ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนพฤศจิกายนของญี่ปุ่นนั้นยังไม่ลดลง โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 3.7% เมื่อเทียบกับปี 2021 ที่ผ่านมา และยังเพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือนตุลาคมซึ่งตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 3.6% โดยตัวเลขดังกล่าวถือว่าทำลายสถิติตัวเลขเงินเฟ้อญี่ปุ่นในรอบ 41 ปีด้วย
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังพุ่งสูงขึ้นก็คือราคาพลังงานที่ยังเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงค่าเงินเยนที่อ่อนค่า ส่งผลทำให้ค่าใช้จ่ายรวมถึงต้นทุนของผู้ประกอบการภายในประเทศนั้นเพิ่มสูงมากขึ้น โดยล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นได้เปลี่ยนแผนด้านพลังงานที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อที่จะลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงลดปัญหาเงินเฟ้อจากปัจจัยดังกล่าวนี้ด้วย
นอกจากนี้ตัวเลขดังกล่าวยังถือว่าสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่วางเป้าหมายเงินเฟ้ออยู่ที่ 2%
สถิติตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงสุดของญี่ปุ่นอยู่ในช่วงเดือนธันวาคมปี 1981 ซึ่งญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากปัญหาพลังงานจากวิกฤติพลังงานรวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรง ซึ่งตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่นในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ 4%
ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารกลางญี่ปุ่นมองว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงในญี่ปุ่นนั้นเกิดจากต้นทุนผลัก (Cost Push Inflation) จากต้นทุนสินค้าและพลังงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่รีบร้อนขึ้นอัตราดอกเบี้ยเหมือนกับที่อื่น
แต่ล่าสุดท่าทีของธนาคารกลางญี่ปุ่นนั้นเริ่มเปลี่ยนไป โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีสามารถขยับได้ในช่วง 0% ถึง 0.5% ถือเป็นความเคลื่อนไหวครั้งใหม่ที่ทำให้นักวิเคราะห์คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจมีมาตรการต่อสู้กับเงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลทำให้ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นมาด้วย
อย่างไรก็ดีมุมมองของสถาบันการเงินอย่าง Mizuho มองว่าเงินเฟ้อของญี่ปุ่นอาจพุ่งสูงถึง 4% ได้ในเดือนธันวาคมและเดือนมกราคมของปี 2023 เนื่องจากความต้องการพลังงานที่สูง และมองว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่นมองไม่เป็นไปตามความเป็นจริง เนื่องจากเป้าหมายตัวเลขเงินเฟ้อของธนาคารกลางญี่ปุ่นจะตรงกับเป้าของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมถึงธนาคารกลางยุโรป
ที่มา – บทวิเคราะห์จาก Mizuho, BBC, Reuters