-
BRC เจ้าของธุรกิจ “บิ๊กซี” เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ลุ้นเปิด IPO ได้ภายในปี 2566
-
แผนการลงทุนปี 2566-67 เตรียมงบลงทุนเฉลี่ยปีละ 10,000 ล้านบาท เพื่อรีโนเวตและเปิดสาขาใหม่ทั้งในไทยและต่างประเทศ
-
วางเป้าขยายการเติบโตในประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม เพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเป็น 20-40% โดยต้องการขึ้นเป็นเบอร์ 1 โมเดิร์นเทรดในอาเซียน
บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ BRC ประกาศไปเมื่อช่วงต้นปี 2566 ว่าบริษัทกำลังจะกลับเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกครั้ง หลังจาก “บิ๊กซี” เคยถอนหุ้นออกจากตลาดไปเมื่อปี 2560 โดยขณะนี้บริษัท BRC ได้ยื่นไฟลิ่งไปแล้วเรียบร้อย อยู่ระหว่างรอเปิด IPO
“อัศวิน เตชะเจริญวิกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ BRC ยังไม่สามารถแจ้งกำหนดการเปิด IPO ได้อย่างชัดเจน แต่แย้มว่ามี ‘ลุ้น’ น่าจะทันภายในปี 2566
ในระหว่างนี้ BRC จึงอยู่ในช่วงทำการสื่อสารกับสังคมถึงกลยุทธ์ธุรกิจหลังกลับเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทจะเติบโตไปอย่างไรบ้าง
ย้ำกันอีกครั้งถึงภาพธุรกิจของบิ๊กซี ถือเป็นบริษัทเรือธงในกลุ่มบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC และกลุ่มบริษัท ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ TCC
ประวัติของบิ๊กซีเคยถูกซื้อขายเปลี่ยนมือมาแล้วหลายครั้ง แต่หลังจากมาอยู่ในมือตระกูลสิริวัฒนภักดี ปัจจุบันบิ๊กซีสามารถขยายตัวจนมีธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) รวม 1,741 สาขาทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยแบ่งเป็นประเภทร้านค้าขนาดใหญ่ 200 สาขา, ประเภทร้านค้าขนาดเล็ก 1,518 สาขา และประเภทอื่นๆ เช่น ตลาดนัด, บิ๊กซี ฟู้ด เซอร์วิส, บิ๊กซี ดีโป้ รวม 23 สาขา รวมถึงมีธุรกิจประเภทค้าส่ง และธุรกิจอื่น เช่น ร้านขายยาเพรียว, ร้านกาแฟวาวี, ร้านหนังสือเอเชียบุ๊คส
ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนรอบวันที่ 7 มิ.ย. 2566 อัศวินแนะนำจุดเด่นและพื้นฐานที่แข็งแรงของ BRC ไว้หลายข้อ เช่น
- “บิ๊กซี” มีส่วนแบ่งตลาด 41.9% ในธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตของไทย ถือเป็นเบอร์ 2 ของตลาด (เบอร์ 1 ของธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตมีมาร์เก็ตแชร์อยู่ 56.6%)
- มีส่วนแบ่งตลาดธุรกิจให้เช่าพื้นที่ในไทยถึง 47% เนื่องจาก BRC ไม่มีการขายสินทรัพย์เข้าสู่กองรีท
- ปัจจุบันมีสมาชิกระบบ Big Point จำนวน 18 ล้านราย และมีอัตราการแลกคะแนนเป็นประจำ 60-70% ของจำนวนสมาชิก
- มีฐานการค้าในประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม
- มีระบบนิเวศทางธุรกิจ (ecosystem) ที่แข็งแรง เนื่องจากอยู่ในเครือ BJC และกลุ่ม TCC
