มัดรวมแพลตฟอร์ม ‘E-Wallet’ ในไทย เหลือผู้เล่นคนไหนบ้าง หลัง ‘ดอลฟิน วอลเล็ท’ ยุติการให้บริการ

หลังจากที่แพลตฟอร์ม เจดี เซ็นทรัล (JD CENTRAL) ประกาศยุติการให้บริการในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม ที่ผ่านมา ทำให้ ดอลฟิน วอลเล็ท (Dolfin Wallet) แพลตฟอร์มอีวอลเล็ทของบริษัท เซ็นทรัล เจดี มันนี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเครือเซ็นทรัล และบริษัท เจดี (JD) อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีนก็ต้องออกมายุติการให้บริการในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ ดังนั้น ไปดูกันว่า แพลตฟอร์มอีวอลเล็ทที่ยังให้บริการในไทยเหลือใครอยู่บ้าง!

ทรูมันนี่ วอลเล็ท (TrueMoney Wallet)

แพลตฟอร์มอีวอลเล็ทที่มีเจ้าของเป็นสตาร์ทอัพ Fintech ระดับยูนิคอร์น หรือก็คือ Ascend Money ซึ่งก่อตั้งโดย ศุภชัย เจียรวนนท์ ตั้งแต่ปี 2015 ที่เริ่มจากการเติมเกม ปัจจุบัน ทรูมันนี่ วอลเล็ทมีบริการที่หลากหลาย โดยให้บริการครอบคลุม 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย เมียนมา กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม มีผู้ใช้มากกว่า 50 ล้านรายทั่วภูมิภาค และสำหรับประเทศไทยมีฐานลูกค้ามากกว่า 27 ล้านราย

สำหรับจุดแข็งของทรูมันนี่ วอลเล็ท ก็คือ จุดชำระ โดยเฉพาะสินค้าและบริการในเครือซีพี อาทิ เซเว่นอีเลฟเว่นก็มีกว่า 13,000 สาขาทั่วประเทศไปแล้ว ปัจจุบัน จุดรับชำระของแพลตฟอร์มมีกว่า 7 ล้านจุด มากสุดในประเทศไทย สามารถใช้จ่ายบนร้านค้าออนไลน์กว่า 1.3 ล้านร้านค้าทั่วโลก

แรบบิท ไลน์ เพย์ (Rabbit LINE Pay)

ถ้าเป็นคนกรุงเทพฯ ที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้า BTS บ่อย ๆ เชื่อว่าก็คงจะใช้บริการ Rabbit LINE Pay แน่นอน ซึ่ง Rabbit LINE Pay นั้นเป็นแพลตฟอร์มที่เกิดจาก LINE Thailand ร่วมมือกับทาง Rabbit Card หลังจากนั้นก็มี mPay แพลตฟอร์มบริการทางการเงินของ AIS

โดยจุดเด่นของ Rabbit LINE Pay ก็คือ การใช้งานผ่านแพลตฟอร์ม LINE ได้เลยโดยไม่ต้องโหลดแอปฯ เพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นการซื้อตั๋ว BTS, ซื้อสินค้าใน LINE เช่น สติกเกอร์ รวมไปถึงร้านค้าชั้นนำต่าง ๆ ทั้งนี้ ตัวเลข ณ ปี 2021 Rabbit LINE Pay มีจำนวนผู้ใช้กว่า 8 ล้านราย ขณะที่ผู้ใช้งานไลน์ในปัจจุบันอยู่ที่ 53 ล้านราย

ช้อปปี้เพย์ (ShopeePay)

ShopeePay หรือชื่อเดิม AirPay แพลตฟอร์มอีวอลเล็ทจาก Sea Group ที่ตอนแรกมีจุดเริ่มต้นเพื่อใช้เติมเกมในเครือ Garena ก่อนที่จะมารุกตลาดอีคอมเมิร์ซด้วยแพลตฟอร์ม Shopee และจากที่จุดเริ่มต้นของ AirPay ที่ออกมาเพื่อเสริมอีโคซิสเต็มส์ของ Garena แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นเพย์เมนต์สำคัญของ Shopee จนในปี 2022 ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ShopeePay เต็มตัว

จุดเด่นของ ShopeePay ก็คือ หากช้อปปิ้งใน Shopee ก็จะสิทธิประโยชน์มากกว่าการจ่ายผ่านช่องทางอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งฟรี ได้เครดิตเงินคืน หรือเป็น Coins สำหรับนำมาใช้ในการซื้อสินค้าครั้งต่อไป ทั้งนี้ ShopeePay ไม่มีการเปิดเผยถึงจำนวนผู้ใช้ในไทย แต่มีรายงานว่าทั่วทั้งภูมิภาคมีผู้ใช้รวมกว่า 23.2 ล้านคน (ณ ปี 2021)

เป๋าตัง (Paotang)

เรียกว่าเป็น แอปฯ สามัญประจำบ้าน ก็ว่าได้ สำหรับ เป๋าตัง ที่พัฒนาโดย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพราะในช่วงที่เกิด COVID-19 แพลตฟอร์มดังกล่าวถือเป็นช่องทางในการรับการเยียวยาจากภาครัฐอย่าง คนละครึ่ง โดยการชำระผ่าน จี-วอลเล็ท (G-Wallet) ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบันผู้ใช้งานแอปเป๋าตังอยู่ 40 ล้านคน และมีมูลค่าธุรกรรมในบริการพื้นฐานต่าง ๆ สูงกว่า 1 แสนล้านบาท

แน่นอนว่าจุดเด่นของแพลตฟอร์มนอกจากการใช้สิทธิมาตรการรัฐ ยังมี ร้านถุงเงิน ที่รับชำระผ่านเป๋าตังกว่า 1.8 ล้านร้านค้า รวมถึงสามารถซื้อ สลากกินแบ่งรัฐบาล ได้ภายในแพลตฟอร์ม (จุดแข็งสุด ๆ) และล่าสุด เป๋าตังจึงเปิดตัว เป๋าตังค์เปย์ เป็นบริการอีวอลเล็ทใหม่บนแอปฯ เป๋าตัง ที่สามารถใช้จ่ายได้ในชีวิตประจำวันแยกจากจี-วอลเล็ท

จริง ๆ แล้วแพลตฟอร์มอีวอลเล็ทนอกจาก Dolfin Wallet ที่ลาตลาดไปก็มี Blue Pay ที่ปิดตัวไปตั้งแต่ปี 2021 นอกจากนี้ยังมีบริการวอลเล็ทที่ใช้เฉพาะในอีซิสเต็มส์ของตัวเอง เช่น GrabPay Wallet เป็น Wallet จากทาง Grab ที่ใช้งานกับเฉพาะแอป Grab เท่านั้น เช่นเดียวกับ Lazada Wallet ที่ใช้เฉพาะกับ Lazada เป็นต้น ซึ่งจะเห็นว่าผู้เล่นที่เหลือรอดจะเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ มีร้านรับชำระเงินที่เป็นจุดแข็งของ และสิทธิประโยชน์เพื่อสร้างความต่างจาก Mobile Banking ถึงจะสามารถดึงดูดให้คนมาใช้ได้