‘เอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ ทำสถิติ ‘ร้อน’ สุดเป็นประวัติการณ์ คาดในช่วง 10 ปีข้างหน้าอาจแตะ 51 องศาเซลเซียส

ชาวไทยอย่างเราอยากชินแต่ก็คงไม่ชินสักทีกับสภาพอากาศที่ร้อนระอุขึ้นทุกวัน ๆ ได้แต่หวังว่าที่กรมอุตุฯ คาดว่าจะมีฝนจะตกจริงอย่างที่ว่า แน่นอนว่าไม่ใช่ไทยที่ร้อนขึ้น แต่เป็นทั้งภูมิภาค และนี่ยังไม่ใช่จุดสูงสุด แต่ยังร้อนขึ้นได้อีกในช่วง 10 ปีจากนี้ โดยภูมิภาคเอเชียอาจร้อนได้สูงสุด 51 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว

ปัจจุบัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด ซึ่งทำให้เกิดคลื่นความร้อนบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น และทำให้มลพิษทางอากาศในภูมิภาคเลวร้ายลง การรวมกันของความร้อนสูงและระดับหมอกควันสูงในภูมิภาคทำให้ความเสี่ยงของการเจ็บป่วยจากความร้อนเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับปัญหาระบบทางเดินหายใจและหัวใจและหลอดเลือด

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกทำให้ทั้งคลื่นความร้อนและมลพิษทางอากาศทวีความรุนแรงขึ้นในภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประสบกับอุณหภูมิที่ร้อนระอุในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยบางพื้นที่ทำสถิติสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์

อย่างเมือง เตืองเดือง ใน เวียดนาม อุณหภูมิพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 44.2 องศาเซลเซียส ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ตามมาด้วย หลวงพระบาง ในประเทศ ลาว มีอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 43.5 องศาเซลเซียส ในช่วงวันเสาร์ที่ผ่านมา 

ส่วน กรุงเทพฯ เมืองหลวงของ ไทย ก็เจอกับอุณหภูมิที่สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 41 องศาเซลเซียส ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเช่นกัน ด้านอุณหภูมิใน สิงคโปร์ เองแม้จะไม่สูงเท่าประเทศก่อนหน้า โดยอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส แต่ก็เท่ากับสถิติสูงสุดตลอดกาลที่บันทึกไว้เมื่อ 40 ปีก่อน

สำหรับอุณหภูมิที่ร้อนระอุในปีนี้สามารถเชื่อมโยงกับปัญหาหลายอย่าง รวมถึงปริมาณน้ำฝนที่ลดลงในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา และปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งเป็นรูปแบบสภาพอากาศที่โดยทั่วไปจะนำสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งมาสู่ภูมิภาค 

เดือนที่ร้อนที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยทั่วไปคือตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งอุณหภูมิมักจะสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส โดยทั่วไปแล้วฤดูแล้งของภูมิภาคจะสิ้นสุดลงเมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูมรสุม ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิเย็นลงและมีฝนตกชุก

อย่างไรก็ตาม การศึกษาในปี 2565 จากวารสาร Communications Earth & Environment เตือนว่า ระดับความร้อนที่เป็นอันตรายนั้นคาดว่าจะเกิดขึ้นบ่อยขึ้น 3 ถึง 10 เท่าภายในสิ้นศตวรรษนี้ โดยภูมิภาคเขตร้อนรวมถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ของเอเชียอาจเผชิญกับ ความร้อนที่อันตรายอย่างยิ่ง ที่ 51 องศาเซลเซียส หรือเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตามการศึกษา และเอเชียเผชิญกับอันตรายทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง และไต้ฝุ่น นอกเหนือไปจากความร้อนและความชื้นที่เพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ ในปี 2565 ถือเป็นปีที่ทั่วโลกเผชิญกับอากาศที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ เนื่องจากความร้อนของมหาสมุทรเพิ่มขึ้นและน้ำแข็งที่ปกคลุมทะเลในแอนตาร์กติกาละลายจนใกล้ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ตามข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐฯ