ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลาด ‘รถอีวี’ กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และด้วยความที่เป็นเรื่องใหม่ หลายคนจึงมีคำถามที่อยากรู้ ทั้งความเป็นไปได้ของ “รถอีวีสัญชาติไทย” การลงทุนสถานีชาร์จคุ้มค่าไหม อะไรยังเป็นข้อกังวลของคนไทย และไทยจะเป็น “ฮับอีวีอาเซียน” ได้ไหม ซึ่งผู้ที่จะมาตอบคำถามเหล่านี้ก็คือ เอกชัย ยิ้มสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด บริษัทที่ถือกำเนิดมาเพื่อผลักดันอีวีอีโคซิสเต็มส์ของไทยแบบครบวงจร
รู้จัก อรุณพลัส
แม้ว่า อรุณพลัส (Arun Plus) จะก่อตั้งมาได้แค่ประมาณปีครึ่งในฐานะบบริษัทลูกในธุรกิจใหม่ของกลุ่ม ปตท. เพื่อดำเนินธุรกิจด้าน EV Value Chain แต่ เอกชัย เล่าว่าจริง ๆ แล้ว ปตท. ทำเรื่องอีวีมามาสักพักแล้ว เพียงแต่ทำภายในและยังเป็นช่วง pilot project ดังนั้น อรุณพลัส จึงทำหน้าที่เหมือนตัวกลางที่เชื่อมให้ทุกอย่างมารวมกันและขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของผู้ประกอบการไทยในห่วงโซ่อุปทานจากเครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า
“เรามีเป้าหมายในการสร้างและส่งเสริมให้เกิดนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในประเทศไทย เพราะตอนนี้มันใหม่มากทั้งตลาด ผู้ผลิต ผู้บริโภค มันเหมือนกับไก่กับไข่ คนจะซื้อรถก็กังวลเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน กังวลเรื่องที่ชาร์จ แต่คนจะลงทุนสร้างที่ชาร์จก็ไม่กล้าลงทุน เพราะกลัวไม่มีคนใช้ ฝั่งซัพพลายก็ไม่ต่างกัน จะให้ลงทุนทำโรงงานผลิตแบตฯ ก็กังวลเรื่องโรงงานประกอบรถ คนประกอบรถก็กลัวหาแบตฯ ไม่ได้ นี่คือ ปัญหาของแวร์ลูเชนของอีวี” เอกชัย อธิบาย
ปัจจุบัน กลุ่มอรุณ พลัสได้แบ่งการทำงานเป็น 6 บริษัท ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ได้แก่
- Nuovo Plus บริษัทร่วมทุนระหว่าง Arun Plus กับ GPSC ผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่
- Horizon Plus โรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจรที่ลงทุนร่วมกับ FOXCONN
- on-ion ผลิต จำหน่าย และติดตั้ง EV Charger
- EVme Plus ดิจิทัลแพลตฟอร์มให้เช่าใช้รถ EV เพื่อให้ผู้ที่สนใจมีโอกาสสัมผัสประสบการณ์การใช้งานรถอีวี
- Swap & Go แพลตฟอร์มให้บริการสลับแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า แบบไม่ต้องรอชาร์จ
อีวีแบรนด์ไทย เป็นไปได้แค่ไหน?
ถึงแม้จะบอกว่า อรุณพลัส ทำธุรกิจเกี่ยวกับอีวีอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ แต่หนึ่งในคำถามที่หลายคนอยากรู้คือ อรุณพลัสจะทำแบรนด์รถยนต์ของตัวเองไหม หรือ แบรนด์รถอีวีสัญชาติไทยจะเกิดขึ้นได้ไหม โดยทาง เอกชัย ตอบเพียงว่า ไม่แน่ ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ ไม่ง่าย
เอกชัย อธิบายว่า การจะให้กำเนิดแบรนด์รถสักแบรนด์ไม่ง่าย เพราะมีรายละเอียดอื่น ๆ ที่ต้องลงทุนอีกมาก เนื่องจากรถยนต์เป็นสินค้าที่มีราคาสูง ดังนั้น ผู้บริโภคจึงมีปัจจัยในการตัดสินใจซื้อรถยนต์ที่ต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือเรื่องของความเชื่อมั่นในแบรนด์ ซึ่งตอนนี้ตลาดยังเพิ่งเริ่มต้น ยังไม่สามารถบอกได้ว่าผู้บริโภคติดแบรนด์ไหม กล้าที่จะซื้อแบรนด์ที่ไม่รู้จักหรือเปล่า
นอกจากนี้ แค่ตลาดไทยยังไม่พอ แต่ต้องมองถึงต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะการจะขายรถอย่างน้อยต้องสามารถขายได้ 5-6 หมื่นคัน/ปี เพื่อให้มี Economy of Scale ซึ่งถ้าจะขายให้ได้ปีละ 5-6 หมื่นคันแค่ในประเทศไทยนั้นยาก ไม่เพียงแค่นี้ แต่การมีแบรนด์ไทยอาจส่งผลถึง การลงทุนจากแบรนด์ต่างชาติ ที่อาจทำให้เขาไม่กล้าลงทุน เพราะไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะสนับสนุนแต่แบรนด์ในประเทศหรือไม่ ฉะนั้น การสร้าง national brand จะต้องพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียให้ครบทุกด้าน
กระบะ โอกาสแบรนด์อีวีไทย?
