‘สิงคโปร์’ จ่อขึ้นภาษี ‘สินค้า-บริการ’ เป็น 8% คาดกระทบหนักกลุ่มรายได้น้อย

ในวันที่ 1 มกราคม สิงคโปร์จะขึ้นภาษีสินค้าและบริการหรือที่เรียกว่า GST จาก 7% เป็น 8% และจะมีการปรับครั้งที่สองในเดือนมกราคม 2567 โดย GST จะเพิ่มจาก 8% เป็น 9% โดยนักวิเคราะห์คาดว่า การปรับขึ้นภาษีครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

รัฐสภาของสิงคโปร์ผ่านร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขภาษี GST ในเดือนพฤศจิกายน แม้ว่าสมาชิกรัฐสภาจากพรรคฝ่ายค้านของสิงคโปร์จะออกมาคัดค้านการปรับขึ้นดังกล่าว โดยอ้างถึงช่วงเวลาที่ไม่ดีท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ

โดยภาษี GST นั้นเป็นภาษีการบริโภคที่เรียกเก็บจากสินค้าและบริการเกือบทั้งหมดในสิงคโปร์ โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 จะมีการเรียกเก็บ GST สำหรับสินค้านำเข้ามูลค่าต่ำที่มีมูลค่าไม่เกิน 400 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 10,300 บาท) เพิ่มเติมจากเดิมที่ปัจจุบันมีการจัดเก็บภาษี GST กับสินค้านำเข้ามูลค่าเกิน 400 ดอลลาร์สิงคโปร์เท่านั้น

ด้วยการเปลี่ยนแปลงนี้ สินค้าและบริการทั้งหมดที่นำเข้ามายังสิงคโปร์ รวมถึงสินค้านำเข้าที่ซื้อทางออนไลน์จะต้องเสียภาษี และสำหรับธุรกิจที่อยู่ในสิงคโปร์ที่มีรายได้ต่อปีเกิน 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 25 ล้านบาท) จะต้องลงทะเบียน GST และเรียกเก็บ GST จากสินค้าที่ต้องเสียภาษีทั้งหมดตามอัตราทั่วไป

อัตราเงินเฟ้อในสิงคโปร์แตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปีที่ 7.5% ในเดือนสิงหาคม อัตราเงินเฟ้อได้ผ่อนคลายลงเล็กน้อยในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยอัตราเงินเฟ้อประจำปีของเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 6.7% แต่นั่นสูงกว่าเป้าหมาย 2% อย่างธนาคารกลางของประเทศวางไว้

อันโตนิโอ ฟาตัส ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของ INSEAD กล่าวว่า ผู้มีรายได้น้อยมักจะออมเงินน้อยลงและบริโภคมากขึ้น “เนื่องจากนี่เป็นภาษีจากการบริโภค พวกเขาอาจรู้สึกได้ถึงผลกระทบในทันที” อัตราค่าแรงของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่สุดของสิงคโปร์ ถือว่าเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดในกลุ่มรายได้ทั้งหมด ซึ่งคนกลุ่มนี้จะประสบกับรายจ่ายในครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นมากที่สุดเมื่ออัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น

Source