f0nt.com ของฟรีก็มีในโลก

เคยมีคนเคยบอกว่า ของดีไม่มีถูก หรือ ของถูกไม่มีดี แต่ f0nt.com คือเว็บไซต์ที่พิสูจน์ให้เห็นว่ายิ่งว่า ของฟรีและของดีก็มีในโลก ด้วยตัวหนังสือสารพัดแบบที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้ามาโหลดใช้ฟรี ไม่ว่าจะนำไปใช้ในงานส่วนตัวหรือเชิงพาณิชย์ก็ไม่คิดเงิน แลกกับความภูมิใจที่ได้เห็นตัวหนังสือฝีมือตัวเอง ปรากฏอยู่ตามป้ายโฆษณาหรือปกหนังสือ

เบื้องหลังแนวคิด และวิธีการทำงานของเว็บไซต์แห่งนี้เป็นเช่นไร ลองมาเจาะลึกผ่าน “ปรัชญา สิงห์โต” เว็บมาสเตอร์และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ f0nt.com

เรียนไม่เก่งแต่พรีเซนต์ดี

ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยที่ ปรัชญา สิงห์โต หรือ ไอ้แอนนนนนน ของเพื่อนพ้องในวงการไอที กำลังเรียนอยู่คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ตอนนั้นปรัชญาเป็นนักศึกษาหลังห้องที่เรียนไม่เก่ง ดังนั้นเมื่อทำงานกลุ่มจึงต้องอาสาทำหน้าที่อื่นให้เพื่อนๆ แทน ด้วยตำแหน่ง “พรีเซ็นเตอร์” คือเอาผลงานของเพื่อนมานำเสนอ แต่กลับพบปัญหาว่าไม่มีฟอนต์ตัวอักษรที่เหมาะสมกับการใช้งานในวงการสถาปัตยกรรม

“ผมเป็นคนเรียนไม่เก่ง เวลาทำงานกลุ่มก็เลยรับหน้าที่พรีเซนต์ แล้วสิ่งที่เรียนคือการออกแบบบ้าน ก็ต้องคิดว่าทำยังไงถึงจะทำให้รายงานน่าสนใจ มันต้องอธิบายแปลน สเปก วัสดุที่เลือกใช้ พอเอามาทำก็พบว่าไม่มีฟอนต์ที่เหมาะกับงานของตัวเอง ก็เลยหาความรู้ สร้างฟอนต์ขึ้นมาเอง พอหาข้อมูลไปเรื่อยๆ ก็พบว่าผมเองไม่ใช่คนแรกที่ทำ มีคนทำเยอะแยะ เพียงแต่ว่ามันกระจัดกระจาย”

จากความรู้ที่หวังแค่ใช้เพียงชั่วครั้งคราวในยามจำเป็น แต่เมื่อศึกษามากขึ้น ปรัชญากลับหลงใหลในการออกแบบตัวอักษรจนเขียนบล็อกเกี่ยวกับฟอนต์เรื่อยมา เมื่อได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับคนที่มีความชอบเรื่องเดียวกัน ในที่สุดเขาก็ก่อตั้งเว็บไซต์ f0nt.com ด้วยการเผยแพร่ฟอนต์ชุดแรก iannnnn ซึ่งมีที่มาจากชื่อเล่น ไอ้แอนนนนน ของเขาเอง (ของแท้ต้องตัว n 5 ตัว) ในรูปแบบให้ใช้ฟรีไม่มีเก็บเงินสักบาท ขอแค่กำลังใจให้คนทำฟอนต์เป็นคำขอบคุณผ่านหน้าเว็บบอร์ดเท่านั้น

สร้าง Font สนอง Need

ปัจจุบัน f0nt.com มีแบบอักษรแชร์อยู่ทั้งหมด 308 แบบ จากเดิมที่มีคนให้ความสนใจเพียง 6-7 คน ก็ขยายเป็น 67 นักพัฒนา ส่วนตัวของปรัชญาเองก็มีฟอนต์ที่อยู่บนเว็บไซต์ 22 แบบ ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดของคนที่ทำฟอนต์อยู่บนพื้นที่แห่งนี้มีงานประจำอื่น หรือว่ายังเรียนอยู่ และออกแบบฟอนต์ขึ้นมาให้คนอื่นใช้แลกกับความภูมิใจ

