“สิงคโปร์” อัปเดตระบบ “วีซ่า” ดึงทาเลนต์เข้าประเทศ เปิด 27 อาชีพคะแนนสูง-พร้อมอ้าแขนรับ

Photo : ROSLAN RAHMAN / AFP
รัฐบาล “สิงคโปร์” เปิดรายละเอียดอัปเดตระบบ “วีซ่า” ทำงานของชาวต่างชาติที่จะเริ่มใช้ในเดือนกันยายน 2023 โดยจะเปลี่ยนมาเป็นการ “ให้คะแนน” รวมจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือการประกอบ 27 อาชีพที่สิงคโปร์ต้องการ

ตั้งแต่วิศวกรด้านปัญญาประดิษฐ์​ (AI) จนถึงผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์ หรือสายงานนักวิทยาศาสตร์ด้านโปรตีนทางเลือก เหล่านี้คือส่วนหนึ่งในรายการอาชีพ 27 รายการที่รัฐบาลสิงคโปร์ปล่อยออกมาว่าจะเป็นอาชีพที่ได้คะแนนสูงในระบบให้วีซ่าแบบใหม่ และเป็นเครื่องสะท้อนว่าสิงคโปร์กำลังต้องการผลักดันให้เหล่าบริษัทต่างๆ เดินไปในทิศทางไหนหลังโรคระบาดคลี่คลาย

นักวิเคราะห์มองว่า ระบบวีซ่าใหม่ของสิงคโปร์มุ่งเน้นให้นายจ้างมีส่วนร่วมในการผลักดันเศรษฐกิจท้องถิ่นให้มากขึ้น กรุยทางให้ธุรกิจต่างๆ เปลี่ยนกลยุทธ์การจ้างงานเพื่อให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสิงคโปร์เป็นอันดับแรก

ปัจจุบันสิงคโปร์มีแรงงานต่างชาติคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งเกาะซึ่งมีอยู่ 5.64 ล้านคน ในจำนวนนี้มีกลุ่มที่ได้วีซ่าประเภท Employment Pass (EP) ซึ่งเป็นวีซ่าของชาวต่างชาติที่ทำงานในระดับผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือทำงานอาชีพพิเศษต่างๆ ประมาณ 187,300 คน หรือ 13% ของแรงงานต่างชาติทั้งหมด (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2022)

ระบบใหม่ที่จะเริ่มใช้เดือนกันยายน 2023 นั้นจะเรียกว่า COMPASS ซึ่งเน้นการประเมินกลุ่มแรงงาน EP เป็นหลัก ผู้สมัครวีซ่าประเภท EP ทั้งหมดจะต้องผ่านการประเมิน 4 หัวข้อ ได้แก่ เงินเดือน, คุณสมบัติ, ความหลากหลายภายในบริษัทผู้ว่าจ้าง และอัตราส่วนของคนสิงคโปร์ที่อยู่ในบริษัทนั้นๆ

ทั้งนี้ การประเมินแต่ละหัวข้อจะให้คะแนนเป็น 3 ระดับ คือ 0 คะแนน, 10 คะแนน และ 20 คะแนน เพื่อที่จะได้ EP ในระบบใหม่ ผู้สมัครจะต้องได้คะแนนครบ 40 คะแนน

ในหัวข้อคุณสมบัตินั้นจะถูกประเมินเรื่องอาชีพที่ทำ ซึ่งสิงคโปร์มีการออก “ลิสต์อาชีพที่ขาดแคลน” (SOL) เมื่อเดือนมีนาคม ปรากฏว่า มีทั้งหมด 27 สายอาชีพใน 6 อุตสาหกรรม ที่ถือว่าขาดแคลน และจะได้คะแนนเต็ม 20 คะแนนไปในหัวข้อนี้

อาชีพเหล่านี้รัฐบาลสิงคโปร์มองว่าเป็นอาชีพที่มีแรงงานไม่เพียงพอ จำเป็นต้องดึงดูดชาวต่างชาติเข้ามาเสริมชาวสิงคโปร์ โดย Nikkei Asia มีการรวบรวมตัวอย่างจาก 27 อาชีพไว้ ดังนี้

อุตสาหกรรมเกษตร: นักวิทยาศาสตร์ด้านโปรตีนทางเลือก

อุตสาหกรรมการเงิน: ที่ปรึกษาด้านการลงทุนให้กับผู้มีความมั่งคั่งสูง, ที่ปรึกษา Family Office (สำนักงานครอบครัวเพื่อดูแลทรัพย์สินตระกูล), ที่ปรึกษาด้านการกุศล

อุตสาหกรรมสีเขียว: ผู้จัดการโครงการคาร์บอนเครดิต, เทรดเดอร์คาร์บอนเครดิต

อุตสาหกรรมสุขภาพ: นักจิตวิทยาคลินิก, นักรังสีการแพทย์, นักกายภาพบำบัด, พยาบาลอาชีพ

อุตสาหกรรมไอซีที: วิศวกรด้านปัญญาประดิษฐ์​ (AI), ผู้เชี่ยวชาญด้านคลาวด์, ผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยงทางไซเบอร์, นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล, นักพัฒนาซอฟต์แวร์

อุตสาหกรรมเดินเรือ: ผู้กำกับการเดินเรือ

System Security Specialist Working at System Control Center. Room is Full of Screens Displaying Various Information.

ไฮไลต์ในลิสต์ SOL จะเห็นว่าอย่างไรคนทำงานสายเทคก็ยังเป็นที่ต้องการตัว ขณะเดียวกันคนทำงานสายการเงินที่สิงคโปร์พุ่งเป้าจะเป็นกลุ่มที่จัดการเกี่ยวกับความมั่งคั่ง เพราะสิงคโปร์เห็นโอกาสที่จะเป็นฮับสำหรับบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียมากยิ่งขึ้น

รวมถึงการมุ่งหาทาเลนต์ด้านการพัฒนาโปรตีนทางเลือก ก็เพราะสิงคโปร์วางเป้าไว้แล้วว่าจะเป็นฮับด้านนวัตกรรมอาหารแห่งเอเชีย

รัฐบาลสิงคโปร์ยังระบุด้วยว่า SOL จะถูกอัปเดตทุกๆ 3 ปี แต่ถ้าหากจำเป็น บางอาชีพอาจจะรีวิวใหม่ทุกปีก็ได้

สำหรับหัวข้ออื่นๆ ที่นำมาคิดคะแนนด้วย เช่น อัตราส่วนของพนักงานชาวสิงคโปร์ในบริษัท สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้สนใจเฉพาะตัวบุคคลที่ขอเข้ามาทำงานในประเทศเท่านั้นอีกต่อไปแล้ว แต่ต่อไปนี้บริษัทที่มาตั้งในสิงคโปร์จะต้องช่วยรัฐบาลพัฒนาคนสิงคโปร์ด้วย เป็นการผลักดันให้บริษัทต้องรับคนสิงคโปร์และช่วยฝึกฝนให้พนักงานสิงคโปร์มีทักษะสูงขึ้น ลดการพึ่งพิงแต่ชาวต่างชาติ

ที่ผ่านมาสถาบันการเงินจากต่างประเทศมากมาย เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป ที่เข้ามาปักหลักสำนักงานในสิงคโปร์ มักจะใช้ระดับผู้บริหารเป็นคนจากประเทศต้นกำเนิดของตนเอง ซึ่งระบบ COMPASS ก็จะกดดันให้บริษัทลักษณะนี้หันมาจ้างคนสิงคโปร์ให้มากขึ้น

Source