ถอดสูตรความสำเร็จ “PMT The Hour Glass” ปั้นตลาด “นาฬิกาหรู” เมืองไทย

PMT The Hour Glass
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2550 “ณรัณ ธรรมาวรานุคุปต์” ในฐานะทายาทรับช่วงต่อกิจการนำเข้านาฬิกา “พรีม่า ไทมส์” ได้เดินทางไปร่วมงานมหกรรมแสดงสินค้านาฬิกา “Baselworld” ที่สวิตเซอร์แลนด์ และบังเอิญได้พบกับ “ไมเคิล เทย์” ในห้องอาหารเช้าของโรงแรมที่พัก

ไมเคิล เทย์นั้นเป็นทายาทและผู้บริหารของ “The Hour Glass” ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายนาฬิกาหรูในสิงคโปร์ แม้ทั้งคู่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ด้วยประวัติครอบครัวและการศึกษาที่คล้ายกัน รวมถึงความหลงใหลในนาฬิกา วิสัยทัศน์ทางธุรกิจที่คิดเห็นไปในทางเดียวกัน ทำให้ในปี 2551 พวกเขาทั้งคู่ตกลงจัดตั้งบริษัทร่วมทุน “PMT The Hour Glass” ขึ้นเพื่อขยายธุรกิจในประเทศไทย

ณรัณ เล่าถึงการพบปะในครั้งนั้นว่าเป็นเหมือน “พรหมลิขิต” ที่ทำให้ PMT The Hour Glass เริ่มต้นก่อตั้งร้าน 2 สาขาแรกสำเร็จ

PMT The Hour Glass
“ไมเคิล เทย์” Group Managing Director, The Hour Glass และ “ณรัณ ธรรมาวรานุคุปต์” กรรมการผู้จัดการ PMT The Hour Glass

การเดินทางต่อเนื่องมา 15 ปี วันนี้ PMT The Hour Glass ขยายตัวครบ 15 สาขา แบ่งเป็น 10 สาขาในไทย และ 5 สาขาในเวียดนาม เติบโตจากทีมงาน 20 คน มาเป็น 250 คน และเป็นตัวแทนจำหน่ายแบรนด์นาฬิกาจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแบรนด์ใหญ่ เช่น Rolex, Patek Philippe, Hublot, Tudor และกลุ่มแบรนด์ช่างฝีมือระดับสูง (Artisanal Brand) เช่น F.P.Journe, MB&F, URWERK, Akrivia

นับได้ว่าบริษัทเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายนาฬิกาหรูรายใหญ่ในไทย ทำรายได้รอบปีบัญชีล่าสุด 6,000 ล้านบาท

 

“Watch Nerd” สูตรความสำเร็จการจำหน่ายงานศิลป์บนข้อมือ

ณรัณมองว่าความสำเร็จของบริษัทเกิดจาก “แพสชัน” ของทีมงานทุกคนที่ต่างเป็น “Watch Nerd” ผู้ที่หลงใหลในรายละเอียดงานศิลป์ของนาฬิกา และใช้แพสชันนี้เป็นจุดตั้งต้นในการเผยแพร่ “วัฒนธรรมนาฬิกา” ให้กับสังคมผ่านการจัดงานอีเวนต์ ประชาสัมพันธ์ ทำการตลาดให้ความรู้เกี่ยวกับนาฬิกามาตลอด 15 ปี จนตลาดไทยปัจจุบันเรียกได้ว่ามีนักสะสมที่มีความรู้สูงเป็นจำนวนมาก อาจจะเป็นรองเพียงแค่สิงคโปร์เท่านั้นในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

PMT The Hour Glass
HUBLOT Spirit of Big Bang Tourbillon 5-Day Power Reserve Carbon Green Camo ผลิตเพียง 30 เรือน ฉลองครบรอบ 15 ปี PMT The Hour Glass ราคา 3.6 ล้านบาท

อีกผลลัพธ์หนึ่งที่ได้จากการเป็น Watch Nerd คือ ความใส่ใจในรายละเอียดของการออกแบบ การผลิต ทีมงานเบื้องหลังนาฬิการะดับสูง ทำให้ PMT The Hour Glass เล็งเห็นได้ว่าแบรนด์นาฬิกาใดที่มีศักยภาพในอนาคต กำลังจะเป็น ‘Potential Winner’ และมีมูลค่าสินค้าสูงขึ้น

“ลูกค้าเชื่อมั่นว่าเรามีศักยภาพในการคัดเลือกเหล่าผู้ชนะเข้ามาและสร้าง value ให้เขาได้ในระยะยาว” ณรัณกล่าว

ลูกค้าเชื่อมั่นว่าเรามีศักยภาพในการคัดเลือกเหล่าผู้ชนะเข้ามาและสร้าง value ให้เขาได้ในระยะยาว

เขายกตัวอย่างแบรนด์ Hublot ที่บริษัทเป็นผู้ริเริ่มนำเข้ามาเมื่อ 15 ปีก่อนพร้อมๆ กับการก่อตั้ง PMT The Hour Glass ในวันนั้นแบรนด์ Hublot ยังเป็นแบรนด์ระดับกลางและไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่บริษัทเล็งเห็นศักยภาพของแบรนด์ว่ากำลังจะเติบโต ซึ่งวันนี้ Hublot เติบโตได้จริง โดยขึ้นมาเป็นนาฬิกาไฮเอนด์ในระดับ Top 20 ของโลก และเป็นนาฬิกาชั้นนำที่ขายดีอันดับ 5 ในไทย

