รู้จัก ‘อารักษ์’ โรงพยาบาลสัตว์น้องใหม่ที่เกิดมาจากคำถาม “ทำไมการรักษาสัตว์ไม่ดีเท่าคน”

คงไม่ต้องบอกว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เทรนด์การมี สัตว์เลี้ยง ในไทยเติบโตมากขนาดไหน เพราะขนาดบริษัท RS ของ เฮียฮ้อ ยังหันมาทำผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง Lifemate และอีกสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า คนในปัจจุบัน เลี้ยงสัตว์เหมือนลูก ก็คือการที่ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ เป็น Pet-Friendly หรือสามารถพาสัตว์เลี้ยงเข้าไปได้ ขนาด เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ก็ยังเปิด โรงภาพยนตร์สำหรับหมา-แมว ก็ยิ่งย้ำให้เห็นว่า สัตว์เลี้ยงเป็น ส่วนหนึ่งของครอบครัว ของคนไปแล้ว

การรักษาก็ต้องดีเหมือนรักษาคน

ตลาดสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึ63,000 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนของ ธุรกิจสุขภาพสัตว์เลี้ยง 32.5% คิดเป็นมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท โดยการจดทะเบียนจัดตั้งโรงพยาบาลหรือคลินิกรักษาสัตว์ของไทยในปีนี้คาดว่ามีอยู่ประมาณ 3,300-3,400 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีประมาณ 2,800 แห่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการเติบโตอย่างมาก

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ในปัจจุบันคือ “คนรู้สึกว่าทำไมการรักษาสัตว์ไม่ดีเท่าคน” โรงพยาบาลที่รักษา เฉพาะทาง ก็มีไม่มาก ด้วยเพนพอยต์ดังกล่าวทำให้สัตวแพทย์หญิงที่คว่ำวอดอยู่ในวงการกว่า 19 ปี อย่าง สพ.ญ. ทัศวรินทร์ กาญจนฉายา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อารักษ์ แอนิมัล เฮลท์แคร์ จำกัด ใช้เวลาวางแผนประมาณ 1 ปีเพื่อเปิดโรงพยาบาลสัตว์ อารักษ์ (Arak)

ซึ่งจุดเด่นของ อารักษ์ คือ ให้บริการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ใกล้เคียงกับการรักษาในคน มี ทีมสัตวแพทย์เฉพาะทาง​ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่ม Pet parents ที่ ดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว

“เราตั้งชื่อว่า อารักษ์ เพื่อสื่อถึงการปกป้อง ดูแล คุ้มครองให้ปลอดภัย โดยมีโพซิชันนิ่งคือ การรักษาแบบแอดวานซ์เมดิคอลเซ็นเตอร์ หมอแต่ละคนเป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เพราะคนสมัยนี้เขาไม่ได้มองสัตว์เลี้ยงเป็นแค่สัตว์เลี้ยง แต่มองเป็นคนในครอบครัว เวลาพาไปหาหมอเขาก็มักจะมีความรู้สึกว่า ทำไมการรักษาสัตว์ไม่ดีเท่าคน”

สพ.ญ. ทัศวรินทร์ กาญจนฉายา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อารักษ์ แอนิมัล เฮลท์แคร์ จำกัด

หลังสวน ไพรม์แอเรียไร้คู่แข่ง

สำหรับโรงพยาบาลสัตว์อารักษ์ สาขาแรกแรกใช้งบลงทุน 40 ล้านบาท ตั้งอยู่บน ถนนหลังสวน ย่านชิดลม เป็น อาคาร 4 ชั้น มีพื้นที่ 700 ตารางเมตร รวม 7 ห้องตรวจ มีสัตวแพทย์ 20 คน โดย สพ.ญ. ทัศวรินทร์ อธิบายว่า ที่เลือกโลเคชั่นดังกล่าวเป็นเพราะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยใจกลางเมือง นอกจากนี้ ยังไม่มีโรงพยาบาลสัตว์หรือคลินิกในรัศมี 8 กิโลเมตร

ทั้งนี้ โรงพยาบาลสัตว์อารักษ์ให้บริการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงเชิงป้องกันแบบองค์รวม ทั้งแบบ Health และ Non-Health ได้แก่

