Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมากล่าวปาฐกถาที่จัดในกรุงปักกิ่งในงาน China Development Forum ว่า เศรษฐกิจของจีนนั้นควรจะก้าวเดินไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการบริโภค ทดแทนเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยภาคการผลิต
ในปาฐกถาดังกล่าว กรรมการผู้จัดการของ IMF กล่าวถึงเศรษฐกิจในปี 2023 ถือว่ามีความท้าทายอีกปี เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกเติบโตต่ำกว่า 3% ซึ่งได้รับผลจากการแพร่ระบาดของโควิด การบุกยูเครนโดยรัสเซีย รวมถึงนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจในปี 2024 จะมีภาพรวมดูดีขึ้น แต่คาดการณ์เศรษฐกิจก็ยังเติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ยังเติบโตที่ 3.8%
แม้ว่าเศรษฐกิจโลกในภาพรวมอาจดูเหมือนมีแต่ความย่ำแย่ แต่เธอได้ชี้ว่าในเรื่องที่ดีก็ยังมีการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีน
เธอได้ชี้ว่าเศรษฐกิจจีนกำลังฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง และการคาดการณ์ของ IMF ในเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้นคาดว่า GDP เติบโตได้ 5.2% ในปีนี้ เพิ่มขึ้นอย่างจากปี 2022 มากกว่า 2% การขับเคลื่อนการเติบโตนี้คือการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจจีนได้กลับมามีกิจกรรมตามปกติ
โดย GDP ของจีนในปี 2022 ที่ผ่านมาเติบโตเพียงแค่ 3% เท่านั้น และจีนยังมีปัญหาประชากรลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติมา
นอกจากนี้เธอยังชี้ให้เห็นความสำคัญของเศรษฐกิจจีนที่เติบโตว่า ถ้าหาก GDP จีนเติบโตทุก 1% (1 Percentage Point) จะส่งผลต่อ GDP ของประเทศในเอเชียเติบโตถึง 0.3%
และเธอได้ยกบทกลอนจีนว่า “งานทั้งปีขึ้นอยู่กับการเริ่มต้นที่ดีในฤดูใบไม้ผลิ” ซึ่งเธอชี้ว่าเศรษฐกิจจีนสามารถสร้างผลเชิงบวกผ่านนโยบายเศรษฐกิจที่ครอบคลุม และเศรษฐกิจจีนในช่วงเวลานี้อยู่บนเส้นทางกำลังเติบโตและกำลังจะบรรจบไปยังการเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าได้
เธอได้ชี้ถึง 2 ประเด็นที่จะทำให้จีนไปอยู่บนเส้นทางดังกล่าวได้แก่
- การเพิ่มผลิตภาพและปรับสมดุลของเศรษฐกิจให้ห่างไกลจากการลงทุน (โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานหรืออสังหาริมทรัพย์) และนำเศรษฐกิจไปสู่การเติบโตที่ขับเคลื่อนด้วยการบริโภคมากขึ้น ลดการก่อนหนี้ลง รวมถึงการเป็นเศรษฐกิจสีเขียวด้วย ซึ่งการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวจะต้องมีระบบสวัสดิการด้านสุขภาพและการประกันการว่างงานด้วย
- เศรษฐกิจจีนจะต้องปฏิรูปที่มุ่งเน้นไปยังระบบตลาด เพื่อยกระดับการแข่งขันระหว่างภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ควบคู่ไปกับการลงทุนด้านการศึกษา ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ
กรรมการผู้จัดการของ IMF ได้ยกผลการวิจัยว่าถ้าหากจีนปฏิรูปเศรษฐกิจนั้น เศรษฐกิจจีนจะเพิ่มผลิตภาพโดยสามารถเพิ่ม GDP ที่แท้จริงได้มากถึง 2.5% ภายในปี 2027 และเพิ่มขึ้นราว 18% ภายในปี 2037 ซึ่งเป็นการเติบโตที่มีคุณภาพและครอบคลุมมากขึ้น
และยิ่งไปกว่านั้น เธอชี้ว่าข้อเสนอดังกล่าวยังช่วยชดเชยปัญหาด้านประชากรศาสตร์ (Demographic) ที่จีนกำลังประสบปัญหาอยู่ และลดช่องว่างที่จะนำเศรษฐกิจจีนไปสู่ระดับรายได้ทางเศรษฐกิจขั้นสูงได้เร็วยิ่งขึ้น