ไม่ง่ายแต่ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ โดย เอกชัย เล่าต่อว่า รถกระบะ ถือเป็น แชมเปี้ยนโมเดลของไทย โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้ผลิตรถกระบะ อันดับ 2 ของโลก อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านคัน/ปี เป็นรองเพียงอเมริกา ในขณะที่ตลาดรถอีวีในปัจจุบัน รถกระบะยังถือเป็นความท้าทายของหลาย ๆ แบรนด์
ราคากระบะในไทยมีเงิน 5-6 แสนบาท ก็ซื้อได้ แต่ถ้าเป็นรถกระบะไฟฟ้า ยังไม่มีแบรนด์ไหนทำราคาต่ำกว่าล้านได้ นอกจากนี้ รถกระบะไฟฟ้าต้องแบกน้ำหนักแบตเตอรี่ จึงทำให้ความจุของรถจำกัด บางรายจุได้เพียง 400-500 กิโลกรัม เท่านั้น จากที่รถกระบะสันดาปจุได้ 1 ตัน ดังนั้น ด้วยข้อจำกัดจึงมีทั้งราคาและความจุ ทำให้นี่อาจเป็นโอกาสของไทยในอนาคต
โฟกัสที่รับจ้างผลิตก่อน
แม้ในปัจจุบันการเป็นเจ้าของแบรนด์อาจจะยาก แต่ถ้าเป็นผู้รับจ้างผลิตนั้นมีโอกาสเติบโตไม่น้อย ซึ่งอรุณพลัสมีบริษัท Horizon Plus ที่ลงทุนร่วมกับ FOXCONN ในการเปิด โรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร โดย เอกชัย อธิบายว่า โอกาสของ Horizon Plus อยู่ที่แบรนด์รถอีวีที่เป็น New Comer ที่ยังไม่กล้าจะลงทุนสร้างโรงงานผลิตเอง ซึ่ง Horizon Plus จะเป็นทางเลือก รวมถึงแบรนด์รถยนต์สันดาปที่อยู่ในตลาดมานาน ก็สามารถมาลองผลิตกับอรุณ พลัสก่อนได้
“เราลงทุนถึง 2 หมื่นล้านบาทกับโรงงาน มีกำลังผลิต 5 หมื่นคัน/ปี ซึ่งเป็นการลงทุนที่สูง ดังนั้น ถ้าไม่มั่นใจจริง ๆ ไม่มีแบรนด์ไหนกล้าลงทุน หรือแบรนด์ที่มีโรงงานที่ผลิตรถสันดาปอยู่แล้ว แต่จะให้ผันตัวเองไปผลิตอีวียังไม่ใช่เรื่องง่าย เราจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะ OEM ให้ เพราะเขาก็ไม่อยากตกขบวน”
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของ Horizon Plus คือ ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีศักยภาพ เพราะ FOXCONN ผลิตสินค้าไอทีไม่เคยผลิตรถ อรุณพลัสก็ไม่เคยผลิตรถ แต่เราก็มั่นใจว่ามีทีมวิจัยที่พัฒนาเรื่องอีวีมานาน ปัจจุบัน มีการออกแบบสเก็ตบอร์ดสำหรับรถอีวี (MIH Platform) ที่แบรนด์สามารถใช้ได้เลย ได้แก่ โมเดล E และ C สำหรับรถกระบะและ SUV และโมเดล B สำหรับรถเล็กราคาไม่ถึงล้านบาท
“เรามั่นใจว่าเรามีความพร้อม แบรนด์รถที่สนใจมาเปิดตลาดในประเทศแต่ยังไม่อยากลงทุนเงินก้อนใหญ่ สามารถมาร่วมธุรกิจกับอรุณพลัสในการผลิตรถแบบที่ต้องการได้ด้วยต้นทุนที่ถูก ระยะเวลาการผลิตที่สั้นลงจึงสามารถส่งสินค้าออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว”
สถานีชาร์จ คุ้มลงทุนแค่ไหน
อีกคำถามที่หลายคนสงสัย ในเมื่อผู้ที่มีรถอีวีชาร์จทิ้งไว้ที่บ้านได้ และกำไรจากการชาร์จไฟก็น้อยนิด จะคุ้มค่ากับการลงทุนแค่ไหน เอกชัย ยอมรับว่า นี่ก็เป็นอีกความท้าทาย เพราะ กำไรการขายไฟไม่ได้เหมือนกับน้ำมัน และต้องยอมรับว่าที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่เลือกใช้รถอีวีเพราะความประหยัดมาเป็นเรื่องหลัก เรื่องลดมลพิษเป็นเรื่องรอง ดังนั้น ถ้าราคาไฟแพงใกล้เคียงน้ำมัน คงไม่มีใครใช้ ดังนั้น แค่ขายไฟอย่างเดียวอาจไม่คุ้ม
“เราเห็นว่าผู้บริโภค 80-90% ชาร์จไฟบ้าน คือจอดทิ้งไว้ 7-8 ชั่วโมง ส่วนคนที่มาชาร์จข้างนอกจะเป็นการไปต่างจังหวัด ไม่ก็คนที่อยู่คอนโด ซึ่งเขาจะใช้แบบควิกชาร์จ ซึ่งต้นทุนของการทำสถานีควิกชาร์จ 1 แห่งอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาท”
ดังนั้น เอกชัย มองว่า อาจต้องมีอีโคซิสเต็มส์อื่น ๆ เสริม อย่างอรุณพลัสมีการติดตั้งสถานีชาร์จในปั๊มน้ำมัน ซึ่งส่วนนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของ OR (บริษัทในกลุ่ม ปตท.) ที่จะสร้างรายได้จากอีโคซิสเต็มส์อื่น ๆ ส่วนการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์อื่น ๆ อาทิ คอนโด, ห้างสรรพสินค้าจะเป็นการแบ่งกำไรจากการชาร์จ
“ความท้าทายคือ เราจะไปติดตั้งในที่เขา แต่เราไม่อยากให้เขามองว่าเรามาหารายได้ แต่อยากให้มองในมุมที่เราก็ช่วยดึงดูดผู้ใช้อีวี สร้างภาพลักษณ์ให้ห้างฯ ด้วย”
นอกจากฝั่ง 4 ล้อ อรุณพลัสก็มีบริษัท Swap & Go แพลตฟอร์มให้บริการสลับแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันเรากำลังพยายามลองหลาย ๆ โมเดล และกำลังคุยกับหลาย ๆ ที่เพื่อชวนมาลงทุน ทั้งผลิตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และสวอปปิ้งสเตชั่น คาดว่ากลางปีจะได้เห็นดีลดังกล่าวเป็นรูปเป็นร่าง
“ประเทศไทยผลิตมอเตอร์ไซค์ปีละ 2 ล้านคัน โดยรถมอเตอร์ไซค์ จะเป็นรถที่เห็นช่องว่างของการเติมน้ำมันกับการใช้ชาร์จไฟมากที่สุด อย่างรถ 4 ล้อเทียบต้นทุนการเติมน้ำมันกับชาร์จไฟจะอยู่ประมาณ 2-3 เท่า แต่ถ้าเป็นมอเตอร์ไซค์เซฟ 5-6 เท่า อย่างไรก็ตาม เรามองว่า มอเตอร์ไซค์ที่ใช้ส่วนมากเป็นไรเดอร์ เขาจะมารอครึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมงไม่ได้ ดังนั้น ต้องใช้การเปลี่ยน เราคิดแล้วว่าเฉลี่ยมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 1 คันใช้แบตฯ เฉลี่ย 1.5 ก้อน นั่นคือปัญหา เพราะใช้เงินลงทุนค่อนข้างเยอะ”
