“เวียดนาม” กลับมาสานต่อการเจรจากับ “SpaceX” ชวนลงทุนมูลค่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4.87 หมื่นล้านบาท) เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียม “Starlink”
สำนักข่าว Reuters รายงานข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า จากการพูดคุยเพื่อชักชวนการลงทุนของ SpaceX ใน “เวียดนาม” ที่เริ่มต้นขึ้นช่วงปลายปี 2023 และมีการหยุดชะงักการเจรจาไป
ล่าสุดรัฐบาลเวียดนามเริ่มกลับมาพูดคุยกับบริษัทของ “อีลอน มัสก์” อีกครั้ง หลังจาก “โต เลิม” ประธานาธิบดีเวียดนาม มีโอกาสได้พบปะกับ “ทิม ฮิวจส์” รองประธานอาวุโสด้านรัฐกิจสัมพันธ์และธุรกิจสากลของบริษัท SpaceX ที่นิวยอร์ก
ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามยังไม่ได้เปิดเผยว่า SpaceX สนใจจะลงทุนในภูมิภาคหรือจังหวัดใดของเวียดนาม หรือมีกำหนดการชัดเจนว่าจะตกลงในรายละเอียดกันเมื่อไหร่ รวมถึงทั้ง SpaceX และ กระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม ยังไม่ให้ความเห็นตอบกลับทางสำนักข่าวอย่างเป็นทางการ
ความน่าสนใจของตลาดเวียดนามต่อ SpaceX คือ จำนวนประชากรที่เติบโตทะลุ 100 ล้านคน และชาวเวียดนามเป็นผู้ใช้งานโปรดักส์ของบริษัทเทคอเมริกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Meta หรือ Alphabet แต่ด้วยภูมิศาสตร์ของเวียดนามเป็นแนวยาวและมีภูเขากั้น อีกทั้งอุปกรณ์ไฟเบอร์ออพติกที่ใช้อยู่ขณะนี้ค่อนข้างจะเก่า จนทำให้เกิดปัญหาการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอยู่บ่อยครั้ง
นั่นทำให้การให้บริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียม Starlink ของบริษัทน่าจะเข้ามาตอบโจทย์ในส่วนนี้ได้ รวมถึงจะเป็นประโยชน์กับรัฐบาลเวียดนามในการสอดส่องดูแลชายฝั่งทะเลจีนใต้ตามเขตชายแดนทางทะเลของตนได้ดีขึ้นด้วย
- Elon Musk เยือนอินโดนีเซีย เปิดตัว ‘Starlink’ เป็นประเทศที่ 3 ในอาเซียน เน้นบริการไปยังพื้นที่ห่างไกล
- ซัมซุง ทุ่มงบลงทุนเพิ่มอีก 1.8 พันล้านดอลลาร์ ตั้งโรงงานผลิตจอ OLED แห่งใหม่ ในภาคเหนือของเวียดนาม
ขณะที่ปัญหาที่ทำให้การเจรจาซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปลายปีก่อนต้องหยุดชะงักไป เป็นเพราะกฎหมายของเวียดนามไม่อนุญาตให้บริษัทหรือบุคคลต่างชาติถือหุ้นในบริษัทในเวียดนามเกินกึ่งหนึ่ง แต่ SpaceX ต้องการจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทที่จะตั้งในเวียดนามเพื่อมีสิทธิควบคุมบริษัทได้
ขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าปัญหาดังกล่าวได้คลี่คลายไปหรือยัง และหากคลี่คลายแล้วจะเป็นไปในทิศทางใด
นอกจากเรื่องกฎหมายการถือหุ้นของต่างชาติแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่รัฐบาลเวียดนามเรียกร้องคือ ดาต้าของบริษัท SpaceX จะต้องเก็บรักษาไว้ในประเทศ และจะต้องมีการควบคุมเข้มงวดว่าอะไรที่สามารถเผยแพร่ออนไลน์ได้บ้าง