เผลอแป๊บเดียว แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงอย่าง ‘วีทีวี’ (WeTV) ที่ถือเป็นผู้จุดกระแส ‘ซีรีส์จีน’ และกระแส ‘C-Pop’ ให้กับประเทศไทย ก็กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว และปัจจุบัน WeTV ก็ขึ้นแท่นเป็น Top 3 แพลตฟอร์มสตรีมมิงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง Positioning จะพาไปเจาะลึกถึงกลยุทธ์ของแพลตฟอร์มกับ กนกพร ปรัชญาเศรษฐ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและการขาย และผู้จัดการ WeTV ประจำประเทศไทย บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จตลอด 4 ปีเต็ม
คาแรกเตอร์ชัด ผู้บุกเบิกคอนเทนต์จีน
ทำตลาดในไทยมา 4 ปีเต็มแล้ว สำหรับ ‘WeTV’ ผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิงจาก ‘Tencent’ ยักษ์ใหญ่จากจีน โดย กนกพร ยอมรับว่าการแข่งขันนั้นดุเดือดขึ้นทุกวัน เพราะไทยถือเป็นหมุดหมายแรก ๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงจะเข้ามาทำตลาด โดยผู้เล่นแต่ละรายก็จะมี จุดเด่น และ คาแรกเตอร์ เพื่อดึงดูดผู้ใช้ที่แตกต่างกันไป สำหรับ WeTV ก็จะเน้นที่คอนเทนต์เอเชียโดยเฉพาะ ซีรีส์จีน
ปัจจุบัน WeTV ถือเป็นผู้นำในตลาดคอนเทนต์จากเอเชีย โดยมีทั้งซีรีส์ อนิเมะ รายการวาไรตี้ จากจีน ไทย เกาหลี และญี่ปุ่น สำหรับบนแพลตฟอร์มของ WeTV ที่ให้บริการในไทยนั้นมีจำนวนคอนเทนต์รวมกว่า 1,200 คอนเทนต์ โดยเฉพาะกลุ่มคอนเทนต์จีนที่มีอยู่บนแพลตฟอร์มถึง 50% ซึ่งแบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่ ซีรีส์จีนย้อนยุค (60%) และโมเดิร์นดราม่า (40%)
“ถ้าคนอยากดูคอนเทนต์จีน เขาก็จะนึกถึงเราเป็น Top of Mind แต่คอนเทนต์จีนอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอเพราะเขามองหาความหลากหลาย ดังนั้น อีก 50% ที่เหลือจะมีทั้งคอนเทนต์จากไทย, เกาหลี, ญี่ปุ่น และอนิเมะ เข้ามาเสริม”
ซีรีส์จีนไม่ได้โบราณอย่างที่คิด
ถ้าเป็นกลุ่มผู้ใหญ่หรือคนยุค 90 อาจจะคุ้นเคยกับซีรีส์และภาพยนตร์จีนมากกว่าคนเจนใหม่ แต่ กนกพร มองว่านั่นไม่ใช่ข้อจำกัด เพราะซีรีส์จีนในปัจจุบันไม่ได้เหมือนในอดีต แม้ฉากหลังจะย้อนยุคแต่พล็อตเรื่องเป็นแบบสมัยใหม่ เพราะซีรีส์ส่วนใหญ่จะสร้างมาจากนิยาย ทำให้คนเปิดใจได้ไม่ยาก นอกจากนี้ ดารา คอสตูม เอฟเฟกต์ การถ่ายทำ ก็อลังการ ทำให้สามารถรับชมได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง นอกจากนี้ ก็จะมีกลุ่มที่เป็นแฟนนิยายตามมาดูซีรีส์
