหรับ “อริยะ” แล้ว ต้องผ่านการสัมภาษณ์หลายรอบในช่วง 3 เดือนก่อนรับตำแหน่งในไทย คำถามไม่ใช่เรื่องของแสดงศักยภาพ ความสามารถเท่านั้น “อริยะ” บอกว่าทัศนคติคือความสำคัญที่เขาคิดว่าตัวเขาเหมาะกับที่นี่ เช่นเดียวกับชาวกูเกิลทุกคน
- 10 ข้อของหลักการทำงานในวัฒนธรรมของกูเกิล
- ยึดผู้ใช้เป็นหลักแล้วอย่างอื่นจะตามมาเอง
- ทำอะไรอย่างเดียวให้ดีจริงๆ นั่นแหละดีที่สุด
- เร็วดีกว่าช้า
- ประชาธิปไตยบนอินเทอร์เน็ตนั้นได้ผลดี
- ไม่จำเป็นต้องนั่งที่โต๊ะจึงจะต้องการคำตอบ
- สามารถหาเงินได้โดยไม่ต้องทำสิ่งไม่ดี
- ข้อมูลใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ
- ผู้คนในทุกแห่งต้องการข้อมูลเหมือนกัน
- เอาจริงเอาจังได้โดยไม่ต้องใส่สูท
- ถึงจะดีมาก ก็ยังไม่ดีพอ
ไทยกลายเป็นพื้นที่ที่ธุรกิจออนไลน์ข้ามชาติกำลังบุกหนัก โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิล และเฟซบุ๊กที่ขยับแรงจนวงการโฆษณาในไทยอาจสะเทือน เพราะยุทธศาสตร์ครั้งนี้ไม่ใช่แค่ทำสถิติ Search หรือคลิก Like เท่านั้น แต่คือการกวาดเม็ดเงินมูลค่านับพันล้านบาทนี้ให้ได้
เฟซบุ๊กกด Like แอดแม็กซ์ให้ปั๊มโฆษณา
1 เมษายน 2554 เฟซบุ๊กประกาศแต่งตั้งตัวบริษัท แอดแม็กซ์ เน็ตเวิร์ค จำกัด เครือข่ายโฆษณาออนไลน์รายใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นตัวแทนขายโฆษณาแทน “ไอฮับ มีเดีย” ที่เพิ่งหมดสัญญา โดย แอดแม็กซ์มีฐานะเป็น Official Reseller Partnership รับผิดชอบการขายในไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่แอดแม็กซ์มีออฟฟิศอยู่
นอกจากได้สิทธิขายพื้นที่โฆษณาแต่เพียงรายเดียวในส่วนของ Premium Solution Ad ที่อยู่ในหน้าแรกของผู้ใช้เฟซบุ๊กเมื่อล็อกอินเข้าใช้งานแล้ว “จอห์น ประดิษฐ์วณิช” กรรมการผู้จัดการ แอดแม็กซ์ ยังบอกว่าการตกลงกับเฟซบุ๊กนี้ คือการเป็นพันธมิตรธุรกิจที่ช่วยเฟซบุ๊กในไทยสร้างตลาดตั้งแต่การสร้างความเข้าใจในเครื่องมือโฆษณาของเฟซบุ๊ก การช่วยเหลือลูกค้าทั้งในการให้คำปรึกษา และประสานงานด้านเทคนิค รวมไปถึงการขายพื้นที่โฆษณาใน Market Place อีกด้วย
ด้วยจุดแข็งที่เฟซบุ๊กต่างจากสื่อโฆษณาออนไลน์คือความเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่ไม่เพียงการทำให้เจ้าของแบรนด์สร้างการรับรู้เท่านั้น แต่ยังทำให้ใกล้ชิดกลุ่มเป้าหมายได้ด้วยเครื่องมือการเชื่อมโยงต่างๆ ที่มีหลายรูปแบบตั้งแต่ข้อความ ภาพ วิดีโอ ไปจนถึงทั้งแอพพลิเคชั่น เกม หรือการสำรวจความเห็น
“จอห์น” บอกว่าเฟซบุ๊กไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นเพียง Media แต่คือ Communication Platform ที่ให้แบรนด์ใช้เครื่องมือได้หลากหลายเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ที่เลือกได้เฉพาะเจาะจงที่สุด จากโพรไฟล์ที่ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กสมัครใจกรอกตามความจริงมากที่สุด ตั้งแต่เพศ อายุ การศึกษา ไปจนถึงกิจกรรมที่ชอบทำ ความชอบ รสนิยม หรือแม้แต่สถานที่ที่ไป และกลุ่มเพื่อนของกลุ่มเป้าหมายที่ทำให้เจ้าของแบรนด์สามารถเข้าถึงได้กว้างยิ่งขึ้น
