ภาพรวมจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าญี่ปุ่น 8 เดือนแรกยังคงเติบโตแรงต่อเนื่อง ด้วยจำนวนกว่า 24,007,900 คน เพิ่มขึ้น 58% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเติบโต 8.4% แซงช่วงเดียวกันของปีก่อนโควิดระบาดอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวที่มากขนาดนี้ แปลว่าการใช้ทรัพยากรในประเทศก็สูงตามไปด้วย โดยเฉพาะการบริโภค ข้าวญี่ปุ่น ซึ่งตอนนี้ญี่ปุ่นกําลังเผชิญกับการ ขาดแคลนครั้งใหญ่ที่สุดในช่วง 20 ปี เนื่องจากสภาพอากาศเลวร้ายทำให้ผลผลิตลดลง สวนทางกับความต้องการที่มาจากทั้งคนในประเทศและนักท่องเที่ยว
ตามข้อมูลจากกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และการประมง รายงานว่า ข้าวในคลังของบริษัทเอกชนในเดือนมิถุนายนมีปริมาณอยู่ที่ 1.56 ล้านตัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบหลายปี ขณะที่ราคาของข้าวในช่วงสิงหาคมที่ผ่านมาได้แตะ 16,133 เยนต่อ 60 กก. เพิ่มขึ้น +3% จากเดือนก่อนหน้าและสูงขึ้น +5% ตั้งแต่ต้นปี
“ตลอดฤดูร้อนปี 2024 ญี่ปุ่นกําลังต่อสู้กับการขาดแคลนข้าว ส่งผลให้ข้าวในซูเปอร์มาร์เก็ตขายหมดเกลี้ยง เนื่องจากความต้องการแซงหน้าการผลิตในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และปีนี้ถือว่าต่ำสุดในรอบกว่า 20 ปี”
Oscar Tjakra นักวิเคราะห์อาวุโสของธนาคารอาหารและการเกษตรระดับโลก Rabobank คาดการณ์ว่า การบริโภคข้าวของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 19,000 ตันระหว่างเดือนกรกฎาคม 2022 ถึงมิถุนายน 2023 เป็น 51,000 ตัน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2023 ถึงมิถุนายน 2024 หรือ เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า แต่ก็ถือว่าน้อยกว่าการบริโภคของชาวญี่ปุ่นเอง ที่มีการบริโภคกว่า 7 ล้านต้น
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่การมาของนักท่องเที่ยว แต่ประชาชนชาวญี่ปุ่นเองก็ต้อง กักตุนข้าว เพิ่มเพื่อเตรียมพร้อมรับมือฤดูไต้ฝุ่นของญี่ปุ่นและแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ โดยปัจจุบันซูเปอร์มาร์เก็ตของญี่ปุ่นต้อง จํากัดการซื้อ เพียงหนึ่งถุงต่อคนเท่านั้น
อีกปัญหาที่อาจจะส่งผลต่อการผลิตข้าวในระยะยาวก็คือ จำนวน เกษตรกรผู้ปลูกข้าวน้อยลง เนื่องจากเกษตรกรเริ่มเกษียณอายุ ขณะที่คนหนุ่มสาวหันมาทำการเกษตรน้อยลง นอกจากนี้ ภัยแล้งยังส่งผลต่อผลผลิตอีกด้วย ปัจจุบันญี่ ปุ่นกําหนดภาษี 778% สําหรับข้าวนําเข้าเพื่อปกป้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าว และมีเพดานว่าจะ นําเข้าข้าว 682,000 ตันต่อปี เท่านั้น
และจากราคาข้าวที่สูงขึ้นทําให้อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นสูงขึ้นในเดือนสิงหาคม โดยเพิ่มขึ้น 2.8% เมื่อเทียบเป็นรายปีจากต้นทุนพลังงานและอาหารที่สูงขึ้น