-
“คอมมี่” (COMMY) ชี้ทิศทางตลาด “ฟิล์มกันรอย” กำลังเปลี่ยนความนิยมจาก “ฟิล์มกระจก” สู่นวัตกรรม “ไฮโดรเจลฟิล์ม” รองรับการออกแบบสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่กลุ่มจอโค้ง–จอพับได้ดีกว่า
-
ตอกย้ำช่องทางจำหน่ายแบบ Omnichannel เตรียมเปิดหน้าร้านรีเทลสาขาแรกบน “เดอะมอลล์” และส่งสินค้าขายผ่าน 7-Eleven
บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์เสริมสมาร์ทโฟนที่อยู่ในตลาดมานานอย่าง “คอมมี่” (COMMY) ปีนี้เข้าสู่ช่วงครบรอบ 30 ปี พร้อมรีแบรนดิ้งเปลี่ยนโลโก้ใหม่ และส่งสินค้านวัตกรรม “คอมมี่ ซูเปอร์ ไฮโดรเจล ฟิล์ม” เข้ามาลุยตลาด หวังเป็นฮีโร่ โปรดักส์ของปีนี้
“อรปรียา มโนวิลาส” รองประธานกรรมการ บริษัท คอมมี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยทิศทางตลาด “ฟิล์มกันรอย” ที่คาดว่ามีมูลค่าราวปีละ 6,500 ล้านบาทในไทย ปัจจุบันสินค้าในตลาด 80% เป็นฟิล์มกระจก และ 20% เป็นไฮโดรเจลฟิล์ม ซึ่งในกลุ่มหลังคอมมี่ถือเป็นผู้นำตลาด
ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทพบว่าดีมานด์ของลูกค้ามีความเปลี่ยนแปลงเห็นได้ชัด คือ กลุ่มไฮโดรเจลฟิล์มเติบโต 100% ทุกปีต่อเนื่อง กลายเป็นสินค้าแทนที่ฟิล์มกระจกที่เคยได้รับความนิยม
สาเหตุที่ไฮโดรเจลฟิล์ม ‘ฮิต’ มากกว่า เพราะในระยะหลังการออกแบบสมาร์ทโฟนมีการเปลี่ยนแปลง เริ่มมีหน้าจอแบบขอบโค้ง จอพับ และใช้งานร่วมกับปากกา ซึ่งสมาร์ทโฟนลักษณะนี้ ฟิล์มกระจกไม่สามารถใช้งานควบคู่ได้ดีมากพอ อาจติดหน้าจอได้ไม่พอดี หรือปริแตกร้าวง่ายขึ้น เป็นโอกาสของกลุ่มไฮโดรเจลฟิล์มที่ตัดให้โค้งงอตามขอบโค้งหรือการพับจอได้ เหมาะกับสมาร์ทโฟนสมัยใหม่มากกว่า
เมื่อเห็นเทรนด์ตลาด คอมมี่จึงพัฒนานวัตกรรมฟิล์มกันรอยเป็นสินค้าตัวใหม่ “คอมมี่ ซูเปอร์ ไฮโดรเจล ฟิล์ม” ผลิตภัณฑ์นี้มีการเพิ่มเนื้อเจลในฟิล์ม พัฒนาเทคโนโลยี Self-healing ทำให้ “สมานรอยขีดข่วนขนาดเล็กได้ใน 30 วินาที รอยขนาดใหญ่ทำได้ใน 2 นาที” ซึ่งเป็นเจ้าแรกของประเทศไทยที่วางจำหน่ายสินค้านวัตกรรมนี้ จากปกติไฮโดรเจลฟิล์มธรรมดาในท้องตลาดจะสมานรอยขีดข่วนได้ใน 36 ชั่วโมง
ราคาวางจำหน่ายปลีกสำหรับ “คอมมี่ ซูเปอร์ ไฮโดรเจล ฟิล์ม” วางไว้ที่ 690 บาทต่อชิ้น ถือเป็นฟิล์มกันรอยในกลุ่มพรีเมียม เทียบกับฟิล์มกันรอยราคามาตรฐานที่จะอยู่ที่ประมาณ 290 บาทต่อชิ้น
เศรษฐกิจชะลอ ผู้บริโภคยิ่งถนอมเครื่อง
ด้านภาพรวมตลาดสมาร์ทโฟนที่มีแนวโน้มจะตกลงทั่วโลก จากข้อมูลของ Canalys พบว่ายอดขายสมาร์ทโฟนทั่วโลกในช่วงไตรมาสแรกปี 2566 ลดลง -12% อรปรียามองว่าตลาดไทยน่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่สถานการณ์นี้น่าจะเป็นบวกกับการขายฟิล์มกันรอย
อรปรียากล่าวว่า ข้อมูลตลาดสมาร์ทโฟนไทยเมื่อปี 2565 มียอดขายลดลง -10% หากคิดตามจำนวนเครื่อง แต่ถ้าคิดเป็นมูลค่าแล้วตลาดโตขึ้น 10% นั่นหมายความว่า ผู้บริโภคซื้อสมาร์ทโฟนในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เจ้าของเครื่องใช้มือถืออย่างทะนุถนอมตามราคา และยิ่งเศรษฐกิจชะลอตัว ผู้บริโภคจะยิ่งต้องการยืดอายุใช้งานเครื่องให้นานที่สุด ทำให้อุปกรณ์เสริมอย่างฟิล์มกันรอยขายดี
คอมมี่ให้ข้อมูลไว้ด้วยว่า พฤติกรรมผู้บริโภคมักจะเปลี่ยนฟิล์มกันรอยราว 2-3 ครั้งต่อปี และตัวเร่งสำคัญคือนวัตกรรมใหม่ในตลาด ทำให้แม้ฟิล์มชิ้นเดิมยังไม่เสียหายมากก็มักจะเปลี่ยนทันทีเพื่อการใช้งานที่ดีขึ้น เช่น เล่นเกมได้ลื่น ดูหนังได้คมชัด
- ยอดขาย ‘สมาร์ทโฟน’ ลดต่ำสุดในรอบ 9 ปี เหตุผู้บริโภคเน้นใช้เงินกับ ‘สิ่งจำเป็น’
- ฉีกภาพ ศูนย์ไอที! “พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่” รีโนเวตเป็น “ไลฟ์สไตล์ ฮับ” รวมกวดวิชา-ร้านอาหารแทน
Omnichannel ต้องครบเครื่อง
ในแง่ช่องทางการขายปัจจุบันของคอมมี่ ยอดขาย 15% มาจากช่องทางออนไลน์ และ 85% มาจากหน้าร้าน ตัวแทนจำหน่ายที่มีกว่า 1,500 จุดทั่วประเทศ
อรปรียากล่าวว่าปีนี้บริษัทจะเน้นการสร้าง Omnichannel ให้แข็งแรงขึ้นอีก เช่น การซื้อฟิล์มกันรอยผ่านช่องทางออนไลน์ แล้วนำมาให้ผู้เชี่ยวชาญติดให้ได้ที่หน้าร้าน ทำให้บริษัทเตรียมเปิดหน้าร้านรีเทลในเครือ “เดอะมอลล์” เป็นสาขาแรก และคาดว่าจะขยายได้ 3 สาขาเร็วๆ นี้ เพื่อให้บริการลูกค้า
นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมจะส่งสินค้าเข้าจำหน่ายผ่านทาง 7-Eleven ด้วย โดยช่องทางนี้จะเน้นลูกค้าที่สะดวกติดฟิล์มกันรอยด้วยตนเอง
สำหรับภาพรวมบริษัทคอมมี่ ปัจจุบันรายได้หลัก 50% มาจากการขายฟิล์มกันรอย ส่วนอีก 50% ที่เหลือมาจากการขายพาวเวอร์แบงก์ สายชาร์จ หัวชาร์จ หูฟัง ลำโพง ฯลฯ ตลอดจนกลุ่มสุขภาพ เช่น เครื่องฟอกอากาศ หน้ากากN95