“ซีรีส์จีนในยุคปัจจุบันแม้จะมีฉากหลังเป็นยุคเก่า แต่พล็อตเรื่องมีความร่วมสมัยและหลากหลายมาก ทั้งแนวต่อสู้กำลังภายใน สืบสวนสอบสวน อย่างเรื่อง เทียบท้าปฐพี (Who Rules The World) ก็มีนางเอกเป็นตัวนำในการดำเนินเรื่อง แหวกขนบสังคมชายเป็นใหญ่”
โดยในปีที่ผ่านมา WeTV มีจำนวนผู้ใช้งาน MAU (Monthly-active user) เติบโตขึ้น 20% ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยในฝั่งของไทยตลอด 3 ปีที่ผ่านมายอดการรับชมคอนเทนต์จีนยังเป็นอันดับ 1 เติบโต 12%
(รองลงมาคือคอนเทนต์ไทยและอนิเมะ) ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าในกลุ่มผู้ใช้งานคนไทยตอบสนองต่อคอนเทนต์จีน โดยปัจจุบัน ผู้ใช้งาน WeTV ในไทยนั้น ราว 75% เป็นกลุ่มอายุ 18-45 ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
ย้ำจุดแข็งเบอร์หนึ่งคอนเทนต์เอเชีย พร้อมส่ง ‘มินิซีรีส์’ เสริมแกร่งด้านคอนเทนต์
ในส่วนของกลยุทธ์ด้านคอนเทนต์ แน่นอนว่าคอนเทนต์จีนยังเป็นกลยุทธ์หลัก แต่ที่เพิ่มเติมคือ มินิซีรีส์ โดยจะเป็นซีรีส์ สั้น ๆ ตอนละ 5-10 นาที มีความยาวประมาณ 30 ตอน โดยหลังจากลองเปิดตัวมาประมาณ 1 ปีในไทยก็ได้รับกระแส ตอบรับอย่างดี เกิดกระแสบนโลกออนไลน์มากมาย สอดคล้องกับการเติบโตของระยะเวลาการออกอากาศบนแพลตฟอร์ม WeTV ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่โตถึง 420% สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการและความนิยมคอนเทนต์ประเภทวิดีโอสั้น (Short-video) ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจุดเด่นของมินิซีรีส์คือ จะสามารถดูง่าย จบในตอน ปัจจุบัน มินิซีรีส์ในแพลตฟอร์มมีมากกว่า 100 เรื่อง อีกส่วนที่จะเน้นคือ อนิเมะจีน ที่จะมาจับกลุ่มผู้ชายเป็นหลัก รวมถึงคอนเทนต์ประเภท วาไรตี้ ที่จะช่วยดึงดูดกลุ่มเด็กอายุ 15-18 ปี
สำหรับคอนเทนต์ออริจินัล WeTV ก็มีแผนจะผลิตอย่างต่อเนื่องทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทย โดยประเทศไทยได้วางเป้าหมายที่จะผลิตให้ได้ปีละ 4-6 เรื่อง ทั้งซีรีส์วายและซีรีส์ดราม่า โดยจะนำไปฉายให้ครบทุกประเทศที่แพลตฟอร์มให้บริการ อย่างล่าสุดซีรีส์ เมียหลวง ก็ได้รับความนิยมทั้งในไทยและต่างประเทศ ด้วยการครองอันดับ 1 ในหลายพื้นที่ให้บริการทั้งไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา โดยหนึ่งในจุดมุ่งหมายในการทำออริจินัลของ WeTV คือ อยากทำคอนเทนต์ไทยไปสายตาโลก
“อย่างที่เขาพูดกันว่าซีรีส์วายก็อาจจะกลายเป็นหนึ่งในซอฟต์เพาเวอร์ของไทยได้ เพราะเป็นอีกคอนเทนต์ที่ไปตกแม่ ๆ จากต่างประเทศ สำหรับ WeTV ปีที่แล้วก็มีออริจินัลซีรีส์วายออกไป 2 เรื่อง คือ กลรักรุ่นพี่ และ 609 Bedtime Story สำหรับปีนี้ล่าสุดก็มีการจับมือกับพาร์ทเนอร์ผลิตซีรีส์วายอย่าง Dee Hup House และ Just Up นำซีรีส์วาย “ค่อยๆ รัก Step by Step” เวอร์ชัน Uncut มาออกอากาศที่ WeTV ”
ขยายพันธมิตร 100% ทุกด้าน
ที่ผ่านมา WeTV ขยายฐานพันธมิตรแทบ 100% ในทุกแกนทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาค ซึ่งการจับมือกับพันธมิตรถือเป็นอีกกลยุทธ์ของแพลตฟอร์มทั้งการเพิ่มจำนวนผู้ใช้และรายได้ โดยในฝั่งของการเพิ่มจำนวนผู้ใช้ WeTV ได้จับมือกับช่องดิจิทัลทีวี เช่น ช่อง 8 ที่นำซีรีส์จีนไปฉายตลอด 7 วัน เพื่อให้ผู้บริโภคได้ลองรับชมซีรีส์จีน ถือเป็น Win-Win Strategy
เพราะช่องก็ได้คอนเทนต์คุณภาพไปฉาย ส่วน WeTV อาจจะได้ลูกค้าใหม่ที่ไม่อยากรอชมคอนเทนต์บนทีวี
อีกกลุ่มพันธมิตรสำคัญคือ ผู้ให้บริการการสื่อสารและโทรคมนาคมชั้นนำในแต่ละประเทศ อาทิ Telkomsel และ Indihome ในประเทศอินโดนีเซีย AIS, TRUE และ DTAC ในประเทศไทย โดยในระดับภูมิภาค WeTV ยังเป็นพันธมิตรกับแบรนด์และเอเจนซีโฆษณาชั้นนำระดับโลกมากมาย ซึ่ง WeTV ยังเตรียมจัดกิจกรรมโรดโชว์รายไตรมาสในภูมิภาค เพื่อเพิ่มโอกาสด้านพันธมิตรใหม่ๆ ทั้งกลุ่มเอเจนซีโฆษณา อาทิ GroupM, Omnicom Media Group (OMG), และ Dentsu รวมถึงกลุ่มนักโฆษณาและการตลาดในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มองเห็นศักยภาพจากการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย ผ่าน WeTV
“เราเชื่อว่าทุกคนพยายามมองหาสิทธิพิเศษให้กับกลุ่มลูกค้าของเขา เราก็ขอเป็น 1 ในสิทธิพิเศษที่เขาจะให้กับลูกค้า โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่กลุ่มโฮมเอนเตอร์เทนเมนต์เติบโตสูงมากจริง ๆ รวมไปถึงการทำโฆษณาบนแพลตฟอร์ม OTT เพราะปัจจุบันผู้บริโภคยอมรับชมโฆษณามากขึ้น”
เข้าหาแม่ ๆ ในทุกทัชพอยต์
กนกพร ย้ำว่า แน่นอนว่าทุกแพลตฟอร์มใช้คอนเทนต์เป็นสิ่งแรกในการดึงดูดผู้ใช้ แต่สิ่งสำคัญคือ การสื่อสารกับผู้ใช้งาน โดย WeTV ให้ความสำคัญกับ คอมมิวนิตี หรือ แฟนด้อม มาก ดังนั้น บนแพลตฟอร์มเองก็จะมีการนำเทคโนโลยีจาก Tencent มาพัฒนา In-App engagement Feature ไม่ว่าจะเป็น Killing Feature อย่าง Flying Comment หรือคอมเมนต์เรียลไทม์ระหว่างรับชมคอนเทนต์ และฟีเจอร์ Send Love ที่ให้แฟนๆได้ร่วมส่งของขวัญ ร่วมโหวตให้กับดารา ศิลปินที่ชื่นชอบได้ นอกจากนี้ยังนำฟีเจอร์นี้มาผนวกกับ On Ground Activity เช่น กิจกรรมแฟนมีตติ้ง หรือกิจกรรม WeTV AWARDS ที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานได้มีส่วนร่วมกับ WeTV แบบเอ็กซ์คลูซีฟตลอดทั้งกิจกรรม นอกจากนี้ WeTV ก็มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับเหล่าแฟนคลับซีรีส์จีนและคอมมิวนิตีที่อยู่บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ
“เหล่าแฟนคลับหรือแม่ ๆ สำคัญมาก เพราะถ้าเขาดูและเขาชื่นชอบก็จะมีการบอกต่อ เราก็จะมีการทำงานอย่างใกล้ชิด พยายามจัดงานแฟนมีตกับศิลปิน และมีการใช้ฟีเจอร์อย่าง Live เพื่อให้แฟนคลับทางบ้านได้ดูด้วย โดยเราพยายามจะจัดให้ได้ 4-6 ครั้ง/ปี”
โอกาสเติบโตมากพอ ๆ กับความท้าทาย
สำหรับเป้าหมายของ WeTV ในปีที่ 5 นี้ กนกพร ระบุว่า ต้องการรักษาการเติบโตที่ 20-30% และต้องการขยายกลุ่มผู้ใช้ที่เด็กลง ปัจจุบัน ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตไทยมีประมาณ 52 ล้าน ผู้ที่ใช้งาน OTT มีประมาณ 26 ล้านคน เฉลี่ยผู้ใช้จะมีแพลตฟอร์มประมาณ 4.5 แพลตฟอร์ม/คน แสดงว่ายังมีโอกาสสร้างการเติบโต
ปัจจุบัน สัดส่วนของผู้ใช้งานแบบ VIP ในแต่ละวันมีสัดส่วนประมาณ 25% โดยเป้าหมายของ WeTV ในอนาคตคือ เพิ่มสัดส่วนเป็น 50% โดย WeTV ก็ได้มีการจัดแพ็คเกจที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค เช่น แพ็คเกจ 129 บาท/เดือน, 339 บาท/ 3 เดือน และ 1,200 บาท/ปี อย่างไรก็ตาม WeTV ให้บริการแบบไฮบริด ดังนั้น แพลตฟอร์มจึงสามารถเติบโตจากสมาชิกและรายได้จากฝั่งโฆษณา
“ความท้าทายของแพลตฟอร์ม OTT ในตอนนี้ คือ ผู้ใช้แต่ละกลุ่มก็ชัดมากและไม่ค่อยข้ามกัน ดังนั้น เมื่อตัวเลือกเยอะขึ้น การแข่งขันก็ต้องเพิ่มขึ้น และในอนาคตจะยิ่งเห็นการแข่งขันด้านราคากันมากขึ้น สำหรับ WeTV เองมองว่าว่าในความท้าทายตรงนี้ ยังมีโอกาสให้เราเติบโตได้ ไม่ว่าผู้ใช้จะอยากเอ็นจอยคอนเทนต์เราแบบไหน เราก็พยายาม Customize แพ็คเกจให้ตอบโจทย์มากที่สุด”
จากทั้ง 3 กลยุทธ์ที่ WeTV ได้วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มคอนเทนต์คุณภาพใหม่ ๆ การขยายพันธมิตรในทุกมิติทั้งด้านคอนเทนต์ไปจนถึงการเข้าถึงผู้ใช้งานและคู่ค้า รวมถึงการเสริมแกร่งคอมมิวนิตีทั้งจากพลังของกลุ่มแฟนๆภายนอกและ In-App Feature ล้วนตอกย้ำว่า WeTV ไม่หยุดอยู่แค่ Top 3 ผู้ให้บริการคอนเทนต์คุณภาพของเอเชียแน่นอน และ WeTV ก็พร้อมใช้ความแข็งแกร่งของแพลตฟอร์มเป็นส่วนผลักดันคอนเทนต์ไทยให้ออกไปสู่สายตาผู้ชมทั่วโลกอีกด้วย