“ทุกคนทำเป็นงานอดิเรก เหมือนหมกมุ่นอยู่กับอะไรสักอย่างแล้วมีความสุข ทำเพื่อตอบสนองตัณหาของคนอยากอวด อยากให้คนอื่นได้เห็น ยอมรับ แค่นี้ก็มีความสุข มีอยู่ครั้งหนึ่งเดินในงานสัปดาห์หนังสือแล้วมีคนเอาฟอนต์ที่เราคิดไปทำป้ายหน้างาน เห็นแล้วดีใจ พอปีต่อมาเห็นทั่วงานเลย คราวนี้ก็แฮปปี้สุดๆ”

“สมาชิกบางคนออกแบบฟอนต์ตั้งแต่ยังเด็ก มีอยู่คนหนึ่งออกแบบตั้งแต่อายุ 11 เขาเป็นพวกเด็กอัจฉริยะ เป็นคนวางตัวฟอนต์ในเว็บไซต์ f0nt.com ด้วย ตอนนี้เขาเป็นนักศึกษาแพทย์แล้ว แต่ก็ยังทำฟอนต์มาอยู่เรื่อยๆ คนที่เข้ามาในเว็บส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ทำให้ภาษาที่เราใช้ในเว็บก็จะเป็นเหมือนเด็กคุยกับเด็กด้วยกัน”

เบื้องหลังการทำฟอนต์แต่ละชุดของปรัชญา มักเกิดจากการหาแบบอักษรที่ต้องการใช้ไม่ได้ จนต้องประดิษฐ์ขึ้นมาเอง ฟอนต์บางแบบก็ใช้เวลาเพียง 5 นาที ขณะที่บางฟอนต์ก็ใช้เวลานานนับปี ถึงตอนนี้ก็ยังมีแบบอักษรที่ยังทำไม่เสร็จสักที

f0nt สร้างกล่อง fail ทำเงิน

นอกเหนือจาก f0nt.com แล้ว ปรัชญายังมีอีกเว็บไซต์ที่โด่งดังไม่แพ้กัน นั่นคือ www.fail.in.th ที่เกิดจากการต่อยอด นำเอาประสบการณ์กับเครือข่ายของคนรู้จักในแวดวงไอที ผสมกับความฟลุ้ก แต่กลับทำให้เว็บไซต์ fail มีสมาชิกตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้น และตอนนี้อาจจะดังกว่า f0nt ในแง่ของจำนวนผู้เข้าชม

“fail เกิดขึ้นในงานประชุม Word Press ชื่อ Word Camp เป็นโปรแกรมที่เอาไว้เขียนเว็บไซต์ ตอนนั้นต้องหาโปรเจกต์สักอันมาเป็นตัวอย่าง จนเป็นที่มาของ failblog.org ปรากฏว่าเป็นเว็บไซต์ที่มีแฟนและประสบความสำเร็จตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัว ตอนนั้นก็เดือนพฤศจิกายน 2009 แล้วก็ปรับมาเป็น fail.in.th”

เว็บไซต์ fail.in.th เป็นพื้นที่รวบรวมรูปถ่าย ป้ายแปลกๆ หรือคำพูดที่อยู่ผิดที่ผิดทาง แต่ด้วยความที่มันอยู่ที่ผิดที่ผิดทางนี่เองที่ทำให้เกิดเสียงหัวเราะขึ้นมาได้ เปรียบกับ f0nt.com ที่รวบรวมแบบอักษรให้คนมาดาวน์โหลดไปใช้ฟรี fial กลับเสพเพื่อความบันเทิงอย่างเดียว แต่เว็บ fail กลับสร้างรายได้จากพื้นที่โฆษณาได้เดือนละหลักหมื่น จนเจ้าของเว็บไซต์ทั้งสองจับเว็บไซต์ของตัวเองมาเทียบให้เห็นภาพว่า “f0nt ก็เหมือนรายการคุณพระช่วย มีสาระ ได้กล่อง แต่ fail เป็นชิงร้อยชิงล้าน”

