TDRI Economic Intelligence Service คาดการณ์ตัวเลข GDP ของไทยในปีนี้จะเติบโตได้มากถึง 3.5% ได้ปัจจัยสำคัญจากภาคการท่องเที่ยว ส่งผลต่อภาคครัวเรือนมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ขณะเดียวกันยังกังวลถึงปัจจัยที่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้อาจส่งผลต่อการลงทุนในไทยของบริษัทจากต่างประเทศ
กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการ TDRI Economic Intelligence Service (EIS) ได้กล่าวในงานเสวนา KTC FIT Talks ครั้งที่ 9 ในหัวข้อ “จับเข่าคุยเรื่องเศรษฐกิจและธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคครึ่งหลังปี 2566” โดยมองเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ แม้ว่าหลายคนจะมองว่าในช่วงครึ่งปีแรกมีความคลุมเครือทางเศรษฐกิจปกคลุมอยู่ก็ตาม
โดยคาดการณ์ของธนาคารโลก (World Bank) ล่าสุดนั้นได้ชี้ว่าเศรษฐกิจโลกยังเติบโต แต่โตช้าลง ถ้าดูประมาณการรอบนี้นั้นดูดีขึ้น เมื่อเทียบกับครั้งที่แล้วในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
พระเอกสำคัญที่ กิริฎา ได้ชี้คือเศรษฐกิจจีนซึ่งรายงานของ World Bank คาดการณ์ในตอนแรกว่า GDP จีนเติบโตแค่ 4.3% ล่าสุดคาดการณ์ใหม่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.6% เธอเปรียบเศรษฐกิจจีนเหมือนเป็นความหวังหมู่บ้าน เนื่องจากไทยเป็นคู่ค้าสำคัญ และคาดว่านักท่องเที่ยวจีนเข้ามาได้ 5-6 ล้านคน
ทางฝั่งของสหรัฐอเมริกา วิกฤตธนาคารในประเทศได้ส่งผลทำให้เศรษฐกิจโตช้าลง สาเหตุสำคัญคือธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นสูงยังส่งผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ
ขณะเดียวกันตัวเลขเงินเฟ้อทั่วโลกนั้นลดลง แต่ก็ยังถือว่าสูง เธอได้ชี้ว่าราคาสินค้าอาจไม่กลับลงมาเท่ากับก่อนช่วงโควิดแล้ว โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างก๊าซธรรมชาติ ส่งผลทำให้หลายประเทศยังเจอของแพงอยู่
แนวโน้มของเศรษฐกิจไทย
ผู้อำนวยการโครงการ TDRI EIS มองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะโตได้ 3.5% จากปีที่ผ่านมาโตได้ 2.6% ได้ปัจจัยสำคัญคือภาคการบริโภคในครัวเรือน ซึ่งส่งต่อมาจากผลดีของภาคการท่องเที่ยว หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด ครัวเรือนมีความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แล้วก็ตัวเลขส่งออกของไทยที่ดี
เธอได้กล่าวถึงข้อจำกัดด้านอุปทานในภาคการท่องเที่ยวนั้นส่งผลทำให้การเติบโตอาจจำกัด และรับนักท่องเที่ยวได้จำกัด รวมถึงจำนวนเที่ยวบินที่จำกัดในช่วงที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันเธอได้ชี้ว่าการบริโภคของไทยตอนนี้มากกว่าก่อนโควิดแล้ว สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคว่ามั่นใจมากแค่ไหน ล่าสุดผลสำรวจเห็นว่าเริ่มมีกำลังซื้อที่ดีมากขึ้น การจ้างงานก็เพิ่มมากขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ส่งผลในเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ดีเธอชี้ว่ามีปัจจัยกดดันคืออัตราเงินเฟ้อของไทยที่สูง แม้ว่าเงินเฟ้อของไทยปีนี้จะอยู่ที่ 2.5% และตอนนี้ผู้ผลิตได้ส่งผ่านต้นทุนในราคาสินค้าบ้างแล้ว เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
นโยบายภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญหลังจากนี้
กิริฎา ยังได้กล่าวถึง การลงทุนของไทยเติบโตมากกว่าช่วงโควิดแล้วนับตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว จากผลดีของการย้ายฐานการผลิตมาในอาเซียน ซึ่งไทยก็เป็นประเทศที่ได้รับผลดีดังกล่าว ทำให้การนำเข้าสินค้าเข้ามาลงทุนเยอะด้วยเช่นกัน ส่งผลทำให้ดุลการค้าของไทยติดลบ แต่ตอนนี้คือดุลการค้าเราบวก เนื่องจากตัวเลขนำเข้าสินค้าในการลงทุนดังกล่าวลดลง
แต่ความเสี่ยงด้านหนึ่งที่เธอกังวลคือคือนโยบายของภาครัฐจะเป็นเช่นไร ยิ่งมีการตั้งรัฐบาลช้ามากเท่าไหร่ก็อาจทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจกับไทยได้ และถ้าไม่มีรัฐบาลใหม่ก็ยังใช้งบเท่ากับปีงบประมาณเดิม ซึ่งจะส่งผลทำให้ไม่มีการใช้จ่ายของภาครัฐเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น TDRI คาดว่าอาจอยู่ที่ 2.5% และในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยครั้งต่อไปอาจมีการขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบ
ทางด้านของค่าเงินบาทนั้น ดอกเบี้ยทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูง ในขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเนื่องจากเงินไหลกลับไปยังสหรัฐฯ จากอัตราดอกเบี้ยที่สูง ส่งผลทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า แต่ตลาดคาดว่า Fed อาจไม่ขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง
ผลที่เกิดขึ้นทำให้ TDRI มองว่าค่าเงินบาทน่าจะทรงตัวแถวๆ ค่าเงินบาทเฉลี่ยในช่วงสิ้นปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 33.68 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถ้าเงินไหลเข้าไทยจากการท่องเที่ยว อาจทำให้ค่าเงินแข็งค่าได้มากกว่านี้