อสังหาฯ วางแผนเปิดตัว “โครงการใหม่” มากแค่ไหนในปี 2566

Positioning รวมข้อมูลจาก 10 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ประกาศแผนธุรกิจปี 2566 พบว่า ปีนี้บริษัทรายใหญ่-รายกลางจะเปิดตัวโครงการรวมกัน 214 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 3.14 แสนล้านบาท

เมื่อแบ่งตามประเภทโครงการ กลุ่มโครงการแนวราบได้รับความนิยมมากกว่า โดยจะมีการเปิดตัว 170 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 2.23 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 71% ของภาพรวม

ส่วนโครงการแนวสูง มีแผนเปิดตัว 44 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 9.11 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 29% ของภาพรวม

จะเห็นได้ว่าปีนี้ผู้ประกอบการก็ยังเน้นการพัฒนาโครงการแนวราบมากกว่า โดยบางบริษัทเลือกที่จะไม่เปิดโครงการคอนโดมิเนียมเลย เช่น บมจ.สิงห์ เอสเตท หรือ บมจ.ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ และบางบริษัทเปิดคอนโดฯ ในสัดส่วนที่น้อยมาก เช่น บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ที่มีแผนเพียงโครงการเดียว และเป็นโครงการขนาดเล็กเพียง 1,000 ล้านบาท

“ปีนี้ยังไม่มีการเปิดคอนโดฯ เพราะเรายังมีสต็อกขายเพียงพอ และเรามองตลาดคอนโดฯ ลักชัวรีก็ยังไม่กลับมา ตั้งแต่ปีที่แล้วที่มีการเปิดคอนโดฯ ใหม่กันมาก จะเห็นว่าเป็นกลุ่มราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ตลาดที่ขายดีก็เป็นกลุ่มซื้อไว้ปล่อยเช่ามากกว่า” ณัฐวุฒิ มัธยมจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการพัฒนาธุรกิจพักอาศัย บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวในมุมของบริษัทว่าทำไมจึงยังไม่มีการเปิดคอนโดฯ ใหม่

บางบริษัทเชื่อในตลาด “คอนโดฯ”

ในทางกลับกัน บางบริษัทยังคงหรือกลับมาเดินหน้าเต็มที่ในตลาดคอนโดฯ เช่น บมจ.แอสเสทไวซ์, บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ บมจ.เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ ซึ่งมีสัดส่วนมูลค่าเปิดตัวคอนโดฯ มากกว่าแนวราบ

กลุ่มนี้จะสังเกตได้ว่าเป็นบริษัทที่เติบโตมาด้วยการพัฒนาคอนโดฯ อยู่เป็นทุนเดิม แม้ตลาดรวมจะยังเทไปที่โครงการแนวราบ แต่ด้วยความถนัดทำให้บริษัทมีแนวโน้มที่จะพัฒนาคอนโดฯ มากกว่า เช่น แอสเสทไวซ์ ที่ลุยในกลุ่มแคมปัสคอนโดใกล้มหาวิทยาลัย

อีกบริษัทที่ลงทุนคอนโดฯ มากกว่าค่าเฉลี่ยตลาดคือ บมจ.แสนสิริ ซึ่งให้สัดส่วนเปิดตัวกลุ่มคอนโดฯ 32.4% จำนวนโครงการจะเปิดคอนโดฯ ถึง 22 แห่ง สะท้อนให้เห็นความมั่นใจว่าตลาดคอนโดฯ จะกลับมา

“ก่อนโควิด-19 เราเปิดคอนโดฯ เฉลี่ยปีละ 22,000-25,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นปีนี้ก็กลับไปอยู่ในสภาวะปกติ” องอาจ สุวรรณกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม บมจ.แสนสิริ กล่าว “เราดูจังหวะจากสต็อกคอนโดฯ พร้อมอยู่เราลงมาเหลือ 8,000 ล้านบาท จากระดับที่เหมาะสมควรมี 12,000 ล้านบาท ทำให้การเปิดตัวปีนี้จะเป็นการเติมพอร์ต มองว่าไม่ได้ aggressive เกินไป”

ยังเหลืออีกหลายบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางที่ยังไม่แถลงแผน เช่น บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้, บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง, บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชัน, บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์, บริษัท เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย, บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ฯลฯ อาจรอติดตามได้อีกครั้งว่าหลังทุกบริษัทประกาศแผนครบ สัดส่วนจะยังคงเน้นหนักที่โครงการแนวราบหรือไม่