จากกระแสความนิยมของคนไทยที่ใช้เฟซบุ๊กใน 1 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจากปี 2553 จำนวน 133.57% (วันที่ 3 สิงหาคม 2554 มีผู้ลงทะเบียนใช้เฟซบุ๊กแล้ว 11,715,283 คน) ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตเร็วกว่าฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียเท่าตัว แอดแม็กซ์จึงเชื่อว่าจะเติบโตอีกต่อเนื่อง นั่นหมายถึงกลุ่มเป้าหมายในสื่อนี้สำหรับโฆษณาขยายวงกว้างและมีให้เลือกมากขึ้น จึงคุ้มค่าพอที่แอดแม็กซ์จะลงทุนแต่งตั้งทีมงานเฉพาะมารับผิดชอบ นำโดย “อิสราภา สนิทประชากร” ในตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายขาย เฟซบุ๊ก ประเทศไทย
ความหมายสำหรับแอดแม็กซ์ในการเป็นผู้ได้สิทธิแต่เพียงรายเดียวในการขาย Premium Solution Ad คือรายได้จากพื้นที่สี่เหลี่ยมเล็กๆ ด้านข้างของหน้าวอลล์ที่เมื่อผู้ใช้งานเฟซบุ๊กล็อกอินแล้วจะปรากฏทันที ซึ่ง ”อิสราภา” บอกว่าโฆษณานี้ทุกคนที่เข้าใช้เฟซบุ๊กจะเห็นทันที
แบรนด์ที่มีงบสูงสามารถเลือกโฆษณาพื้นที่นี้ เพราะราคาที่ขายอยู่คือวันละ 2.7 หมื่นเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8 แสนบาท หลายเดือนที่ผ่านมา พื้นที่นี้ก็คึกคักด้วยแบรนด์ใหญ่ๆ ทั้งจากแบรนด์เครื่องสำอาง รถ และค่ายมือถือ
สำหรับในมาร์เก็ตเพลส ที่ไม่ได้ใช้งบสูงนัก ซึ่งมีทั้งการจ่ายแบบเฉลี่ยต่อการคลิกของกลุ่มเป้าหมาย หรือการตั้งราคาที่แบรนด์พอใจจ่ายแล้วลุ้นกับโอกาสที่โฆษณาจะโชว์ ซึ่งแบรนด์สามารถซื้อตรงจากเฟซบุ๊กหรือจะให้แอดแม็กซ์ดำเนินการให้ก็ได้ โดยจ่ายตามที่กลุ่มเป้าหมายคลิก (เฉลี่ย CPC .40 เหรียญสหรัฐCPM .17 เหรียญสหรัฐ ข้อมูลจาก SociaBakers) ก็มีมากกว่า 30 แบรนด์ เช่น ลอรีอัล แสนสิริ พฤษษา กรุงศรี คาร์ฟอร์แคช เป๊ปซี่ หรือแม้แต่ธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างน้ำพริก หรือสมุนไพรก็แวะเวียนมาในพื้นที่ด้วย
ในส่วนมาร์เก็ตเพลสก็ถือเป็นรายได้อีกช่องทางหนึ่ง เพราะลูกค้าที่ซื้อผ่านแอดแม็กซ์จะได้ขยายระยะเวลาการจ่ายเงิน 30 วัน และการบริการประสานงานกับเฟซบุ๊ก หากเกิดปัญหาทางเทคนิคขึ้น เช่นการถูกปิดหากทำผิดกฎโดยไม่ได้ตั้งใจ
โอกาสของแอดแม็กซ์ยังไม่ใช่แค่สื่อเฟซบุ๊กในจอใหญ่อย่างพีซีเท่านั้น อนาคตของโฆษณาในเฟซบุ๊กที่โทรศัพท์มือถือก็ยังเป็นไปได้สูง เพราะสมาร์ทโฟนในไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว ในรูปแบบ Mobile Deals เช่นเมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กเช็คอิน แบรนด์ก็สามารถส่งโปรโมชั่นให้กลุ่มเป้าหมายได้ทันที ทั้งในรูปแบบเจาะจงลูกค้า ต่างคนต่างมาซื้อ หรือแบบซื้อกันเป็นกลุ่ม