คนไทยยังกังวลอะไร
ที่ชาร์จก็ยังเป็นอีกข้อกังวล แม้ว่าจะยังไม่เห็นเสียงบ่น แต่ถ้าเป็นในช่วงวันหยุดหรือการออกต่างจังหวัด ถ้ามีดีมานด์มาพร้อม ๆ กันก็ถือว่าไม่เพียงพอ ดังนั้น ในมุมมองคนไทยยังไม่ถือว่า การใช้รถไฟฟ้านั้นสะดวกสบายเท่ารถสันดาป ส่วนในด้านของราคา ประสิทธิภาพ ไม่ใช่เรื่องที่คนไทยกังวล
นอกจากนี้ ยังมีบางส่วนที่กังวลเรื่องน้ำท่วมบ้าง เพราะประเทศไทยน้ำท่วมเยอะ ส่วนแบตเตอรี่ก็อยู่ใต้ท้องรถ ซึ่งในทางเทคนิค แบตเตอรี่จะสามารถป้องกันน้ำได้ในระดับหนึ่งเหมือนกับสมาร์ทโฟน ดังนั้น แปลว่าโดนน้ำได้ 1 เมตร ไม่ควรอยู่เกิน 1 ชั่วโมง แต่ถ้าถามว่า เทียบกับรถน้ำมันอะไรลุยน้ำได้มากกว่ากัน ถือเป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะรถสันดาปก็มีข้อจำกัดเยอะ ทั้งพัดลม ท่อไอเสีย ถ้าน้ำเข้าจบเลย แต่รถไฟฟ้ามีปัญหาแค่แบตฯ อย่างเดียว
EVme Plus อีกแพลตฟอร์มช่วยให้คนไทยได้ลองอีวี
ผ่านฝั่งต้นน้ำ-กลางน้ำไปแล้ว ในส่วนของปลายน้ำ อรุณพลัสก็มี EVme Plus แพลตฟอร์มเช่าใช้รถอีวี ที่ทำออกมาเพื่ออยากให้ผู้บริโภคได้ ลองก่อนซื้อ ว่าใช้แล้วตอบโจทย์แค่ไหน นอกจากนี้ ยังเป็นตัวช่วยในการศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้ไทยเพื่อมาตอบโจทย์การลงทุนต้นน้ำ เช่น พฤติกรรมคนใช้รถวิ่งไกลแค่ไหน, ปกติชาร์จที่ไหนเป็นหลัก เป็นต้น เพื่อดีไซน์การลงทุนส่วนต้นน้ำ
“ตอนนี้คนรุ่นใหม่มองรถเป็นทรัพย์สินลดลง เขามองว่ารถถูกจอดมากกว่าใช้ ดังนั้น แพลตฟอร์มนี้นอกจากจะช่วยให้คนไทยได้ลองใช้รถอีวี ยังทำให้เขาได้มาลองดูว่าเช่าใช้ดีกว่าซื้อหรือเปล่า”
ปัจจุบัน ในแพลตฟอร์มมีรถประมาณ 500 คัน โดยเป็นการลงทุนซื้อเองทั้งหมด ดังนั้น โจทย์คือ ต้องหาเงินลงทุนมาซัพพอร์ต ซึ่งปีนี้เรามีกลยุทธ์ ROSE คือ
- R : Rent เช่าใช้ ปัจจุบันให้บริการทั้ง B2C และ B2B
- O : Owner โดยจะเป็นออนไลน์ดีลเลอร์ให้แบรนด์รถยนต์ สำหรับใครที่ลองแล้วอยากซื้อ ก็ซื้อกับเราได้เลย
- S : Subscription สำหรับให้ผู้บริโภคมาสมัครเป็นเมมเบอร์ โดยเราจะนำเสนอเซอร์วิสต่าง ๆ ให้
- E : Earn สำหรับผู้ที่มีรถอีวีแล้วอยากหารายได้ สามารถนำรถมาให้เช่าผ่านแพลตฟอร์มได้
ปัจจุบันการเช่าใช้กว่า 50% เป็นการเช่าแบบ B2B ส่วนลูกค้าทั่วไปส่วนใหญ่คนจะเช่า 3 วัน เน้นในช่วงวันหยุด และที่เห็นคือ ส่วนใหญ่ที่เช่าจะเป็นกลุ่มคนที่มีรถอยู่แล้ว
ความพร้อมไทยเทียบกับในภูมิภาคในตลาดอีวี
