เปิดสไตล์ทำงานแบบ “ฟูมิโอะ คิชิดะ” นายกฯญี่ปุ่นผู้สั่งปลดลูกชาย เสียรัฐมนตรี 4 คนใน 3 เดือน

Fumio Kishida
(Photo by Toru Hanai - Pool/Getty Images)
นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น “ฟูมิโอะ คิชิดะ” (Fumio Kishida) เพิ่งมีคำสั่งให้รัฐบาลของตัวเองจัดสรรงบประมาณรายปี 3.5 ล้านล้านเยน (8.6 แสนล้านบาท) สำหรับสนับสนุนกองทุนเพื่อการดูแลเลี้ยงดูเยาวชนในประเทศ ตัวเลขนี้เรียกเสียงวิจารณ์ไม่น้อย หลายคนมองภาพไม่ออกว่าคิชิดะจะเอาเงินมาจากไหน ซึ่งไม่เพียงมูลค่างบปีนี้ที่สูงกว่าประมาณการ แต่แนวโน้มในอนาคตยังอาจสูงขึ้นอีกเพราะคิชิดะตั้งเป้าหมายเพิ่มค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กเป็นสองเท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ความเคลื่อนไหวนี้สะท้อนหนึ่งในสไตล์การทำงานที่โดดเด่นของคิชิดะ ความมุ่งมั่นอยากจัดการความท้าทายของประเทศในระยะยาว ทำให้คิชิดะต้องหาทางรับมือดราม่า และพยายามทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าทำไมต้องเพิ่มการสนับสนุนกองทุนเพื่อดูแลเยาวชน จากช่วงแรกที่รัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ดีมานด์ไว้ประมาณ 3 ล้านล้านเยนต่อปีเพื่อให้ครอบคลุมการขยายค่าเลี้ยงดูบุตรธิดาและสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในระหว่างการประชุมกับรัฐมนตรี นายกฯคิชิดะได้เปิดเผยแผนการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นโดยมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนการศึกษาระดับอุดมศึกษา การป้องกันการทารุณกรรมเด็กในพื้นที่ยากจน และสร้างหลักประกันด้านการรักษาพยาบาลแก่เด็กพิการด้วย

นอกจากนโยบายอัดงบหลายล้านล้านเยนเพื่อแก้ปมสังคมสูงวัยข่าวคราวอื่นของคิชิดะในช่วงนี้ยังสะท้อนหลักคิดการทำงานที่น่าสนใจได้อีก อย่างเช่นการประกาศปลดลูกชายคนโตออกจากตำแหน่งเลขานุการ เพื่อรับผิดชอบต่อกรณีที่ประชาชนไม่พอใจการใช้บ้านพักอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีในงานเลี้ยงส่วนตัว ซึ่งมีการเปิดเผยภาพงานรื่นเริงในสื่อโซเชียลอย่างกว้างขวาง สิ่งนี้แสดงถึงสไตล์การเป็นผู้นำที่รับฟัง และยอมไม่ต้านกระแสสังคมเหมือนในกรณีที่คิชิดะต้องสูญเสียรัฐมนตรี 4 คนในระยะเวลา 3 เดือน จากข้อกล่าวหาเรื่องความไม่ปกติทางการเงินหรือมีส่วนเชื่อมโยงกับลัทธิมูนหรือที่รู้จักในอีกชื่อว่า “โบสถ์แห่งความสามัคคี” (Unification Church) ที่มีข้อขัดแย้งกันอยู่

เส้นทางผู้นำที่รับฟัง

ฟูมิโอะ คิชิดะ วัย 66 ปีนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นผู้มีเส้นทางการเมืองที่น่าสนใจ คิชิดะเริ่มต้นจากการเป็น “โรนิน” ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกผู้ที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ผ่านเพราะคิชิดะถูกปฏิเสธจากมหาวิทยาลัยโตเกียวอันทรงเกียรติถึง 3 ครั้ง สร้างความลำบากใจให้กับครอบครัว ซึ่งต่างก็จบการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ จนในที่สุด คิชิดะก็ได้ศึกษากฎหมายที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ ซึ่งเขาเชื่อว่าเหมาะสมกับนิสัยใจคอของเขามากกว่า

(Photo by Eugene Hoshiko – Pool/Getty Images)

คิชิดะ ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ 9 สมัย และได้รับชับชนะจากการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) จนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 100 ของญี่ปุ่น คิชิดะภูมิใจในตัวเองที่เข้าอกเข้าใจผู้คนทั่วไป โดยมักจะจดบันทึกความคิดเห็นของผู้คนลงในสมุดบันทึกสีน้ำเงินกรมท่าที่พกติดตัวเสมอ

นอกจากเรื่องการเมืองแล้ว คิชิดะยังเป็นที่รู้จักในเรื่องความชื่นชอบในอาหารและเครื่องดื่ม คิชิดะเผยความสนุกสนานกับการทำโอโคโนมิยากิ แพนเค้กญี่ปุ่น และมีชื่อเสียงในด้านความสามารถในการดื่มสุรา นอกจากนี้ คิชิดะยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสนทนาแบบตรงไปตรงมา และมีความสนใจเรื่องการออกกำลังกายอย่างมาก

