เศรษฐกิจจีนล่าสุดกำลังเกิดปัญหาสภาวะเงินฝืด เมื่อจีนรายงานตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคมล่าสุดนั้นตัวเลขอยู่ในแดนติดลบ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล แม้ว่าตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาจะเติบโตสูงถึง 6.3% ก็ตาม
ภาคผู้บริโภคของจีนตกอยู่ในภาวะเงินฝืดแล้ว หลังจากที่ล่าสุดจีนได้รายงานตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ -0.3% เมื่อเทียบกับปี 2022 ที่ผ่านมา รายงานตัวเลขเงินเฟ้อของจีนตามมาหลังจากที่จีนได้รายงานตัวเลขการส่งออกนำเข้าของเดือนกรกฎาคมซึ่งอ่อนแอกว่าที่คาดไว้อีกด้วย
ตัวเลขเงินเฟ้อที่เข้าสู่แดนติดลบของจีนถือว่าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 ที่ผ่านมาด้วย
ตัวเลขทางเศรษฐกิจดังกล่าวของจีนถือว่าเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก หลังจากที่แดนมังกรได้รายงานการเติบโตของ GDP ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาซึ่งเติบโตถึง 6.3% ก็ตาม ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าเศรษฐกิจจีนอาจหมดแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจแล้วด้วยซ้ำ
แม้ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นภาคการบริโภค ไม่ว่าจะเป็นสนับสนุนให้ประชาชนซื้อรถยนต์ไฟฟ้า หรือแม้แต่การซื้อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อที่จะกระตุ้นภาคการผลิตและการบริโภคไปในตัว แต่จีนยังไม่ได้ออกมาตรการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคมากนัก
#China #deflation pic.twitter.com/qpL2fWLd7e
— Global Markets Forum (@ReutersGMF) August 9, 2023
บทวิเคราะห์ของ Bank of America และ Credit Suisse มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นจะทำให้รัฐบาลจีน รวมถึงธนาคารกลางจีนจะต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา
ขณะที่บทวิเคราะห์ของ BCA ได้ชี้ว่าเศรษฐกิจจีนได้ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะมีขนาดใหญ่สุดของโลกก็ตาม ซึ่งในอดีตการชะลอตัวของเศรษฐกิจแต่ละประเทศจะมีอีกประเทศมาทดแทนเสมอ เช่น ญี่ปุ่นชะลอตัวในช่วงปี 1990 ก็มีจีนมาแทนที่เป็นต้น
ขณะเดียวกันการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่คาดว่า GDP จะเติบโตหลังจากนี้ราวๆ 4% กว่าๆ นั้นยังไม่มีประเทศใดมาทดแทนจีนได้ BCA ชี้ว่าแม้เศรษฐกิจอินเดียกำลังเติบโตก็ตาม แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจโลกโตทดแทนเศรษฐกิจจีนได้ในช่วงเวลานี้ นอกจากนี้ในบทวิเคราะห์ดังกล่าวยังชี้ว่าการชะลอตัวของจีนอาจส่งผลกระทบต่อสินค้าโภคภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ไปจนถึงสินค้าเกษตรได้
ที่มา – BBC, CBS News, บทวิเคราะห์จาก BCA, Bank of America, Credit Suisse