“Beacon Impact Fund” ประเดิมเงินลงทุน 1,200 ล้าน กองทุนเพื่อ “สตาร์ทอัพ” ที่ทำธุรกิจด้าน ESG


“เรากำลังยืนอยู่บนทางแยกของการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมและสังคม อยู่ที่เราเลือกว่าจะแก้ไขอย่างไร” ด้วยมายด์เซ็ทนี้ทำให้ “บีคอน วีซี” ในเครือ KBank เปิดตัวกองทุนใหม่ “Beacon Impact Fund” มูลค่าเงินลงทุน 1,200 ล้านบาท เพื่อลงทุนกับ “สตาร์ทอัพ” ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ ESG โดยตรง หวังเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนธุรกิจที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงโลก

“ในฐานะ Global Citizen เราจะทำอะไรให้กับโลกนี้ เมื่อเราเป็นเจนเนอเรชันที่รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม และเราจะเป็นเจนเนอเรชันสุดท้ายที่ยับยั้งได้ทัน” ธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด กล่าวเปิดถึงที่มาของการก่อตั้ง Beacon Impact Fund ขึ้น

ESG นั้นเป็นมิติทางสังคมที่หลายองค์กรทั่วโลกให้ความสำคัญ บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งต่างมีนโยบายด้าน ESG เช่น Unilever, Walmart, Salesforce, HSBC, Citibank รวมถึง ธนาคารกสิกรไทย (KBank) ก็เช่นกัน ล่าสุดธนาคารมีนโยบายที่จะใช้งบลงทุนสนับสนุนด้าน ESG ทั้งภายในองค์กรตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธนาคาร คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1-2 แสนล้านบาท จากนี้ไปจนถึงปี 2573

สำหรับ ESG นั้นเป็นตัวย่อของมิติทางสังคมแบ่งเป็น 3 ประเด็นคือ Environment, Social และ Governance ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องซึ่งกันและกัน เมื่อโลกของเรามีสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ทรัพยากรบนโลกลดลง ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางสังคม เพราะประชากรบนโลกบางส่วนมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรที่มีจำกัด ขณะที่บางส่วนไม่ได้รับและต้องอาศัยอยู่บนความแร้นแค้นยากจน จนในที่สุดถูกเอารัดเอาเปรียบจากสังคม

ขณะที่ผลตอบรับจากผู้บริโภคปลายทางต่อบริษัทที่มีนโยบายด้านนี้ก็มีแนวโน้มไปในทางที่ดี เนื่องจากมีการวิจัยพบว่า 79% ของผู้บริโภคพร้อมที่จะอุดหนุนสินค้าและบริการของบริษัทที่มีนโยบาย ESG และมีถึง 49% ที่ตอบว่าตนเคยหันมาเลือกใช้สินค้าและบริการของบริษัทที่มีนโยบาย ESG แล้วเพื่อเป็นการสนับสนุนอีกด้วย


Beacon Impact Fund อัดงบ 1,200 ล้านบาท

จากนโยบายของ KBank ที่จะสนับสนุนด้าน ESG ส่วนหนึ่งของนโยบายนี้จะลงทุนผ่านกองทุนบีคอน วีซี ทำให้บริษัทจัดตั้ง “Beacon Impact Fund” ขึ้น ด้วยเม็ดเงินลงทุน 1,200 ล้านบาท หรือประมาณ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ กรอบระยะเวลา 3 ปี (2566-68)

จุดประสงค์ของกองทุนนี้ต้องการลงทุนในระดับ “Impact Investing” คือลงทุนกับสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ ESG โดยตรง และต้องเป็นสตาร์ทอัพในช่วง Post-revenue หมายถึงอยู่ในช่วงที่สร้างรายได้ได้แล้ว พิสูจน์โมเดลธุรกิจว่ามีแนวโน้มทำกำไร เนื่องจากการทำธุรกิจย่อมต้องมีกำไรเพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาวด้วย

โดยการชี้วัดว่าธุรกิจใดจะถือว่ามีจุดประสงค์ด้าน ESG ทางบีคอน วีซี จะยึดหลักการของสหประชาชาติ UN SDGs (United Nation’s Sustainable Development Goals) ซึ่งมีทั้งหมด 17 เป้าหมาย เช่น ขจัดความยากจน, รับรองการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี, รับรองพลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคน เป็นต้น

จากเป้าหมายเหล่านี้ บีคอน วีซี ยกตัวอย่างธุรกิจที่ถือว่าเข้ากรอบการลงทุนใน Beacon Impact Fund เช่น ธุรกิจพลังงานสะอาด, ธุรกิจเกี่ยวกับ Circular Economy, ธุรกิจเกี่ยวกับการจัดการลดคาร์บอน, ธุรกิจเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบสาธารณสุข, ธุรกิจเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจทางการเงิน และธุรกิจเพื่อปกป้องสิทธิผู้บริโภค เป็นต้น

ทั้งนี้ กองทุนนี้พร้อมที่จะร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพทั่วโลก แต่จะเน้นเลือกการลงทุนในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นส่วนใหญ่

ธนพงษ์คาดว่า เฉลี่ยแล้วบริษัทสามารถลงทุนร่วมกับสตาร์ทอัพได้ปีละประมาณ 5 บริษัท ร่วมลงทุนบริษัทละประมาณ 2-3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะนี้มีบริษัทสตาร์ทอัพที่สนใจลงทุนบ้างแล้ว โดยจะเป็นสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจสอดคล้องกับจุดประสงค์กองทุน เช่น พัฒนาเทคโนโลยีแปลงรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า, เทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร, เทคโนโลยีลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรม เป็นต้น

ปัจจุบันบีคอน วีซีมีงบลงทุนรวมทุกกองทุนนับตั้งแต่เปิดบริษัทสะสม 265 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8,000 ล้านบาท มีการลงทุนแล้ว 160 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5,000 ล้านบาท

“การลงทุนกับบริษัทที่เน้นด้าน ESG จะเป็นสัญญาณไปสู่ธุรกิจที่ยังมีเป้าหมายมุ่งเน้นแต่ด้านกำไรด้วยว่า หากหันมาให้ความสำคัญกับ ESG ด้วยก็จะมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเดิม รวมถึงส่งสัญญาณไปถึงผู้บริโภคเพื่อมาช่วยกันอุดหนุนสินค้าและบริการจากบริษัทที่ส่งเสริมด้าน ESG อีกทางหนึ่ง เพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนช่วยเหลือกันได้จริง” ธนพงษ์กล่าวปิดท้าย