เมื่อปี 2565 บริษัท BRC ทำรายได้ไป 113,573 ล้านบาท และมี EBITDA มูลค่า 11,511 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรา 10.5% จึงนับเป็นบริษัทใหญ่ที่น่าสนใจที่จะเข้า IPO
ปี 2566-67 วางงบลงทุนปีละ 1 หมื่นล้าน
“ดุษณี เมอร์ลิง” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน BRC เปิดแผนลงทุนปี 2566-67 ของบริษัท วางแผนลงทุนเฉลี่ยปีละ 10,000 ล้านบาท
แบ่งสัดส่วนการลงทุนโดยคร่าว 23% จะเป็นการรีโนเวตสาขาเดิม 20% ลงทุนในประเภทร้านค้าขนาดใหญ่ (ไฮเปอร์มาร์เก็ต) 17% ลงทุนในร้านค้าขนาดเล็ก (บิ๊กซี มินิ) 11% ลงทุนในบิ๊กซี ฟู้ด เซอร์วิส และอีก 8-10% ลงทุนในตลาดต่างประเทศ
ก่อนหน้านี้ BRC เคยให้ข่าวไว้ว่า ในตลาดไทยปี 2566 จะเปิดสาขาประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตรวม 3 สาขา และเปิดบิ๊กซี มินิอีก 100-200 สาขา รวมถึงมีการรีโนเวต 25 สาขาไทย
เป้าระยะยาวเป็นเบอร์ 1 โมเดิร์นเทรดแห่งอาเซียน
ด้านแผนงานระยะยาว อัศวินมองว่า ตลาดในประเทศไทยจะเน้นการเปิดโมเดิร์นเทรดขนาดกลางและขนาดเล็กในชุมชน เน้นหัวเมืองรองมากขึ้น เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดขนาดใหญ่ค่อนข้างจะ ‘แน่น’ แล้ว โดยเฉพาะถ้าหากจะเปิดรีเทลประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต จะหาที่ดินและทำเลเปิดได้ยาก
ส่วนที่น่าสนใจคือ ตลาดต่างประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งทางบิ๊กซีมีการลงทุนแล้วในลาว กัมพูชา และเวียดนาม ดังนี้
- ลาว: บิ๊กซี มินิ 63 สาขา (แฟรนไชส์)
- กัมพูชา: บิ๊กซี มินิ 18 สาขา, Kiwi Mart 2 สาขา, บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ 1 สาขา
- เวียดนาม: ร้านสะดวกซื้อ B’s Mart 78 สาขา
“เรามองการแข่งขันต่อจากนี้ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่เป็นตลาดอาเซียน โดยเราต้องการจะเป็นเบอร์ 1 ธุรกิจโมเดิร์นเทรดในอาเซียน” อัศวินกล่าว
อัศวินระบุว่า ขณะนี้ถือได้ว่า BRC เป็นเบอร์ 1 แล้วในประเทศลาว และกำลังจะเริ่มเปิดบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์สาขาแรกในลาว พร้อมมองโอกาสของประเทศลาว คาดว่าจะรองรับไฮเปอร์มาร์เก็ตของบิ๊กซีได้ 10 สาขาเป็นอย่างน้อย
ส่วนตลาดกัมพูชาและเวียดนามก็กำลังเดินหน้าขยายตัว โดยแย้มว่าห้างค้าปลีกค้าส่งในเวียดนาม “MM Mega Market” ซึ่งอยู่ในเครือ BJC เช่นกัน จะถูกโอนย้ายมาอยู่ในพอร์ตของ BRC ด้วย และจะเปลี่ยนชื่อเป็น “Big C Mega Market” ในอนาคต
ปัจจุบันรายได้จากต่างประเทศคิดเป็นเพียง 10% ในพอร์ตของบิ๊กซี แต่อัศวินคาดว่าภายใน 5-7 ปีข้างหน้า สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศจะพุ่งขึ้นเป็น 20-40% หลังจากเข้าไปขยายการลงทุนได้มากขึ้น
ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย เมื่อมองไปในตลาดรีเทลอาเซียน มีผู้เล่นจากประเทศไทยเข้าไปรุมชิงเค้กกันหลายราย เช่น เวียดนาม มี CRC ของเครือเซ็นทรัลเปิดโมเดิร์นเทรดแบรนด์ GO! หรือ ซีพี ออลล์ ที่เริ่มลงทุน 7-Eleven ในกัมพูชาแล้ว