ประเด็นนี้ทำให้พาร์ทเนอร์แบรนด์ผู้ผลิตนาฬิกาเองก็พึงพอใจใน PMT The Hour Glass เช่นกัน เพราะบริษัทไม่เพียงแต่นำเข้ามาจัดจำหน่าย แต่ยังช่วยสร้างแบรนด์ของผู้ผลิตให้แข็งแรงในตลาดไทยด้วย

 

ครบรอบ 15 ปี ก้าวสู่ 20 สาขา

การเติบโตของ PMT The Hour Glass จะมีการขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้ โดยเตรียมจะเปิดเพิ่มอีก 5 สาขา แบ่งเป็น 2 สาขาในไทย และ 3 สาขาในเวียดนาม

ในไทยจะมีไฮไลต์คือการเปิดบูติกของ “F.P.Journe” ถือเป็นบูติกแห่งแรกของแบรนด์นี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นการเปิดบูติกให้กับแบรนด์นาฬิกาในกลุ่มช่างฝีมือระดับสูง (Artisanl Brand) ครั้งแรกของบริษัทด้วยเช่นกัน

F.P.Journe นาฬิกากลุ่ม Artisanal Brand ที่จะเปิดบูติกในไทยปีนี้

ณรัณกล่าวว่า นาฬิกาเซ็กเมนต์ Artisanl Brand นั้นได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในระดับโลกและในไทย ด้วยเทรนด์ของนักสะสมมีความรู้และใส่ใจในงานศิลปะ กลไก ความละเอียดประณีตบนนาฬิกาสูงขึ้น ทำให้นิยมศึกษางานจากช่างฝีมือในเซ็กเมนต์นี้ซึ่งถือเป็นสินค้าที่มีจำกัดมาก บางแบรนด์อาจผลิตได้เพียงหลักสิบหรือหลักร้อยชิ้นต่อปีเท่านั้น

ส่วนในเวียดนามนั้น ไฮไลต์จะเป็นการเปิดบูติก “Rolex” เป็นแห่งแรกของเวียดนาม และจะเร่งผลักดันตลาดเวียดนามซึ่งมีศักยภาพสูงต่อเนื่อง

“เวียดนามนั้นเป็นตลาดใหม่คล้ายกับประเทศไทยเมื่อ 15 ปีก่อนที่ยังต้องส่งเสริมเรื่องวัฒนธรรมนาฬิกาและให้ความรู้” ณรัณกล่าว “แต่เวียดนามมีศักยภาพมากเพราะประเทศกำลังเติบโต นักสะสมยังมีอายุเฉลี่ยที่ 30 ปี และลักษณะประเทศมีหลายหัวเมือง ทำให้เรามีโอกาสขยายสาขามาก”

 

ดีมานด์พุ่งสูง แต่ซัพพลายเร่งไม่ได้

ในแง่ความต้องการในตลาด ณรัณอ้างอิงข้อมูลจากกรมศุลกากรพบว่า การนำเข้านาฬิกาแบรนด์ชั้นนำของไทยเมื่อปี 2565 นั้นมีมูลค่าสูงถึง 12,955 ล้านบาท ตัวเลขนี้เติบโตขึ้นถึง 36% เมื่อเทียบกับปี 2562 (ก่อนเกิดโรคระบาด) ซึ่งมีการนำเข้านาฬิกาหรูมูลค่ารวม 9,550 ล้านบาท

Girard-Perregaux Laureato Chronograph 42mm รุ่นจำนวนจำกัด 50 เรือน ฉลองครบรอบ 15 ปี PMT The Hour Glass ราคา 2.408 ล้านบาท

ณรัณคาดว่า ตลาดที่โตสูงมากหลังผ่านโควิด-19 เป็นเพราะในช่วงเกิดโรคระบาดทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยน เริ่มมีเวลาว่างในการศึกษาหางานอดิเรกใหม่ๆ ที่ทำได้ที่บ้าน ซึ่งส่วนหนึ่งเลือกหันมาศึกษากลไกและงานศิลปะของนาฬิกาไฮเอนด์ จนเกิดนักสะสมหน้าใหม่เพิ่มขึ้น

สำหรับปี 2566 ณรัณคาดว่าตลาดนาฬิกาหรูก็ยังจะเติบโตต่ออีก 10-15% ด้วยดีมานด์ที่ยังร้อนแรง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญคือฝั่งซัพพลายที่ไม่สามารถเร่งตามดีมานด์ได้ เนื่องจากการผลิตนาฬิกาไฮเอนด์จะใช้ช่างฝีมือ ไม่ได้ใช้เครื่องจักรกลหรือใช้น้อย และช่างฝีมือเหล่านี้ต้องใช้เวลาฝึกฝนนานนับสิบปี ทำให้ไม่สามารถจะเร่งซัพพลายได้ตามต้องการ

“ช่วงก่อนโควิด-19 เรามีดีมานด์จากลูกค้ามากกว่าโควตานำเข้านาฬิกาจากแบรนด์ประมาณ 3 เท่า ปัจจุบันตัวเลขนี้พุ่งขึ้นมาเป็น 9 เท่า” ณรัณกล่าว

ทางออกที่บริษัทนำเข้าจะสามารถทำได้คือการเจรจาการจัดสรรโควตานำเข้าเพิ่มเติมจากแบรนด์ จะทำได้หรือไม่นั้น ต้องย้อนกลับไปที่ความเชื่อมั่นของแบรนด์ที่มีต่อบริษัทและตลาดประเทศไทย รวมถึงสายสัมพันธ์อันดีระหว่างแบรนด์กับบริษัท ซึ่งทาง PMT The Hour Glass เองมีความเชื่อมั่นว่า “แพสชัน” ของบริษัทที่ดำเนินมาตลอด 15 ปีจะทำให้พาร์ทเนอร์ไว้วางใจได้