หลายคนอาจไม่รู้ว่า อินเดีย ถือเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ โดยคิดเป็นกว่า 40% ของการค้าข้าวทั่วโลก โดยล่าสุด อินเดียได้สั่ง ห้ามส่งออกข้าวขาว เนื่องจากรัฐบาลต้องการที่จะควบคุมไม่ให้ราคาข้าวในประเทศพุ่งสูงเกินไป แต่แน่นอนว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก
อินเดีย ห้ามส่งออกข้าวขาว ที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ โดยมีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา เนื่องจากกระทรวงกิจการผู้บริโภค ต้องการจะรับประกันว่า อินเดียจะมีข้าวขาวเพียงพอ ให้กับประชาชน รวมถึงเป็นการบรรเทาการเพิ่มขึ้นของราคาข้าวในตลาดภายในประเทศ
นักวิเคราะห์ มองว่า คำสั่งห้ามอาจส่งผลให้ ราคาข้าวสูงขึ้นไปอีก เหมือนกับที่อินเดียเคยสั่งห้ามส่งออกข้าวในเดือนกันยายน 2022 ที่ผ่านมา โดยในปัจจุบันอินเดียถือเป็นผู้ส่งออกข้าวชั้นนำของโลกซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ของการค้าข้าวทั่วโลก และเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับสองรองจากจีน
“ความต้องการข้าวทั่วโลกจะตึงตัวอย่างมาก เนื่องจากประเทศอินเดียเป็นผู้ผลิตอาหารหลักอันดับสองของโลก นอกเหนือจากการลดลงของอุปทานข้าวทั่วโลกแล้ว ปฏิกิริยาตื่นตระหนกและการเก็งกำไรในตลาดข้าวทั่วโลกจะทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น” อีฟ แบร์ นักเศรษฐศาสตร์อาเซียนจากบริษัทประกันสินเชื่อการค้า Coface กล่าว
สำหรับประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ บังกลาเทศและเนปาล เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกอันดับต้น ๆ ของอินเดีย นอกจากนี้ การห้ามส่งออกข้าวครั้งนี้จะยิ่งทำให้ความต้องการด้านอาหาร ทวีความไม่มั่นคง เพราะหลายประเทศบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก
“จุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับข้าวอินเดีย ได้แก่ บังกลาเทศ จีน เบนิน เนปาล รวมไปถึงประเทศในแอฟริกา”
อย่างไรก็ตาม จากการระงับการส่งออกข้าวของอินเดีย ประเทศไทย และ เวียดนาม อาจเป็นหนึ่งในตัวเลือกใหม่ของผู้นำเข้าที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งอาจหันไปหาซัพพลายเออร์ทางเลือกอื่นในภูมิภาคแทนอินเดีย ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงกิจการผู้บริโภค ข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติคิดเป็นประมาณ 25% ของการส่งออกข้าวของอินเดีย
ในสัปดาห์นี้ ราคาข้าวที่ส่งออกจากเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากอินเดียและไทย พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่าทศวรรษ โดยข้าวหัก 5% ของเวียดนามเสนอขายอยู่ที่ 515-525 เหรียญสหรัฐ (ราว 17,510-17,850 บาท) ต่อตัน ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2011 ข้าวนึ่งหัก 5% ของอินเดียอยู่ใกล้จุดสูงสุดในรอบ 5 ปีที่อยู่ที่ 421-428 เหรียญสหรัฐ (ราว 14,314-14,552 บาท) ต่อตัน
ปัจจุบัน ประเทศในเอเชียใต้กำลังต่อสู้กับราคาผักผลไม้และธัญพืชที่สูง ราคามะเขือเทศในอินเดียพุ่งขึ้นมากกว่า 300% ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย การสำรวจของรอยเตอร์คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศน่าจะแตะ 4.58% เมื่อเทียบเป็นรายปีจากราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น