AIS ยกระดับ “อุ่นใจ CYBER“ สร้าง ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล เดินหน้าสู่เป้าหมาย Cyber Wellness for THAIS ภารกิจสร้างสังคมดิจิทัลให้ปลอดภัย


ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เรียกว่าประเทศไทยได้เข้าสู่งสังคมดิจิทัลอย่างเต็มตัว มีผู้ใช้งานดิจิทัลเพิ่มขึ้นมากมาย แต่สังคมดิจิทัลนี้เองก็มีทั้งคุณ และโทษในเวลาเดียวกัน แน่นอนว่ามีคุณอนันต์ทั้งในเรื่องของการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ แต่ก็ตามมาด้วยโทษทั้งทางตรง และทางอ้อม ไม่ว่าจะเรื่องความปลอดภัย รวมไปถึงผลเสียด้านจิตใจอีกด้วย

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการใช้งานโซเชียลมีเดียสูงเป็นอันดับต้นๆ แพลตฟอร์มใหญ่ๆ ล้วนมีผู้ใช้งานมหาศาล ได้แก่ Facebook มีผู้ใช้งาน 48.1 ล้านคน, YouTube 43.9 ล้านคน, TikTok 40.8 ล้านคน, Messenger 35.05 ล้านคน, Instagram 17 ล้านคน และ Twitter 14.6 ล้านคน นอกจากมีผู้ใช้งานที่สูงแล้ว จำนวนการใช้งานก็ไม่น้อยเลย บางคนถึงกับติดโซเชียล มีการใช้งานเฉลี่ยถึงวันละ 7-8 ชั่วโมงเลยก็มี

เมื่อสังคมดิจิทัลกำลังผลิบานไปทั่วโลก ผู้ประกอบการทางด้านโทรคมนาคม หรือไอทีที่เป็นหนึ่งในกลไลสำคัญในการขับเคลื่อนดิจิทัลก็ขอเป็นส่วนใหญ่ในการสร้างสังคมดิจิทัลที่สร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน


เปิดเส้นทาง 4 ปี “อุ่นใจ CYBER”

ในประเทศไทยเราเห็นได้ชัดจาก AIS หลังจากที่เคยประกาศว่าจะเป็นมากกว่าโอเปอเรเตอร์โทรศัพท์มือถือ ทรานส์ฟอร์มสู่ Digital Service Provider นั้น AIS ได้มีบริการที่หลากหลายออกมาตอบโจทย์ผู้ใช้งานดิจิทัล แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ลืมที่จะทำควบคู่กันไปก็คือ ความรับผิดชอบต่อสังคมในการสร้างพฤติกรรมการใช้งานดิจิทัลด้วยเช่นกัน เพราะนอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างผลกำไรแล้ว หนึ่งในภารกิจใหญ่ของ AIS ก็คือ การสร้างสังคมดิจิทัลให้สร้างสรรค์ และปลอดภัยนั่นเอง

AIS ริเริ่มโครงการ “อุ่นใจ CYBER” ในปี 2562 โดยมีเป้าหมายให้คนไทยสามารถเข้ามาเรียนรู้วัดระดับการรับมือกับภัยไซเบอร์รูปแบบต่างๆ โดยมีทั้งการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยไซเบอร์ และสร้างองค์ความรู้เพิ่มเติม เพื่อให้ใช้งานอย่างปลอดภัยมากขึ้น และในปีเดียวกันนั้นก็ได้เปิดให้บริการ AIS Secure Net และ Google Family Link ด้วยเช่นกัน

เส้นทางของอุ่นใจ CYBER มีวิวัฒนาการที่น่าสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2564 ได้เริ่มพัฒนาหลักสูตรอุ่นใจ CYBER ร่วมกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ ในปี 2565 และได้นำหลักสูตรเข้าสถานศึกษาทั้งหมดในสังกัด สพฐ. เพื่อถ่ายทอดให้กับนักเรียนทั่วประเทศ ปัจจุบันมีผู้เรียนหลักสูตรอุ่นใจ CYBER แล้วกว่า 250,000 คน

โดยที่ในปี 2565 ในประเทศไทยได้มี “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ระบาดอย่างหนัก และมีคนตดเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพมากมาย ทาง AIS จึงได้เปิดสายด่วน 1185 เพื่อรับแจ้งเบอร์ และ SMS มิจฉาชีพ และร่วมกับตำรวจไซเบอร์ในการจับมิจฉาชีพด้วย

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า

“ปัญหาภัยไซเบอร์กลายเป็นวาระที่ทั้งโลกหันมาให้ความสำคัญเพราะมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยส่งผลกระทบตั้งแต่ระดับบุคคล ทั้งเรื่องการขโมยข้อมูลส่วนบุคคล การล่อลวงผ่านช่องทางออนไลน์ และการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ไปจนถึงระดับประเทศ หรือองค์กร ในเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่เชื่อมโยงกับเรื่องของ เศรษฐกิจดิจิทัล ระบบสารสนเทศ ที่ต้องมีการรับมืออย่างจริงจัง 

ดังนั้น AIS ในฐานะผู้นำด้านการให้บริการดิจิทัล เราเข้าใจดีว่าเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญต่อสังคมดิจิทัลทั้งในปัจจุบันและอนาคต ที่ผ่านมากว่า 4 ปี  AIS จึงอาสาจุดประกายสังคมเกี่ยวกับประเด็นนี้ ตั้งแต่วันที่ดิจิทัลเทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อวิถีการใช้ชีวิต ผ่านโครงการ AIS อุ่นใจ CYBER ทั้งในด้านการสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตราย และผลกระทบจากการใช้งาน การพัฒนาโซลูชันและบริการดิจิทัลเพื่อปกป้องและส่งเสริมการใช้งานอย่างปลอดภัย และการสร้างองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมความฉลาดและทักษะของพลเมืองดิจิทัล”


ยกระดับสู่ Cyber Wellness for THAIS

สมชัยยังเสริมอีกว่า ยังจำได้ว่าในตอนที่เข้ารับตำแหน่ง CEO ใหม่ๆ ได้มีภารกิจ Digital for THAIS ในการสร้างสังคมดิจิทัลให้เข้าถึงคนไทยได้ทุกคนอย่างยั่งยืน แต่ว่าตอนนี้ภารกิจนี้อย่างเดียวไม่พอ ตอนนี้ต้องเป็น Cyber Wellness for THAIS ต้องทำสังคมดิจิทัลให้ปลอดภัย และเป็นประโยชน์

“ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา มีการใช้งานดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างมาก มีข้อมูลว่าตอนนี้มีผู้ใช้งานดิจิทัลทั่วโลกรวมกว่า 1,200 ล้านคน แต่ในปี 2568 จะมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 1,500 ล้านคน การใช้งานดิจิทัลได้แทรกซึมเข้าไปถึงทุกคน และอุปกรณ์ต่างๆ สมาร์ทโฟนก็จะทรงพลังมากขึ้น”


เปิดดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล คนไทยยังเสี่ยงภัยไซเบอร์

จากการที่ AIS ทำงานเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นแนวทางแก้ปัญหาให้มีประสิทธิภาพ และเกิดความยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการพัฒนาดัชนีชี้วัดที่จะบ่งบอกถึงระดับความรู้ และทักษะดิจิทัลในด้านต่างๆ ที่ชัดเจนของประชาชนในแต่ละกลุ่ม อันจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำเครื่องมือ และองค์ความรู้ส่งมอบให้กับคนไทยได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย และสอดคล้องกับปัญหาเกิดขึ้น

จึงได้เปิดตัว “ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล หรือ Thailand Cyber Wellness Index (TCWI)” ถือเป็นฉบับแรกของประเทศไทย โดยมีพันธมิตรรายสำคัญอย่าง “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี” พร้อมนักวิชาการหลากหลายแขนง มาร่วมกันทำงานเพื่อยกระดับเรื่องดังกล่าวให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วม

ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index ชี้ให้เห็นถึงทักษะดิจิทัล  ที่ครอบคลุมพฤติกรรมการใช้งานดิจิทัลของคนไทย 7 ด้าน ประกอบด้วย ทักษะการใช้ดิจิทัล (Digital Use), ทักษะการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy), ทักษะ ด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล (Digital Communication and Collaboration), ทักษะด้านสิทธิทางดิจิทัล (Digital Rights), ทักษะด้านความมั่นคงความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security and Safety), ทักษะด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyberbullying) และทักษะด้านความสัมพันธ์ทางดิจิทัล (Digital Relationship)

มีขั้นตอนวิธีการเก็บผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่มีความหลากหลายทั้งช่วงอายุ และกลุ่มอาชีพจากทุกจังหวัด ทั่วประเทศกว่า 21,862 คน จากผลการศึกษาพบว่า ภาพรวมของคนไทยมีสุขภาวะทางดิจิทัล อยู่ในระดับพื้นฐาน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีถึง 44.04% ที่ยังอยู่ในระดับต้องพัฒนา แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ดิจิทัลให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น

สมชัย กล่าวเสริมอีกว่า “จากผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย ทำให้เราเห็นจุดที่ต้องพัฒนาทักษะเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ใช้งานในอีกหลายประเด็น โดย AIS พร้อมด้วยพันธมิตรจะยังคงเดินหน้าทำงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง สุดท้ายต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่เข้ามามีส่วนสำคัญทำให้ดัชนีฉบับนี้เป็นสมบัติของประเทศไทย อันจะเป็นเสมือนหนึ่งเข็มทิศที่ช่วยให้พวกเรามองเห็นเส้นทางในการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับคนไทยได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง”

AIS มีความมุ่งมั่นในการสร้างสังคมดิจิทัลให้มีความปลอดภัย ทั้งในแง่ของการสร้างความตระหนักรู้ และภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ และไม่หยุดพัฒนาเพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์ได้อย่างครอบคลุม

เพราะนอกเหนือจากภารกิจในการมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อคนไทยแล้ว AIS ยังมีอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัล หรือ Digital Literacy ให้สังคม ลูกค้า และประชาชนทุกกลุ่ม รู้เท่าทันภัยด้านไซเบอร์หลากหลายรูปแบบที่อาจเกิดตามมาจากการใช้งานบนอินเทอร์เน็ต สื่อโซเชียล

ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย เพิ่มเติมที่ https://sustainability.ais.co.th/storage/update/report/advanc-ebook-thailand-cyber-wellness-th.pdf หรือองค์กรใดสนใจนำดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index เพื่อใช้วัดผลและขับเคลื่อนองค์กร สามารถติดต่อมาได้ที่ [email protected]