อาชีพนักการเมืองของคิชิดะได้รับอิทธิพลมาจากประสบการณ์การเหยียดผิวขณะศึกษาอยู่ที่นิวยอร์ก ซึ่งปลูกฝังให้คิชิดะมีสำนึกในความยุติธรรมและความยุติธรรม ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางการทำงานหลักของคิชิดะตลอดการเดินทางทางการเมือง โดยเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบกิจการโอกินาว่าและดินแดนทางเหนือของญี่ปุ่น รวมถึงการเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดของญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2555 ถึง 2560

หากมองจากข่าวคราวของคิชิดะ หนึ่งใน 3 แง่มุมน่าสนใจที่สุดของสไตล์การทำงานของคิชิดะคือการให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจมุมมองและความกังวลของคนทั่วไป การพกสมุดโน้ตสีกรมท่าติดตัวเพื่อเขียนความคิดเห็นและมุมมองของประชาชน แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของคิชิดะที่จะเชื่อมต่อสังคมและตอบสนองความต้องการของผู้คน โดยคิชิดะตั้งเป้าหมายที่จะเชื่อมช่องว่างระหว่างผู้กำหนดนโยบายและสาธารณะด้วยการรับฟังเสียงของประชาชนอย่างกระตือรือร้น

Fumio Kishida

อีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับรูปแบบการทำงานของคิชิดะ คือความตั้งใจของเขาที่จะแบ่งปันเรื่องราวชีวิตส่วนตัวบนโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะบน Twitter แม้ว่าบางคนจะมองว่าไม่สามารถเข้าถึงท่านนายกฯ ได้ แต่คิชิดะก็ใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพื่อให้เห็นภาพรวมของกิจกรรมประจำวันของเขา มีทั้งการแบ่งปันรายละเอียดเกี่ยวกับครอบครัว งานอดิเรก หรือแม้แต่อาหารที่ชอบ วิธีการที่โปร่งใสและสัมพันธ์กันนี้ช่วยให้คิชิดะสามารถเชื่อมต่อกับสาธารณชนในระดับส่วนตัวมากขึ้น และทำให้ภาพลักษณ์ของคิชิดะในฐานะผู้นำทางการเมืองมีความเข้าถึงง่ายขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ความสามารถของคิชิดะในการดื่มและมีส่วนร่วมในการสนทนาอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เป็นสิ่งที่โดดเด่น เพราะคิชิดะได้แสดงทักษะทางการทูตโดยมีส่วนร่วมในการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับผู้นำหลายประเทศ เช่น การสนทนากับรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียเกี่ยวกับวอดก้าและสาเก แนวทางนี้เน้นย้ำความเชื่อของคิชิดะที่ว่า การสร้างความสัมพันธ์ผ่านการเจรจาที่ตรงไปตรงมาและเปิดเผย เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการส่งเสริมสันติภาพระหว่างประเทศ

ใส่ใจความรู้สึกสาธารณะ

โดยรวมแล้ว สไตล์การทำงานของคิชิดะไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างความใส่ใจต่อความรู้สึกสาธารณะ ความโปร่งใสในการแบ่งปันชีวิตส่วนตัว และความเต็มใจที่จะมีส่วนร่วมในการสนทนาที่ไม่เป็นทางการและตรงไปตรงมา แต่ยังมีรูปแบบการทำงานอย่างน้อย 5 ลักษณะที่ทำให้วิธีการเป็นผู้นำและการกำกับดูแลของคิชิดะน่าสนใจเป็นพิเศษอีก

สไตล์แรกคือขยันหมั่นเพียรและทุ่มเท ภาพของคิชิดะโดดเด่นมากในด้านความขยันหมั่นเพียร โดยเป็นผู้นำที่ทำงานหนักและมุ่งมั่นซึ่งรับผิดชอบอย่างจริงจัง สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นในความพยายามของเขาในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน เช่น อัตราการเกิดที่ลดลงและความตั้งใจหาเงินทุนสำหรับการดูแลเด็ก

ญี่ปุ่นนั้นมีอัตราการเกิดต่ำเป็นประวัติการณ์ในปี 2565 โดยลดลงต่ำกว่า 800,000 คนเป็นครั้งแรก ซึ่งเร็วกว่าที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ถึง 8 ปี การจัดสรรเงินสำหรับการดูแลเด็กจึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดการกับการลดลงนี้และช่วยเหลือครอบครัวในประเทศ เบื้องต้น คิชิดะได้ประกาศล้มแผนปรับขึ้นภาษีการขาย พร้อมย้ำว่าจะนำทีมรัฐบาลสำรวจวิธีการระดมทุนทางอื่นที่จะไม่เพิ่มภาระให้สังคม เช่น การเพิ่มเบี้ยประกันภัยสำหรับการรักษาพยาบาลของรัฐ และลดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคม รวมถึงพิจารณาการออกพันธบัตรใหม่เพื่อระดมทุนสำหรับค่าธรรมเนียมการศึกษา

Fumio Kishida
(Photo by Du Xiaoyi – Pool/Getty Images)

สไตล์แรกนำมาสู่สไตล์การทำงานที่ 2 นั่นคือการยึดแนวทางความร่วมมือ ตรงนี้คิชิดะออกสื่อโดยแสดงความเต็มใจที่จะร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ รวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติ เจ้าหน้าที่รัฐ และผู้เชี่ยวชาญ คำให้สัมภาษณ์หลายครั้งสะท้อนว่าคิชิดะตระหนักถึงความสำคัญของการตัดสินใจร่วมกัน และแสวงหาข้อมูลจากมุมมองที่แตกต่างกันเพื่อให้แน่ใจว่ามีการแก้ปัญหาที่ครอบคลุม

สไตล์ที่ 3 คือการมุ่งเน้นไปที่การวางแผนระยะยาว เพราะคิชิดะได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะจัดการกับความท้าทายของญี่ปุ่นในระยะยาว คำมั่นสัญญาเรื่องการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กเป็น 2 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมากกว่าการแก้ไขในระยะสั้น สิ่งนี้บ่งชี้ถึงแนวทางเชิงกลยุทธ์และการคิดล่วงหน้าในการกำหนดนโยบาย

สไตล์ที่ 4 คือการเน้นที่ความโปร่งใส: แม้ว่าจะมีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการขาดรายละเอียดในแผนการสนับสนุนทุนเลี้ยงดูเยาวชนของชาติ คิชิดะได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นของความโปร่งใสในการกำกับดูแล และมองว่าการให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่สาธารณะและมีส่วนร่วมในการสนทนาอย่างเปิดเผยนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อสร้างความไว้วางใจและความรับผิดชอบในอนาคต

ประเด็นความรับผิดชอบของคิชิดะนั้นต้องขยาย ล่าสุดนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวว่าลูกชายของเขา “โชทาโร คิชิดะ” กำลังจะลาออกจากตำแหน่งเลขานุการด้านนโยบาย เพื่อรับผิดชอบการใช้บ้านพักอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีอายุกว่า 100 ปีในงานเลี้ยงส่งท้ายปีในวันที่ 30 ธันวาคม ซึ่งมีการเปิดเผยภาพถ่ายว่ามีการเชิญกลุ่มคนรวมถึงญาติกำลังโพสท่าบนบันไดปูพรมแดง โดยเลียนแบบภาพถ่ายกลุ่มของคณะรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ แถมยังมีลูกชายอยู่ตรงกลาง ในตำแหน่งที่สงวนไว้สำหรับนายกรัฐมนตรี ขณะที่ภาพถ่ายอื่นแสดงให้เห็นแขกที่ยืนอยู่บนโพเดียมราวกับกำลังจัดแถลงข่าว

Fumio Kishida

คิชิดะกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าการกระทำนี้ไม่เหมาะสม ทำให้เขาตัดสินใจเปลี่ยนตัวเลขานุการฝ่ายการเมืองของนายกรัฐมนตรี และตำแหน่งนี้จะถูกแทนที่ด้วยเลขานุการอีกคนคือ ทากาโยชิ ยามาโมโต (Takayoshi Yamamoto) ทั้งหมดนี้คิชิดะยอมรับว่าตัวเขาทักทายแขกสั้นๆ และปฏิเสธว่าไม่ได้อยู่ร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ

คิชิดะเล่าตรงไปตรงมาว่าได้ตำหนิลูกชายอย่างรุนแรงสำหรับงานปาร์ตี้ แต่คิชิดะก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องจากฝ่ายค้าน และความไม่พอใจของสาธารณะซึ่งทำให้คะแนนเสียงลดฮวบ

สไตล์การทำงานที่ 4 ส่งถึงสไตล์ที่ 5 โดยตรง นั่นคือความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว เช่นเดียวกับผู้นำคนอื่นๆ สไตล์การทำงานของคิชิดะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายที่ไม่อยู่นิ่งตลอดเวลา แน่นอนว่าคิชิดะต้องทบทวนนโยบาย แสวงหาวิธีแก้ปัญหาใหม่ หรือปรับลำดับความสำคัญตามความคิดเห็นและความต้องการที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงเวลาที่คิชิดะต้องปลดลูกชาย และเสียรัฐมนตรี 4 คนในระยะเวลา 3 เดือนจากข้อหาความผิดปกติทางการเงิน หรือมีความเกี่ยวข้องกับโบสถ์แห่งความสามัคคี ซึ่งเป็นต้นตอที่ทำให้อดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ถูกลอบสังหารจนเสียชีวิตด้วย

อย่างไรก็ตาม สไตล์การทำงานทั้ง 5 นี้เป็นเพียงส่วนเดียวของการรับรู้ทั่วไปจากข่าวโลกเท่านั้น แน่นอนว่ายังมีแง่มุมอื่นของสไตล์การทำงานแบบคิชิดะ ที่ช่วยหล่อหลอมให้นายกฯญี่ปุ่นเป็นผู้นำที่โลกจับตาดูไปอีกนาน

ที่มา : Nordot, Zawya, The Guardian, AP News, Japantimes, Asia Nikkei, Straitstimes