สำหรับเฟซบุ๊กเวลานี้ในเมืองไทย จึงกลายเป็นสื่อโฆษณาเนื้อหอมสำหรับแบรนด์ ที่คนเล่นเฟซบุ๊กเองก็ประจักษ์แก่สายตาตัวเอง เพราะทุกวันที่ทุกคนล็อกอิน จะเห็นโฆษณาด้านข้าง ขนาดพื้นที่สี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่เปลี่ยนเวียนแบรนด์กันอย่างคึกคัก จากแค่ 1 หรือ 2 ชิ้นเมื่อหลายเดือนก่อน ขณะนี้ในบางวันโฆษณาเรียงกันเป็นแถวยาว
พื้นที่นี้คลิก Like แล้วก็โชว์ให้เพื่อนได้เห็นว่า Like แล้วถ้าคลิกลิงค์ก็อาจไปยังแฟนเพจที่สร้างไว้ ไปที่แบรนด์เว็บไซต์ หรือเกมที่เขียนขึ้น เป็นรูปแบบที่ไม่เพียงการเห็น แต่คือการพยายามเชื่อมโยงกับลูกค้าให้ใกล้ชิดมากที่สุด
สำหรับเจ้าของพื้นที่เองอย่าง เฟซบุ๊ก ก็ไม่นิ่งเฉย พยายามทำให้พื้นที่ด้านขวาเป็นทำเลทองด้วยลูกเล่นใหม่ๆ ตั้งแต่การเป็นพื้นที่ Time machine ที่โชว์ให้เห็นว่าวันนี้ในปี 2552-2553 ตัวเองหรือเพื่อนโพสต์อะไรบ้าง การแนะนำเพื่อนๆ ที่คุณอาจรู้จักให้เป็นระยะ
เฟซบุ๊กนับจากนี้จึงไม่ใช่เครือข่ายสังคมออนไลน์เท่านั้น แต่การมีเครือข่ายช่วยขายโฆษณา กำลังทำให้เฟซบุ๊กกลายเป็นแหล่งทำเงิน เป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับนักการตลาด เพียงแต่ว่าเมื่อพื้นที่พร้อม กลุ่มเป้าหมายก็พร้อม แต่คำถามคือแบรนด์พร้อมแค่ไหนที่จะทำให้พื้นที่เล็กๆ นั้นสะดุดตา แล้วคลิกต่อ จนไปถึงการซื้อ เพื่อไม่ให้แต่ละ Like นั้นไร้ความหมาย
สถิติเฟซบุ๊กในไทย | |
---|---|
จำนวนสมาชิก | 11,715,283 คน |
อัตราการเพิ่มขึ้น | 133.57 % (เดือนสิงหาคม 2553 มี 5,015,845 คน) |
จำนวนผู้ใช้งานต่อสัปดาห์ | 10,200,000 คน |
จำนวนผู้ใช้งานต่อวัน | 7,320,000 คน |
ระยะเวลาใช้ต่อวัน | 3-4 ชั่วโมง |
ผู้ใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ | 5,140,000 คน (เติบโต 6.40 % จากเดือนสิงหาคม 2553) |
จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด | 17,486,400 (มิ.ย.2553) |
สัดส่วนผู้ใช้เฟซบุ๊กต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด | 67 % |
ที่มา : Admax/Socialbakers สิงหาคม 2554 (ณ เดือนกันยายน 2554 มีผู้ลงทะเบียนเฟซบุ๊กในไทย 11,916,420 คน) |
ใครเป็นใครในเฟซบุ๊ก | |
---|---|
หญิง 52 % ชาย 48 % | |
13-15 ปี | 11 % |
16-17 ปี | 10 % |
18-24 ปี | 34 % |
25-34 ปี | 29 % |
35-44 ปี | 10 % |
45-54 ปี | 4 % |
55-64 ปี | 1 % |
65+ ปี | 1 % |
ที่มา : Socialbakers |
สถิติกูเกิลในไทย | |
---|---|
20.59 % | คือ ผู้ใช้เบราว์เซอร์อินเทอร์เน็ต Google Chrome (อันดับ 2 ของตลาด) |
13.4 % | ใช้ระบบปฏิบัติการมือถือแอนดรอยด์ (อันดับ 2 ของตลาด) |
99.36 % | ใช้ google.co.th (อันดับ1) |
ที่มา : StatCounter สิงหาคม 2554 |
สถิติผู้เข้าเว็บ Google.co.th (เมษายน 2554) | |
---|---|
จำนวนผู้เข้าชมเว็บ | 12.96 ล้านคน |
จำนวนครั้งที่เข้าชมเว็บ | 657 ล้านครั้ง |
ความถี่ในการเข้าชมต่อคน | 50.70 ครั้ง |
เวลาโดยเฉลี่ยที่ใช้ในเว็บไซต์ 1 หน้า | 02.42 นาที |