วิธีการการบริหารจัดการเว็บไซต์ fail แต่ละวัน ปรัชญาจะมีหน้าที่สกรีนภาพที่ถูกส่งเข้ามาทางอีเมลวันละ 60-100 ภาพ และถ้ารู้สึกว่าภาพไหนโดน เขาจึงจะอัพขึ้นเว็บ “ความฮานี่เป็นเรื่องเผด็จการนะครับ” ปรัชญากล่าว ที่ต้องทำแบบนี้ก็เพราะว่าอยากควบคุมระดับความขำในเว็บไซต์ให้มีบุคลิกแบบเดียว ไม่เลยเถิดจนเกินงาม

ทุกวันนี้นอกจากดูแลสองเว็บไซต์แล้ว ปรัชญาทำอาชีพหลักเป็น Strategic Planner อยู่ที่บริษัท สามย่าน จำกัด, เขียนโปรแกรมสำเร็จรูป และออกแบบเว็บไซต์ให้กับลูกค้า รวมทั้งดูแลธุรกิจผลิตเสื้อยืด Tailor Made ร่วมกับภรรยา

Typography อาชีพทำเงิน

พอพูดถึง Typographic อาจจะเป็นศาสตร์ใหม่ที่บางคนอาจจะงงว่าคืออะไร แต่สำหรับคนในวงการไอทีและศิลปะคงเข้าใจดีว่าเป็นศาสตร์ของการออกแบบตัวอักษร หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการ (แต่งงกว่าเดิม) ว่า “เลขนศิลป์” ซึ่งสมัยนี้ใช้คอมพิวเตอร์เข้าช่วยได้เป็นอย่างมาก ในประเทศไทยมีบริษัทที่รับออกแบบฟอนต์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เช่น บริษัท คัดสรร ดีมาก โดยอาจารย์อนุทิน วงศ์สรรคกร กับ ดีบี ฟอนต์ ของอาจารย์ปริญญา โรจน์อารยานนท์ ส่วนระดับโลกบุคคลสำคัญที่ศึกษามาด้านนี้โดยตรงและใช้ประโยชน์จากความเข้าใจเรื่องดีไซน์มาสร้างนวัตกรรมตอบสนองผู้ใช้งาน คือ สตีฟ จ๊อบส์

การ์ตูนสร้างแรงบันดาลใจ

งานอดิเรกของปรัชญา คือการอ่านการ์ตูน และสะสมโมเดลแอนิเมะที่เขาชอบ โดยเน้นที่การ์ตูนฮิตสมัยยังเป็นเด็กถึงวัยรุ่น แต่ความชอบ

“ผมคิดว่าคนทำงานในสายออกแบบทุกคนน่าจะชอบการ์ตูนนะ ต้องถือว่าการ์ตูนเป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน เพราะภาพในการ์ตูนมันเป็นภาพจินตนาการที่พุ่งออกมา เวลาอ่านแล้วจะคิดว่าคิดได้ยังไง อยากทำบ้าง เวลาเลือกซื้อก็จะซื้อเฉพาะการ์ตูนเก่าๆ ไม่ได้แอนตี้การ์ตูนสมัยใหม่นะ แต่ซื้อการ์ตูนสมัยที่เราเป็นเด็กเหมือนต่อเติมความฝันวัยเด็กที่ไม่ได้ซื้อมากกว่า”

Name ปรัชญา สิงห์โต
Age อายุ 29 ปี
Education คณะสถาปัตยกรรมศาสร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
Career
  • Strategic Planner บริษัท สามย่าน จำกัด
  • เว็บมาสเตอร์ www.f0nt.com และ www.fail.in.th