เปิดแผน ‘หัวเว่ย’ ประเทศไทยใต้วิสัยทัศน์ ‘เดวิด หลี่’ ซีอีโอใหม่ที่ยังหวังดันไทย ‘ฮับดิจิทัลอาเซียน’

นับตั้งแต่ที่โดนสหรัฐฯ แบนขึ้นบัญชีดำ ทำให้การดำเนินธุรกิจฝั่ง ‘สมาร์ทโฟน’ ของ หัวเว่ย ต้องชะงักไปหลายปีแล้ว ทำให้หัวเว่ยต้องเน้นไปที่ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะเรื่อง 5G และสำหรับประเทศไทยหัวเว่ยเพิ่งแต่งตั้งซีอีโอใหม่ เดวิด หลี่ ซึ่งจะมาเล่าถึงทิศทางของหัวเว่ยประเทศไทยในปีนี้จะเป็นอย่างไร

เดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด กล่าวว่า วิสัยทัศน์และทิศทางการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยในปี 2566 จะเน้นที่ 6 ด้านหลัก

1.ยกระดับการเชื่อมต่อ 5G โดยหัวเว่ยจะใช้เครือข่ายไฟเบอร์เพื่อเชื่อมต่อทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน และจะขยายความครอบคลุมของโครงข่ายเข้าไปในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งในปีนี้จะมุ่งขยายความครอบคลุมของโครงข่ายแบบไฟเบอร์ในชนบทของประเทศไทยและทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์เพื่อให้สามารถส่งมอบบริการ 5G ที่มีคุณภาพและมีราคาที่สามารถเข้าถึงได้

ปัจจุบัน การใช้งาน 5G ของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียนนั้นค่อนข้างที่จะครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว อีกทั้งยังมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย กระจายไปในหลายอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบกับประเทศอย่างเกาหลีใต้ ที่มีการใช้ 5G ในสื่อความบันเทิง เช่น เทคโนโลยี AR, VR ถือเป็นส่วนที่ไทยยังสามารถนำไปปรับใช้ได้อีก

2.ธุรกิจคลาวด์ ที่ผ่านมา ในส่วนของธุรกิจคลาวด์หัวเว่ยได้ลงทุนไปแล้วกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยได้ทำการติดตั้งศูนย์ข้อมูลคลาวด์ในประเทศไทยแล้ว 3 แห่ง และการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์กว่า 300 ราย การนำโซลูชันเข้าประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมของไทยกว่า 10 ประเภท โดยปีนี้ หัวเว่ยวางเป้าหมายให้บริการโซลูชันไอซีทีบนคลาวด์อย่างต่อเนื่อง

3.การต่อยอดธุรกิจ Enterprise Business Group (EBG) ที่ผ่านมาหัวเว่ยให้ความร่วมมือในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร โรงพยาบาล เพื่อร่วมสร้าง ICT โซลูชัน ตอนนี้หลายอุตสาหกรรมจะมีความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น ดังนั้น เราจะยังสร้างความร่วมมือเพื่อสร้างความเติบโตในอนาคต

4.ด้านความยั่งยืน เนื่องจากนโยบายภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในส่วนนี้จะเป็นอีกส่วนที่หัวเว่ยจะเน้นเพื่อช่วยให้ไทยเป็น EV HUB ในอนาคต โดยหัวเว่ยจะเข้าไปช่วยในการทำโซลาร์ฟาร์มเมอร์เพื่อลดการใช้พลังงาน

5.ความปลอดภัยไซเบอร์ นอกจากที่ไทยจะมีกฎหมาย PDPA ที่ทำให้ทั้งภาคประชาชนและองค์กรตื่นตัวแล้ว เป้าหมายของหัวเว่ยคือต้องยกระดับซีเคียวริตี้ให้อยู่ในระดับมาตรฐานโลก โดยวางเป้าหมายทำให้ไทยมีดัชนีความปลอดภัยทางไซเบอร์ในระดับโลก (GCI) ที่น่าเชื่อถือติดอันดับต้นของโลก

6.การบ่มเพาะบุคลากรดิจิทัลไทย ที่ผ่านมา หัวเว่ยสามารถสร้างงานให้คนไทยกว่า 8,500 ตำแหน่ง และอบรมไปแล้วกว่า 65,000 คน โดยภายใน 3 ปีนี้จากนี้ หัวเว่ยวางแผนที่วางไว้คือการฝึกอบรมนักพัฒนาที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีให้ได้ถึง 20,000 คน เช่น โครงการบ่มเพาะธุรกิจเอสเอ็มอี Spark Ignite โครงการรถดิจิทัลเพื่อสังคมซึ่งจะต่อยอดให้ครอบคลุมในพื้นที่ 10 จังหวัด ฝึกอบรมนักเรียนให้ถึง 2,000 คน

“เราเชื่อมั่นว่าเราสามารถช่วยสนับสนุนประเทศไทยได้ด้วยเทคโนโลยีชั้นนำ โซลูชัน และหลักปฏิบัติด้านพลังงานดิจิทัลของเรา ด้วยทีมบุคลากรและพาร์ตเนอร์ในประเทศระดับคุณภาพของเรา เราหวังว่าจะสามารถนำเทคโนโลยีและหลักปฏิบัติในระดับโลกมาช่วยผลักดันให้ประเทศไทยในการมุ่งสู่ผู้นำในอาเซียนในด้านดิจิทัล