‘Grab’ เริ่มทดลองฟีเจอร์ “ทานที่ร้าน” รับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น

ภาพจาก Shutterstock
เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ที่ไม่ได้ร้านแรงเหมือนช่วง 3 ปีที่แล้ว บริการ ฟู้ดเดลิเวอรี่ เลยไม่ได้เติบโตอย่างร้อนแรงเหมือนช่วงที่คนออกจากบ้านไปทานอาหารที่ร้านไม่ได้ ดังนั้น แกร็บ (Grab) และ ฟู้ดแพนด้า (Foodpanda) เลยเพิ่มบริการ ทานที่ร้าน ในรูปแบบการซื้อคูปองผ่านแพลตฟอร์ม

Grab กำลังทดสอบฟีเจอร์ การรับประทานที่ร้าน ในสิงคโปร์ ไทย และอินโดนีเซีย รวมทั้งหมด 15 เมือง โดยให้ผู้ใช้ซื้อเป็น คูปอง หรือ บัตรกำนัล สำหรับรับประทานที่ร้านล่วงหน้า โดยจะมี ส่วนลดสูงสุดถึง 50% ซึ่ง Grab มีแผนจะเปิดตัวฟีเจอร์ดังกล่าวนี้ในอีก 3 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

Tay Chuen Jein หัวหน้าฝ่ายจัดส่งของ Grab ในสิงคโปร์ กล่าวว่า ฟีเจอร์บริการนั่งทานในร้านของ GrabFood “ทำให้การรับประทานอาหารนอกบ้านมีราคาที่ย่อมเยามากขึ้น” เนื่องจากแพลตฟอร์มได้เสนอส่วนลดให้กับลูกค้า สำหรับ Grab เองก็จะได้ค่า คอมมิชชั่น จากการขายคูปองทานอาหารแต่ละครั้ง

โดย Jonathan Woo นักวิเคราะห์อาวุโสของ Phillip Securities Research กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารนอกบ้านเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมองหาข้อเสนอเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในทุกที่ที่ทำได้ และแทบไม่มีความรู้สึกใดที่ดีไปกว่าการได้รับประทานอาหารดี ๆ ในราคาประหยัด

อย่างไรก็ตาม Grab ไม่ใช่ผู้เล่นรายแรกในตลาดที่ทำ แต่ Foodpanda ถือเป็นรายแรก โดยเปิดฟีเจอร์การรับประทานในร้านในปี 2021 โดยปัจจุบัน Foodpanda มีบริการทานที่ร้าน ในสิงคโปร์ ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ฮ่องกง ปากีสถาน และบังกลาเทศ มีร้านอาหารที่ร่วมกับแพลตฟอร์มกว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศเหล่านี้ และมีส่วนลดในการรับประทานอาหารตั้งแต่ 15% ถึง 25%

Jakob Sebastian Angele ซีอีโอประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Foodpanda กล่าวว่า บริษัทมองเห็น ศักยภาพมหาศาลในการรับประทานที่ร้าน อย่างไรก็ตาม รายได้จากบริการฟู้ดเดลิเวอรี่จัดส่งอาหารยังคงเป็นธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของ Foodpanda รองลงมาคือ การจัดส่งของชำ

ทั้งนี้ จากรายงานโดย Benchmark ที่เผยแพร่เมื่อเดือนเมษายนระบุว่า การจัดส่งอาหารมีการเติบโตอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยมีการเติบโตถึง 50% ต่อปี แต่ในปัจจุบัน บริการส่งอาหารยังมีการเติบโตอยู่แต่ไม่สูงเหมือนช่วง 3 ปีก่อน เนื่องจากผู้บริโภคกลับมาใช้กิจวัตรประจำวันตามปกติและออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านบ่อยขึ้น

“ด้วยสิ่งจูงใจที่ลดลง เนื่องจากแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ให้ความสำคัญกับการเก็บรักษาเงินสด อาจส่งผลให้ผู้บริโภคสั่งอาหารน้อยลง และร้านค้ามีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปเน้นการดึงดูดลูกค้าหน้าร้านมากขึ้น ซึ่งอาจชะลอการเติบโตของปริมาณการสั่งซื้ออาหารเดลิเวอรี่ในระยะสั้น”

Source