พนักงานธุรกิจ “ขนส่งมวลชน” ทั่วประเทศ “เยอรมนี” ไม่ว่าจะเป็นในสนามบิน รถไฟ รถบัส จะร่วมกัน “สไตรค์” นัดหยุดงานครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ เพื่อเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงอย่างน้อย 10.5% สู้กับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงมาตั้งแต่ปีก่อน
หลังเข็มนาฬิกาล่วงเลยเข้าสู่เวลา 00:01 น. วันที่ 27 มีนาคม 2023 ในเยอรมนี การนัดหยุดงานของพนักงาน “ขนส่งมวลชน” เมืองเบียร์ก็เริ่มขึ้น โดยถือเป็นการสไตรค์ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
การนัดหยุดงาน 1 วันเต็มในวันนี้ เป็นความร่วมมือของพนักงานขนส่งมวลชนรวมหลายแสนคน ภายใต้สหภาพแรงงานหลายแห่ง ซึ่งจะกระทบการขนส่งมวลชนหลายประเภท สนามบินทุกแห่งยกเว้นในเบอร์ลินจะไม่มีคนทำงานกราวด์และรักษาความปลอดภัย กระทบเที่ยวบินประมาณ 1,500 เที่ยวบิน ไปจนถึงพนักงานขนส่งมวลชนท้องถิ่นทั้ง 16 รัฐของเยอรมนี พนักงานบนทางด่วน พนักงานท่าเรือชายฝั่ง กระทั่งพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถไฟทั่วประเทศ จะหยุดงานทั้งหมดในวันนี้
ข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานนั้นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม สหภาพแรงงาน Ver.di ซึ่งเป็นตัวแทนหลักของพนักงานด้านการบิน ยื่นข้อเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงอย่างน้อย 10.5% หรือประมาณ 500 ยูโรต่อเดือน ขณะที่ EVG ซึ่งเป็นสหภาพพนักงานการรถไฟ ยื่นข้อเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรง 12% หรือประมาณ 650 ยูโรต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้คำตอบของนายจ้างด้านธุรกิจการบินต้องการจะขึ้นค่าแรงให้ 5% เท่านั้น บวกกับโบนัสจ่ายครั้งเดียวอีก 2,500 ยูโร เช่นเดียวกันในกลุ่มนายจ้างธุรกิจรถไฟ ตอบว่าจะขึ้นค่าแรงให้ 5% และไม่มีโบนัสเพิ่มเติม
เมื่อการเจรจาไม่ได้ตามเป้าทำให้นำมาสู่การนัดหยุดงานพร้อมกันทั่วประเทศวันนี้ จากที่ก่อนหน้านี้พนักงานด้านขนส่งมวลชนมีการนัดสไตรค์กันมาเนืองๆ แต่ไม่เคยรวมตัวกันทั้งประเทศพร้อมกัน
เหตุที่พนักงานทนไม่ไหวต้องนัดหยุดงานประท้วง เพราะอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นมาตั้งแต่ปี 2022 จนปัจจุบันก็ยังไม่หยุด ยกตัวอย่างเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับขึ้นมาแล้ว 9.3% เทียบกับปีก่อน แม้ว่าธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB จะพยายามสกัดด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาแล้วหลายครั้ง
- การบินไทยยกเลิก 6 เที่ยวบินไปแฟรงก์เฟิร์ตและมิวนิก 26-27 มี.ค.นี้ หลังพนักงานในเยอรมนีนัดหยุดงาน
- บริษัทชั้นนำของ ‘ญี่ปุ่น’ ปรับ ‘ขึ้นเงินเดือนครั้งใหญ่’ ในรอบหลายสิบปี รับมือวิกฤต ‘เงินเฟ้อ’
เยอรมนีเป็นประเทศที่เคยพึ่งพิงแก๊สจากรัสเซียอย่างมาก ก่อนที่จะเกิดสงครามยูเครนขึ้น ทำให้เยอรมนีได้รับผลกระทบหนักเพราะต้องดิ้นรนหาแหล่งพลังงานใหม่ ในระหว่างนั้นอัตราเงินเฟ้อจึงพุ่งขึ้นสูงมากกว่าค่าเฉลี่ยในยุโรป
ผลร้ายจึงมาตกกับพนักงานทั่วไปที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นทุกอย่างตั้งแต่ราคาเนยจนถึงค่าเช่าบ้าน ค่าครองชีพที่พุ่งสูงทำให้ทางสหภาพแรงงานมองว่าการขึ้นค่าแรงเป็นเรื่องของ “การเอาชีวิตรอด” ของพนักงาน
อย่างไรก็ตาม ฝั่งนายจ้าง เช่น Deutsche Bahn บริษัทผู้รับสัมปทานเดินรถไฟ ออกมาตอบโต้เมื่อวานนี้ว่า การนัดหยุดงานเป็นเรื่องที่ “เกินเหตุ ไม่มีเหตุผล และไม่จำเป็น” แถมเหล่านายจ้างทั้งหลายยังเตือนด้วยว่า หากขึ้นค่าแรงให้พนักงานขนส่งมวลชน บริษัทจะปรับค่าโดยสารและภาษีที่เก็บกับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยกับต้นทุนที่จ่ายค่าแรงเพิ่ม
ไม่เฉพาะในเยอรมนีที่พนักงานมีการประท้วง ในยุโรปอีกหลายประเทศก็มีการประท้วงเนืองๆ เช่น ฝรั่งเศส ที่ประชาชนออกมาประท้วงรัฐบาล จากการออกนโยบายยืดอายุเกษียณจาก 62 ปี เป็น 64 ปี เพราะรัฐต้องการจะลดภาระการจ่ายเงินบำนาญ ทำให้ประชาชนบางส่วนไม่พอใจเป็นอย่างมาก