แบงก์ชาติเร่งผลักดันใช้เงินหยวน ริงกิต รูเปียห์ ในการทำธุรกิจ เพื่อลดความผันผวนของค่าเงินบาท

ภาพจาก Shutterstock
ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยใช้สกุลเงิน หยวน ริงกิต รูเปียห์ หรือสกุลเงินอื่นในทวีปเอเชียในการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะลดความผันผวนของค่าเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐ

สำนักข่าว Bloomberg ได้สัมภาษณ์พิเศษ อลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยแผนการล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทยคือต้องการที่จะลดความผันผวนของค่าเงินบาท ซึ่งมาตรการที่จะผลักดันคือการใช้สกุลเงินต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการไทย

สกุลเงินที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะผลักดันก็คือ เงินหยวนของจีน และริงกิตมาเลเซีย รูเปียห์ของอินโดนีเซีย รวมถึงสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ ซึ่งทางฝ่ายไทยกำลังดำเนินการพูดคุยกับธนาคารกลางจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย เพื่อที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่จะทำให้สามารถรับชำระเงินสกุลดังกล่าวได้

ข้อมูลในปี 2022 ที่ผ่านมา สกุลเงินต่างประเทศที่ใช้ในการค้ามากสุดคือดอลลาร์สหรัฐ 79.6% ขณะที่สกุลเงินอื่นๆ นั้นแทบไม่ถึง 5% ด้วยซ้ำ จึงเป็นอีกเหตุผลทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการผลักดัน

มาตรการที่จะผลักดันของธนาคารแห่งประเทศไทยหลังจากนี้ไม่ว่าจะเป็น

  • หารือกับธนาคารกลางจีนเพื่อผ่อนปรนกฎการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและเพิ่มสภาพคล่องเงินหยวน
  • เรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยลดต้นทุนการทำธุรกรรมเงินหยวน
  • จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ผู้ประกอบธุรกิจรู้จักการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้ารวมถึงการลงทุน
  • ขยายวงเงินการทำธุรกรรมท่ีไม่ต้องแสดงเอกสาร สำหรับสกุลเงินริงกิตมาเลเซีย รูเปียห์ของอินโดนีเซีย

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องผลักดันมาตรการดังกล่าวออกมาคือความผันผวนของค่าเงินบาทไทยถือว่าติดอันดับต้นๆ ของภูมิภาคนี้ ซึ่งปัจจัยทางเศรษฐกิจของไทยนั้นทำให้ค่าเงินผันผวน ไม่ว่าจะเป็นดุลบัญชีเดินสะพัด นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ หรือแม้แต่ในไทย รวมถึงปัจจัยทางการเมืองของไทยด้วยในช่วงที่ผ่านมา

มาตรการดังกล่าวของธนาคารแห่งประเทศไทยได้พยายามผลักดันมาตั้งแต่ปี 2011 แต่ประสบปัญหาไม่ว่าจะเป็นสภาพคล่องของสกุลเงินท้องถิ่น ค่าทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงที่สูง และยังรวมถึงหลายฝ่ายไม่ทราบว่าสามารถใช้สกุลเงินต่างประเทศใช้จ่ายได้

ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ต้องการให้เงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด และตามปัจจัยพื้นฐาน และธนาคารแห่งประเทศไทยจะแทรกแซงค่าเงินบาทต่อเมื่อมีการเคลื่อนไหวที่มากเกินไป หรือความเคลื่อนไหวที่ขัดกับปัจจัยพื้นฐาน แต่วิธีที่ดีที่สุดของภาคธุรกิจคือเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวน