ผลสำรวจพบพลัง ‘ChatGPT’ ทำผู้บริหาร 45% เร่งลงทุน AI และองค์กร 70% กำลังศึกษาเทคโนโลยี Generative AI

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสามารถของ AI Chatbot อย่าง ChatGPT ได้สร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้กับทั้งพนักงานและองค์กร เพราะด้วยความฉลาดจนน่ากลัวที่อาจทำให้ในอนาคต AI อาจมาแทนที่มนุษย์ ขณะที่องค์กรต่าง ๆ เองก็อยากให้องค์กรตัวเองมีเทคโนโลยีล้ำ ๆ นี้มาใช้ในองค์กร

จากผลการสำรวจของ การ์ทเนอร์ อิงค์ ที่สอบถามความคิดเห็นผู้นำธุรกิจกว่า 2,500 ราย พบว่า โดย 45% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า ChatGPT กระตุ้นให้พวกเขาเพิ่มการลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ 70% ของผู้ตอบแบบสำรวจบอกว่าองค์กรของตนอยู่ในช่วงของ การสำรวจและศึกษาเทคโนโลยี Generative AI ขณะที่ 19% นั้นอยู่ในช่วงของการ ทดลองใช้หรือในช่วงของการผลิต

“ความร้อนแรงของเทคโนโลยี Generative AI ไม่มีทีท่าลดลง โดยองค์กรต่าง ๆ กำลังขบคิดอย่างหนักว่าจะจัดสรรงบประมาณให้กับโซลูชัน Generative AI แค่ไหน จะเลือกลงทุนกับผลิตภัณฑ์ใดถึงจะคุ้มค่า และจะเริ่มใช้งานจริงจังเมื่อใด รวมถึงเรียนรู้วิธีการลดความเสี่ยงที่มาพร้อมเทคโนโลยีนี้” ฟราสซิส คารามูซิส รองประธานฝ่ายวิจัย การ์ทเนอร์ กล่าว

หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ผู้บริหารที่ตอบแบบสอบถามระบุว่าอยากลงทุนด้าน Generative AI ก็คือ ประสบการณ์ของลูกค้า โดยมีสัดส่วนถึง 38% จากความเห็นของผู้ตอบแบบสอบถาม โดยชี้ว่า แม้จะมีอุปสรรคทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ประสบการณ์ของลูกค้า (Customer experience) คือหัวใจหลักที่ผู้บริหารให้ความสำคัญสำหรับการลงทุนใน Generative AI โดยมีเพียง 17% ระบุว่า การเพิ่มประสิทธิภาพต้นทุน (Cost Optimization) เป็นเป้าหมายหลักที่เลือกลงทุน Generative AI

ปัจจุบันมีหลายองค์กรที่เริ่มทดลองใช้ Generative AI และมีหลายแห่งนำไปใช้ในหลายกรณี เช่น ใช้ปรับปรุงเนื้อหาในสื่อหรือสร้างโค้ด ทั้งนี้ Generative AI ยังมีศักยภาพอีกมากที่สนับสนุนหรือรองรับการพัฒนาโซลูชันที่ช่วยเพิ่มความสามารถของมนุษย์หรือเครื่องจักร รวมถึงช่วยปรับการดำเนินธุรกิจและกระบวนการทางไอทีให้เป็นแบบอัตโนมัติ

“ธุรกิจรูปแบบขับเคลื่อนเองอัตโนมัติ หรือ Autonomous Business คือก้าวถัดไปครั้งใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่สามารถลดผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะความสามารถ และแม้แต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โดย CEO และ CIO ที่ใช้ Generative AI ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงตลอดทั่วทั้งโมเดลผลิตภัณฑ์และโมเดลการดำเนินธุรกิจจะพบกับโอกาสการเติบโตของรายได้อย่างมหาศาล”

นอกจากนี้ ผู้บริหารที่ตอบแบบสำรวจจำนวน 68% เชื่อว่า Generative AI นั้นมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง ซึ่งเมื่อเทียบกับเพียง 5% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่เห็นว่ามีความเสี่ยงมากกว่ามีประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารอาจเปลี่ยนมุมมองไปเมื่อลงทุนในระดับที่ลึกขึ้น

ความกระตือรือร้นกับเทคโนโลยีใหม่ช่วงแรก ๆ สามารถให้แนวทางกับการวิเคราะห์ที่เข้มข้นต่อความเสี่ยงและความท้าทายต่าง ๆ ของการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ด้วยเหตุที่องค์กรต่าง ๆ มักจะพบกับคำถามด้านความน่าเชื่อถือ ความเสี่ยง ความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และจริยธรรม เมื่อพวกเขาเริ่มพัฒนาและนำเทคโนโลยี Generative AI มาใช้” คารามูซิส กล่าวทิ้งท้าย