อินโดนีเซีย ถือเป็นตลาดใหญ่ แต่ตลาดรถยนต์ยังมีความหลากหลายน้อยส่วนใหญ่ใช้รถเล็กและรถ 7 ที่นั่ง แต่ที่อินโดฯ ได้เปรียบในตลาดอีวีคือ มี แร่นิเกิล ซึ่งใช้สำหรับผลิตแบตฯ อันดับ 1 ของโลก คิดเป็น 8 แสนตัน จาก 3 ล้านตัน ซึ่งปัจจุบัน อินโดฯ ก็ห้ามส่งออกแร่นิกเกิลที่ถลุงแล้ว นักลงทุนต้องลงทุนมาตั้งโรงงานผลิตแบตฯ เพื่อส่งออกเท่านั้น ซึ่งเขาก็มองว่าถ้ามีแบตฯ เดี๋ยวการผลิตรถก็ตามมา
มาเลเซีย มีความพร้อมในด้านสมาร์ทอิเลกทรอนิกส์ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ส่วน เวียดนาม มีแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าของตัวเองก็คือ แบรนด์ VinFast แต่ยังไม่เห็นการลงทุนของแบรนด์อื่น ๆ ในตลาดเวียดนามโดยเฉพาะจากจีน
ส่วน ไทย มีความได้เปรียบตรงที่ดีมานด์ โดยตลาดรถยนต์ไทยครองสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของตลาดอาเซียน ปัจจุบัน ไทยสามารถผลิตรถยนต์ได้ปีละ 2 ล้านคัน ถือเป็นอันดับ 10 ของโลก โดย 50% เป็นการส่งออก ดังนั้น ไทยมีจุดเด่นเรื่องความพร้อมด้านซัพพลายเชนด้านยานยนต์ นอกจากนี้ ภาครัฐเองก็พยายามผลักดัน เช่น มาตรการซับซิไดซ์รถยนต์ไฟฟ้า กระตุ้นดีมานด์ แต่มีเงื่อนไขว่าแบรนด์ต้องมาตั้งโรงงานในไทย
ความท้าทายของอรุณพลัสและผู้ประกอบการไทย
ปัจจุบัน อะไหล่ของรถยนต์สันดาป 1 คัน 90% ผลิตภายในประเทศ แต่ในจำนวนนี้มีเพียง 50% ที่นำมาใช้กับรถอีวีได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวต่อดิสรัปชั่น อย่างไรก็ตาม อรุณพลัสวางตัวไว้ว่าจะ ส่งเสริม ดังนั้น อรุณพลัสจะเน้นผลิตแต่ของที่ไม่สามารถหาได้จากในประเทศ เช่น แบตฯ และ เซมิคอนดักเตอร์ เพื่อจะไม่แข่งขันกับผู้ประกอบการไทยรายย่อย
“แน่นอนว่ารถสันดาปคงไม่ได้หยุดผลิตวันนี้พรุ่งนี้ แต่ผู้ประกอบการไทยต้องคิดแล้วว่าจะไปยังไงต่อถ้ารถอีวีมาแล้วรถสันดาปหายไป แม้ปัจจุบันรถอีวีทั่วโลกจะคิดเป็นเพียง 1% ของยอดสะสม 1 พันล้านคัน แต่ปีที่ผ่านมารถใหม่มีสัดส่วน 10% หรือประมาณ 9 ล้านคัน ดังนั้น ตลาดรถอีวีมาเร็วมาช้าหรือเร็วไม่รู้ แต่มาแน่”
เอกชัย ย้ำว่า ความท้าทายของอรุณพลัสตอนนี้คือ ต่อทั้งภาพไม่ให้มันสะดุด ต้องสร้างซัพพลาย สร้างดีมานด์ และตอบโจทย์พฤติกรรมการใช้รถในอนาคตให้ได้ ซึ่งอรุณพลัสก็ต้องการพาร์ทเนอร์มาเชื่อมต่อเพราะไม่สามารถทำได้ทั้งหมด นอกจากนี้ อีกสิ่งที่เป็นความท้าทายคือ คน เพราะอีวีเป็นเรื่องใหม่ การหาคนจึงไม่ง่าย อรุณพลัสต้องสร้างเสน่ห์ดึงดูดให้คนมาร่วมกับอรุณพลัส