  • Health – การให้บริการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงเชิงป้องกันแบบองค์รวม ตรวจรักษาสัตว์ เลี้ยงทั่วไป บริการคลินิกพิเศษเฉพาะด้านและศูนย์ศัลยกรรม โดยทีมสัตวแพทย์ที่มีประสบการณ์ ด้วยการรักษาแบบบูรณาการ ร่วมกับเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัย บริการฝากดูแลรักษาสัตว์ป่วยใน (IPD) โดยแยกพื้นที่ของสุนัขกับแมว และบริการฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง โดยโรงพยาบาลสัตว์อารักษ์มีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์รักษาโรคตาที่ดีที่สุด ครอบคลุมตั้งแต่การรักษาทางยา ไปจนถึงการผ่าตัดทั้งโครงสร้างภายนอกและภายในลูกตา ร่วมทั้งมีการใช้เลเซอร์รักษาโรคตาในสัตว์เลี้ยง

  • Non-Health – บริการสำหรับสัตว์เลี้ยงที่ไม่ป่วยด้วยบริการที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์และส่งเสริมคุณภาพชีวิตสัตว์เลี้ยงได้แก่ Pet shop อาบน้ำตัดขน สปาสัตว์เลี้ยง รับฝากสัตว์เลี้ยงทั้งแบบดูแลระหว่างวัน และฝากค้างคืนโรงแรมสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

“เรื่องการแข่งขันมันพูดยาก เพราะมีหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งเรื่องของโลเคชั่น ราคา แล้วแต่โพซิชั่น โดยโพซิชั่นนิ่งคือเราคือ เป็นโรงพยาบาลที่รักษาแบบแอดวานซ์ หมอแต่ละคนเป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน แต่ไม่ได้แพงมาก เพราะเราอยากให้คนเข้าถึงได้ โดยสามารถมาขอคำปรึกษา มาขอข้อมูลได้แม้ไม่ใช่ลูกค้า เพราะเราอยากให้เขารู้สึกว่าแบรนด์เราเป็นมิตร”

ไม่หยุดแค่สาขาเดียว

สำหรับเป้าหมายของโรงพยาบาลสัตว์อารักษ์ สาขาหลังสวน คาดว่าจะมีผู้ใช้ไม่ต่ำกว่า 3,500 ราย ภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม สาขาหลังสวนเป็นแค่จุดเริ่มต้น โดย สพ.ญ. ทัศวรินทร์ กล่าวว่า จะเปิดที่ ทองหล่อ เป็นโรงพยาบาลสัตว์ที่ครบวงจร ซึ่งจะใช้เงินลงทุนถึง 130-140 ล้านบาท มีพื้นที่ใช้สอย 4,000 ตารางเมตร มีห้องตรวจรวม 20 ห้อง คาดว่าเฟสแรกจะเสร็จในช่วงต้นเดือนมกราคมปีหน้า และครบทุกเฟสในช่วงกลางปี และ ภายใน 5-6 ปี ข้างหน้า วางเป้าว่าจะเปิดในกรุงเทพฯ เป็น 5 สาขา และในต่างจังหวัดอีก 3 สาขา 

“สาขาทองหล่อจะรองรับการให้บริการต่าง ๆ เช่นเดียวกับที่สาขาหลังสวน แต่จะเพิ่มโซน Arak Space ให้บริการที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ บริการส่งสัตว์เลี้ยงไปต่างประเทศ โซน Pet Friendly Café และโซน Arak Park & Swimming pool สำหรับสัตว์เลี้ยง เพื่อสร้างประสบการณ์ให้เป็นศูนย์รวมการดูแลรักษาสุขภาพสัตว์เลี้ยง ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คอมมูนิตี้ของคนรักสัตว์”

จำนวนสัตวแพยท์ยังไม่เพียงพอ

สพ.ญ. ทัศวรินทร์ ทิ้งท้ายว่า ความท้าทายของการเปิดโรงพยาบาลสัตว์อยู่ที่ จำนวนสัตวแพทย์ ที่ยังไม่เพียงพอ และส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวแค่ในกรุงเทพฯ และสำหรับผู้ที่สนใจจะเลี้ยงสัตว์ แนะนำว่าควรต้องศึกษาเกี่ยวกับนิสัย โรคพันธุกรรม ควรมีเวลาและเลี้ยงระบบปิด นอกจากนี้ ยังต้องใช้เงินอีกด้วย โดยปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยการเลี้ยงสัตว์ต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 2,300 บาท