เจ้าของรถยนต์ในเครือ Ford Motor กำลังจะได้สิทธิใช้งานสถานีชาร์จ Supercharger กว่า 12,000 แห่งทั่วสหรัฐฯ หลังจากบริษัทเซ็นดีลกับ Tesla เจ้าของสถานีชาร์จเป็นที่เรียบร้อย โดยจะเริ่มให้ใช้งานได้ตั้งแต่ปี 2024
การแข่งขันระหว่างคู่แข่งสำคัญในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าสหรัฐฯ อย่าง Ford Motor กับ Tesla มาถึงจุดที่ต้องยอมจับมือกันบ้างแล้ว เนื่องจากสถานีชาร์จที่ยังไม่เพียงพอ กลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้บริโภคยังไม่ตอบรับกระแสรถยนต์ไฟฟ้ามากเท่าที่ควร
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 บริษัท Tesla จึงออกมาประกาศว่า บริษัทจะเปิดลิขสิทธิ์การออกแบบหัวชาร์จของบริษัทเพื่อให้แบรนด์รถยนต์อื่นๆ สามารถนำไปใช้งานในการออกแบบรถยนต์ของตนเองได้
ความสำคัญของนโยบายนี้ก็คือ ปัจจุบัน Tesla เป็นเจ้าของหัวชาร์จ Supercharger กว่า 17,700 หัวชาร์จทั่วสหรัฐฯ คิดเป็น 60% ของหัวชาร์จแบบชาร์จเร็ว (fast charger) ในประเทศ หัวชาร์จลักษณะนี้สามารถเติมไฟให้รถยนต์วิ่งได้ไกลอีกหลายร้อยไมล์ภายในเวลาชาร์จไม่เกิน 1 ชั่วโมง
นโยบายของ Tesla นำมาสู่การจับมือกันกับ Ford และหลังจากนี้ Tesla จะพัฒนาอแดปเตอร์ขึ้นมาเพื่อให้หัวชาร์จ Supercharger ใช้งานกับรถอีวีของ Ford ได้
ขณะที่รถอีวีรุ่นใหม่ของ Ford ในอนาคต จะออกแบบหัวชาร์จให้สอดคล้องกับสถานีชาร์จของ Tesla จะได้ไม่ต้องใช้อแดปเตอร์ให้ยุ่งยากอีกต่อไป คาดว่าหัวชาร์จแบบใหม่ของ Ford ที่ใช้งานกับสถานีชาร์จ Tesla ได้โดยตรงจะเริ่มใช้งานราวปี 2025
“แนวคิดนี้เกิดจากเราไม่ต้องการให้เครือข่าย Supercharger กลายเป็นเหมือนพวกสวนประดับบนกำแพง เราอยากให้มันเป็นอะไรที่ช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนสู่โลกรถยนต์ไฟฟ้าและการขนส่งที่ยั่งยืนในสังคมทั่วไป” อีลอน มัสก์ ซีอีโอของ Tesla กล่าวระหว่างเปิดห้องสนทนากับ จิม ฟาร์ลีย์ ซีอีโอของ Ford Motor ใน Twitter Spaces
“เราชอบโลเคชั่นของ Supercharger เราชอบความเสถียร ซอฟต์แวร์ของคุณ และความสะดวกในการใช้งาน” ฟาร์ลีย์กล่าวในการสนทนาดังกล่าว “Tesla วิ่งเป็นพายุทะลุสถานีรถไฟเหมือนกับชินคันเซนที่วิ่งได้เร็ว 300 กม.ต่อชม. และเรากำลังเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง”
- ลีนองค์กร! “ฟอร์ด” จะทยอย “เลย์ออฟ” พนักงานในยุโรป 3,800 คน ปรับทิศสู่การผลิตรถอีวี
- แก้เกมผู้ซื้อหวังโปรโมชัน? Tesla ทำเซอร์ไพรส์ “ปรับขึ้น” ราคารถในตลาดสำคัญ ขึ้นแรงที่สุดในจีน
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2023 ฟาร์ลีย์เป็นผู้ประกาศความร่วมมือในครั้งนี้ และบอกด้วยว่าในแง่โครงสร้างพื้นฐานแล้ว เขาเชื่อว่ายังมีช่องว่างให้บริษัทยานยนต์หันมาทำงานร่วมกันได้ “ซึ่งเป็นเรื่องผิดธรรมชาติของพวกเรามากๆ”
“ผมคิดว่าเราต้องเริ่มต้นได้แล้ว ผมหมายความว่า…ผมคิดว่าก้าวแรกคือเราต้องทำงานร่วมกันในแบบที่เราไม่เคยทำมาก่อน เป็นไปได้ว่าเราจะทำงานกับทั้งแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าใหม่ๆ และบริษัทเก่าแก่ด้วยเช่นกัน” ฟาร์ลีย์กล่าว
ตัวอย่างหนึ่งที่ควรจะหันมาทำงานร่วมกัน คือ ฟาร์ลีย์เห็นว่ามันเป็น “เรื่องพิลึกสุดๆ” ที่อุตสาหกรรมนี้มีหัวปลั๊กชาร์จสารพัดแบบ “เราตกลงกันเรื่องปลั๊กที่จะใช้ยังไม่ได้เลย”
Ford จึงกลายเป็นผู้นำคนแรกๆ ที่ยื่นมือออกไปเป็นพันธมิตรกับ Tesla หรือแม้แต่ Nio จากจีน
อีลอน มัสก์ เองก็ดูเป็นพันธมิตรกับ Ford เช่นกัน โดยก่อนหน้านี้ มัสก์เพิ่งจะพูดปกป้อง Ford หลังบริษัทนี้มีผลประกอบการขาดทุนในกลุ่มธุรกิจรถยนต์อีวี โดยมัสก์บอกว่าการทำกำไรในไลน์ธุรกิจรถยนต์แบบใหม่ๆ นั้นยากเย็นเสมอ โดยเฉพาะเมื่อเป็นธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสูงขนาดนี้